สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฮวต ตาต)
สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี
(ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ)
สมเด็จพระสังฆราช ในคณะมหานิกาย
ดำรงพระยศค.ศ. 1970-1975
ก่อนหน้าสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ)
ถัดไปสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพ วงศ์)
สถิตวัดอุณาโลม
นิกายมหานิกาย
ประสูติค.ศ. 1892
จังหวัดกำปงสะปือ
สิ้นพระชนม์ค.ศ. 1975
จังหวัดกำปงสะปือ
พระชนกฮกเส็ง
พระชนนีแงต

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ (เขมร: សម្តេចព្រះមហាសុមេធាធិបតី ហួត តាត វជិរបញ្ញោ; อังกฤษ: Huot Tat; ค.ศ.1892–1975) อดีตเจ้าอาวาสวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ และอดีตสมเด็จพระสังฆราชในคณะมหานิกาย (ค.ศ.1969-1975) เป็นพระนักปราชญ์ที่มีความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา นิพนธ์หนังสือทางด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมาก และถือว่าเป็นพระสงฆ์ที่ทำงานร่วมกับสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) ในช่วงการปกครองของฝรั่งเศส มีบทบาทในการแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาเขมร มีส่วนร่วมในการร่วมเรียบเรียงพจนานุกรมภาษาเขมรที่ถูกสำคัญต่อประวัติศาสตร์ด้านอักษรศาสตร์เขมร ร่วมกับสมเด็จชวน ณาต และถูกใช้อยู่ในปัจจุบัน

ในระหว่างที่เขมรแดงเข้าปกครองประเทศด้วยระบบคอมมิวนิสต์ และมีนโยบายในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และมีแนวคิดในเรื่องการปราบปรามฝ่ายศาสนา มีหลักฐานว่าท่านถูกทหารเขมรแดงนำขึ้นรถไป และถูกสังหารในบริเวณจังหวัดกำปงสะปือ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือประวัติสังเขปพุทธศาสนาบัณฑิต กล่าวไว้ว่า "ในต้นปี 1975 พระองค์ได้ไปกับพระสงฆ์ทั้งมวล ไปยังเขตอุดงค์ จังหวัดกำปงสะปือ และคาดว่าพระองค์ได้มรณกรรมที่แห่งนี้" [1] ค.ศ.1979 เป็นช่วงเขมรแดงที่ปกครองภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้แนวคิด "ปฏิวัติ" เปลี่ยนแปลง ตามหลักฐานที่ปรากฏว่า "...โฆษกของรัฐบาลนี้ได้ประกาศอ้างว่า "ประวัติศาสตร์กว่าสองพันปีของกัมพูชา" ได้ยุติลงแล้ว รวมไปถึงการเงิน การตลาด การศึกษาอย่างเป็นทางการ พุทธศาสนา หนังสือ ทรัพย์สินส่วนบุคคล สไตล์การแต่งกายที่หลากหลายและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ไม่มีรัฐบาลใดได้เคยพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายเช่นนี้ และอย่างรวดเร็วเช่นนี้มาก่อน ไม่เคยมีใครมุ่งไปสู่อนาคตอย่างไม่ผ่อนปรน หรือมีอคติเข้าข้างคนยากจนขนาดนี้..." ภายใต้อุดมคติและแนวคิด "....สร้างลัทธิสังคมนิยมที่ไร้ต้นแบบ..." [2]

ประวัติ[แก้]

เกิดวันอาทิตย์ 15 ค่ำ ปีมะโรง จัตวาศก พ.ศ. 2435 ค.ศ. 1892 ในหมู่บ้านตลาดอุดงค์ (ភូមិ​ផ្សារ​ឧដុង្គ) จังหวัดกำปงสะปือ มีบิดานามว่า ฮกเส็ง (ហុក សេង) หรือเรียกกันว่า ฮวต (ហួត) มารดาชื่อว่า แงต (ង៉ែត) อายุ 7 ปี ฮวต ตาต ได้ไปศึกษาที่วัดในสำนักของพระธรรมโฆษาจารย์ เมียส (មាស) และบวชเป็นสามเณรในขณะอายุ 13 ปี และได้ศึกษาในสำนักของพระธรรมลิขิต โส (ស៊ូ)

ใน พ.ศ. 2456 / ค.ศ.1912 ในขณะที่มีอายุ 20 ปี สามเณรฮวต ตาต ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดอุณาโลม โดยมีสมเด็จพระมหาสังฆราช (เนิล เตียง) (​សម្តេច​ព្រះសង្ឃរាជ និល ទៀង) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชได้ 15 วันได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆวิชชา (ព្រះគ្រូ​សង្ឃ​វិជ្ជា) ฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชนิล เตียง พระอุปัชฌาย์

ค.ศ.1919 พระฮวต ตาต ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการเรียบเรียงพจนานุกรมเขมร (គណៈកម្មការ​រៀបចំ​វចនានុក្រម​ខ្មែរ) ใน ค.ศ.1945 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิบดีเถรสภา (ព្រះអធិបតី​ថេរ​សភា) คัมภีร์พระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก ที่แต่เดิมเป็นภาษาบาลี ได้รับการแปลเป็นภาษาเขมร โดยสมเด็จพระธรรมลิขิต (แก อุก) (សម្តេច កែ អ៊ុក) เป็นประธานในขณะนั้น โดยมีพระฮวต ตาต และพระชวน ณาต เป็นกำลังสำคัญ

ใน ค.ศ.1948 พระภิกษุ ฮวต ตาต ได้รับการแต่งตั้งเป็นจางวางโรงเรียนภาษาบาลีชั้นสูง และเป็นสมาชิกกลุ่มชุมนุมพระไตรปิฎก ใน ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492) ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศ์ (ព្រះ​ពោធិវ័ង្ស) ในขณะที่อายุได้ 75 ปี ใน ค.ศ.1955 ได้ดำรงตำแหน่งอัคคอธิการ ในพุทธิกศึกษาแห่งประเทศกัมพูชา (ពុទ្ធិក​សិក្សា​ក្នុង​ប្រទេស​កម្ពុជា) พร้อมได้รับการแต่งตั้งเป็นสากลอธิการ (សាកលវិទ្យាធិការ) ในพุทธิกมหาวิทยาลัย (ពុទ្ធិក​សកល​វិទ្យាល័យ) ในขณะเดียวกันท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระโพธิวงศ์ (សម្តេចព្រះ​ពោធិវ័ង្ស) ในปีมะโรง ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508) [3] ก่อนหน้านี้มีหลักฐานว่าท่านได้รับการแต่งตั้งในสมณศักดิ์ที่ พระวิสุทธิวงศ์ พระราชาคณะเกียรติยศ (ព្រះ​វិសុទ្ធិ​វង្ស រាជា​គណៈ​កិត្តិយស) พระศากยวงศ์ (ព្រះ​សក្យវង្ស) และพระมหาวิมลธรรม (ព្រះ​មហាវិមលធម្ម)

ในขณะที่สมเด็จพระสังฆราชชวน ณาต ได้มรณภาพลงในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1969 ขณะพระชันษา 86 ปี ที่วัดอุณาโลม และสมเด็จพระโพธิวงศ์ ฮวต ตาต พระชันษา 78 ปี ในปีระกา พ.ศ. 2513 ค.ศ.1970 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาสุเมธาธิบดี พระสังฆราชในคณะมหานิกาย

อ้างอิง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติสมเด็จพระสังฆราชฮวต ตาต (ภาษาเขมร)[ลิงก์เสีย]
  2. เดวิด แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำรามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์,2546) , หน้า 330.
  3. ព្រះរាជ​ជីវប្រវត្តិ សម្តេចព្រះសង្ឃរាជ หนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระสังฆราช [ภาษาเขมร]