เทียนร่ำห้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทียนร่ำห้อง จัดอยู่ในหมวดเครื่องหอมไทยเป็นเทียนโบราณมีใช้แต่สมัยใดมิปรากฏชัด แต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 มีการรื้อฟื้นการทำเครื่องหอมครั้งใหญ่ ทำให้ตำหนักน้อยใหญ่ทดลองปรุงใช้และพัฒนาให้กลิ่นและรูปลักษณ์ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ประกอบกับน้ำหอมจากยุโรปหลั่งไหลเข้ามาในสยามและถูกใช้ในวังอย่างแพร่หลาย ดังตอนหนึ่งในหนังสือ A physician at the court of Siam เขียนโดย Malcolm Smith ผู้ซึ่งเคยเป็นหมอหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี บรรยายถึงการประทินโฉมของพระองค์ไว้ใน หน้า 78 ย่อหน้า 2-3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องหอม ทั้งน้ำทรงสรง แป้งร่ำ รวมทั้ง “เทียนหอม” แท่งเรียวยาว ใช้อบ ร่ำ ภูษา แพรพรรณ ซึ่งเทียนดั่งกล่าวถูกปรุงด้วยสมุนไพรกลิ่นหอม ร่วมทั้งน้ำหอมจากยุโรป

เทียนร่ำห้อง

จึงอาจเป็นไปได้ว่า “เทียนหอม” ดังกล่าวถูกพัฒนาต่อมาใช้เพื่อ อบ ร่ำ ห้อง แล้วขนานนานใหม่ว่า “เทียนร่ำห้อง” ใช้แต่ในฝ่ายใน โดยใช้จุดเอาควันอบห้องเจ้านายเพื่อไล่แมลง ปรับสภาพอากาศและสร้างความผ่อนคลาย ทำให้หลับสบาย

กลิ่นของเทียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนธูปหรือกำยาน และตัวควันยังระคายเคืองตาน้อยกว่าด้วย ถือเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนคนรุ่นก่อน

ด้วยเหตุที่ช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบายจึงมักนำไปใช้จุด เมื่อเจ้านายต้องเสด็จประทับต่างที่ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยเสมือนประทับอยู่ที่พระตำหนัก ทำให้คลายความกังวล ไม่แปลกที่แปลกทาง นอนหลับสบาย (เหมือนทารกที่ติดผ้าอ้อม หรือตุ๊กตา เมื่อได้สัมผัสหรือได้กลิ่นจะอุ่นใจ คลายกังวล และนอนหลับสบาย)

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า นางที่ต้องถวายตัวแก่เจ้านายสมัยก่อนนั้นจะต้องร่ำตัว ด้วยเทียนร่ำ หรือ กำยาน เพื่อฆ่าเชื้อ (ซึ่งอาจติดต่อทางผิวหนัง) โดยให้นางนั้นเปลื้องผ้า แล้วไปอยู่ในตู้ไม้หรือห้องแคบ ๆ แล้วร่ำก่อนที่จะประทินโฉมด้วยเครื่องหอมอื่น ๆ