เนตติวิภาวินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนตติวิภาวินี เป็นคำอธิบายคัมภีร์เนตติปกรณ์ แต่งในยุคหลังของวรรณคดีบาลี กล่าวคือแต่งขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่างจากยุคต้นของวรรณคดีบาลี ซึ่งคัมภีร์ส่วนใหญ่แต่งขึ้นในลังกาหรืออินเดียใต้ โดยในการสังคายนาครั้งที่ 6 ที่ประเทศพม่า ได้มีการจัดหมวดคัมภีร์เนตติวิภาวินีไว้ในกลุ่มคัมภีร์หมวดขุททกนิกาย เป็นส่วนขยายของคัมภีร์เนติปกรณ์ ซึ่งรจนาโดยพระมหากัจจายนะเถระ โดยคัมภีร์เนติปกรณ์ เองนั้นก็รจนาขึ้นเพื่อขยายความพระสุตันตปิฎก หมวดขุททกนิกายนั่นเอง [1]

ผู้แต่ง[แก้]

เนตติวิภาวินี เป็นผลงานของพระสัทธรรมปาละเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระมหาธรรมราชาของพม่า โดยพระเถระได้รับการอาราธนาจากอำมาตย์ผู้มีชื่อว่า อนัตสุติ ให้รจนาคัมภีร์ขึ้น [2] อย่างไรก็ตาม นามของพระเถระผู้รจนา มีการระบุต่าง ๆ กันออกไปตามที่ปรากฏในฉบับต่าง ๆ อาทิ พระสมันตะ บ้าง หรือ พระสัมพันธะปาล บ้าง [3]

คัมภีร์นี้ รจนาเสร็จสิ้นเมื่อยามอาทิตย์อุทัยของวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 จ.ศ. 426 ตรงกับปีพ.ศ. 2108 ในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาแห่งพม่า ซึ่งจากการตรวจพบว่า พระนามพระมหาธรรมราชานั้น เป็นพระนามอย่างเป็นทางการของของพระเจ้าบุเรงนอง (บะยิ่นเหน่าว์) ผู้ทรงครองราชย์ในระหว่างปีพ.ศ. 2094 – พ.ศ. 2124 โดยในจารึกที่ระฆัง ณ พระมาหเจดีย์ชเวซีโกนระบุพระนามเต็มของพระองค์ไว้ว่า "ศรีปรมะ มหาธัมมะราช" [4]

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของเนตติวิภาวินีเริ่มต้นด้วยปณามคาถาแสดงการบูชานอบน้อมพระรัตนตรัย และระบุถึงเจตนารมณ์ที่รจนาคัมภีร์ฉบับนี้ว่า เพื่อเกื้อกูลคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นเป็นการบรรยายความเพื่อให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมคัมภีร์เนติปกรณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในลักษณะเดียวกับอรรถกถาเนติปกรณ์ และจบท้ายด้วยนิคมคาถา [5]

ต่อไปนี้ เป็นปณามคาถาของเนตติวิภาวินี หรือ คันถะรัมภะกถา

ยะชิตัพพังยะชิตวานะ นะมิตัพพังนะมามะหัง

ยะชะนาทยานุภาเวนะ อันตะราเยชหังสะทา


เยนะ ยา ระจิตาเนตติ เยนะสาอนุโมทิตา

เยหิสังวัณณะนากะตา เตสานุภาวะนิสสิโต


กิญจิกิญจิสะริตวานะ ลีนาลีนานุสันธยาทิง

กะริสสัง ชินะสุตานัง หิตัง เนตติวิภาวะนัง


อัปปะเมยยะคุโณ มหาธัมมะราชะวหะโย ภะเว

อัจฉริโย อัพภุโต โย โพธิสัมภาระปูระโณ


นานารัฏฐิสสาริสสาโร เสฏโฐ สาสนะปัคคะโห

ปาสังสะราชะปาสังโส นะราจินเตยยะจินตะโก


จินติกะการะโก ราชา สิรัฏฐิมาละปาละโก

อะเชยยะเชยยะโก มหาเจตยาทิการะโก สะทา


อัสสามัจเจนะ พยัตเตนะ ชินะจักกะหิตัตถินา

อนันตะสุตินาเมนะ สักกัจจัง อภิยาจิโต


กามัง สังวัณณะนา กถา เถราสัพเภหิ คัมภีรา

คัมภีรัตตา ตุ ชานิตุง ชินะปุตเตหิ ทุกกะรา


ตัสมา ยาจิตานุรูเปนา กะริสสังสาทะรัง สุณะ

สิสสะสิกขะนะยานุคัง โยตตัง เนตติวิภาวินันติ

การแพร่หลายในประเทศไทย[แก้]

เนตติวิภาวินี ปรากฏอยู่ในประเทศไทยมาช้านาน ในรูปแบบของคัมภีร์ใบลานอักษรขอม แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ศึกษาพุทธศาสนาในประเทศให้ความสนใจมากนัก ตรงกันข้ามกับต่างประเทศ มีความใส่ใจศึกษารเนตติวิภาวินีพอควร มีการถอดเนื้อหาภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ และมีการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นทางการในการสังคายนาครั้งที่ 6 ที่ประเทศพม่า และในปีพ.ศ. 2525 ได้มีการปริวรรตคัมภีร์เนตติวิภาวินีเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก โดยมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นฯ (2525). หน้า 26 – 27
  2. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นฯ (2525). หน้า 28 – 29
  3. Theravada commentaries
  4. ดู Thaw Kaung, U (2010)
  5. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นฯ (2525). หน้า 29 – 30
  6. โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นฯ (2525). หน้า 26 – 27, 32

บรรณานุกรม[แก้]

  • โครงการปริวรรตอักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่น. (2525). "เนตติฎีกา และ เนตติวิภาวินี." กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ
  • Thaw Kaung, U (2010). Aspects of Myanmar History and Culture. Yangon: Gangaw Myaing.
  • Theravada commentaries ใน http://dhammawiki.com/index.php?title=Atthakatha

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

เนตติวิภาวินี ภาษาบาลีอักษรโรมัน