อุทัยเทวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุทัยเทวี เป็นนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องหนึ่ง โดยตัวละครเอกของเรื่องนี้คือ นางอุทัยเทวี หญิงสาวชาวบ้านที่มีเชื้อชาติเป็นพญานาค ต่อมาได้อภิเษกกับ เจ้าชายสุทธราช โอรสกษัตริย์แห่งการพนคร โดยมีบันทึกในลักษณะกลอนสวด (ประพันธ์ด้วยกาพย์สุรางคนาค์ 28 - กาพย์ยานี 11) ซึ่งได้รับความนิยมมากในอดีต[1] แต่ในภายหลังก็มีการแต่งให้มีการเพิ่มเติมเนื้อเรื่องให้มีความวิจิตรพิศดารขึ้น เช่น การกลับชาติมาเกิด ฯลฯ เพื่อให้เหมาะกับการเล่าแบบนิทานชาดก

โครงเรื่อง[แก้]

กล่าวถึงท้าวนาคาเจ้าเมืองบาดาล มีพระธิดาชื่อนางสมุทรมาลา คราวหนึ่งนางเกิดความรุ่มร้อนจึงขออนุญาตพระบิดาขึ้นไปเที่ยวยังแดนมนุษย์ นางลักลอบได้เสียกับรุกขเทวดาจนตั้งครรภ์ เกรงว่าหากพระบิดาล่วงรู้ความ นางจะต้องได้รับโทษจึงสำรอกบุตรในครรภ์ออกมาเป็นไข่ ซ่อนไว้ริมฝั่งน้ำกับพระธำมรงค์ซึ่งมีอานุภาพเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ พร้อมกับผ้ารัตกัมพล แล้วนางก็กลับไปยังเมืองบาดาล

ยังมีคางคกตัวหนึ่งมาพบสิ่งของทั้งนั้นเข้าจึงกลืนกินเข้าไปทั้งไข่ พระธำมรงค์และผ้ารัตกัมพล พิษแห่งนาคทำให้คางคกถึงแก่ความตายเป็นคราบห่อหุ้มไข่ไว้ ครั้นครบกำหนดก็กำเนิดเป็นกุมารีอาศัยอยู่ในคราบคางคก ต่อมาสองตายายผู้ยากจนข้นแค้นมีอาชีพสุ่มปลาขายเลี้ยงชีพ วันหนึ่งขณะที่กำลังสุ่มปลาได้พบคางคกพูดภาษาคนได้ อ้อนวอนขอให้ตายายนำไปเลี้ยงแล้วจะแทนคุณในภายหน้า ตายายจึงนำมาเลี้ยงไว้ กุมารีในคราบคางคกมีความกตัญญูรู้คุณ ได้เนรมิตข้าวปลาอาหารไว้คอยท่าเมื่อทั้งสองไม่อยู่ ครั้นซุ่มดูก็ทราบว่าในคราบคางคกนั้นเป็นที่ซ่อนตัวของกุมารีรูปงาม เวลาผ่านไปจนนางมีอายุย่างเข้ารุ่นสาว วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ชาวบ้านทั้งหลายเตรียมไปฟังเทศน์ที่วัด นางจึงขอให้ตายายพานางไปฟังเทศน์ด้วย ทั้งสองจึงขอให้นางออกจากคราบคางคก พอดีได้เวลาตรงกับตอนเช้าวันอาทิตย์ นางจึงได้ชื่อว่า “อุทัย” หรือ “อุทัยเทวี” นางอุทัยได้เนรมิตหญิงงามจำนวนมากไว้เป็นข้ารับใช้แล้วพากันเดินทางไปฟังเทศน์ที่วัด

ท้าวการพกับนางกาวิน มีพระโอรสนามว่า เจ้าชายสุทธราชกุมาร อายุได้ ๑๖ ปี วันนั้นเจ้าชายสุทธราชกุมารไปฟังเทศน์ที่วัด ได้พบนางอุทัยเข้าก็หลงรัก จึงให้ทหารหลวงติดตามไปล้อมเรือนของสองตายายไว้ ฝ่ายนางอุทัยก็เข้าหลบอยู่ในคราบคางคกแล้วสอนให้ตายายบอกแก่ทหารหลวงว่า หากเจ้านายมีความประสงค์ที่จะได้นางอุทัยเป็นชายาก็ให้แต่งสะพานทอง มีห้องประดับด้วยทอง 150 ห้อง จากเมืองมาจนถึงเรือนที่นางพำนัก ท้าวการพได้ทรงทราบข้อเสนอเช่นนั้นก็ทรงพระพิโรธคิดจะฆ่าสองตายายแต่นางกาวินห้ามไว้แล้วยื่นข้อเสนอกลับให้ฝ่ายตายายสร้างปราสาททองไว้รอรับสะพานทอง หากไม่สำเร็จจะลงอาญาถึงชีวิต คืนนั้นนางอุทัยก็เนรมิตปราสาททองขึ้น ท้าวการพกับนางกาวินร้อนพระทัยนักที่ไม่สามารถสร้างสะพานทองไปยังปราสาทของนางอุทัยได้ ด้วยบุพเพสันนิวาสที่ทั้งสองเคยสร้างบุญร่วมกันไว้แต่ชาติปางก่อน ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาเนรมิตสะพานทองให้ นางอุทัยได้เข้าพิธีอภิเษกกับเจ้าชายสุทธราชกุมาร ทั้งสองครองรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

แต่เดิมมา เจ้าชายสุทธราชกุมาร ได้สู่ขอนางฉันทนา (บางฉบับเรียกว่า "นางฉันทา") พระธิดาของท้าวกัญจาเจ้าเมืองอุโลมนครไว้เป็นคู่หมั้น ครั้นนางมีอายุได้ 15 ปี ท้าวกัญจาจึงส่งราชทูตมาเตือนขันหมาก ทั้งยังประกาศว่าถ้าฝ่ายชายไม่มาอภิเษกตามสัญญาจะต้องทำสงครามกัน เจ้าชายสุทธราชกุมารจำต้องจากนางอุทัยไปทั้งที่รักนางอย่างสุดซึ้ง ก่อนที่จะออกเดินทางได้ให้ช่างหล่อรูปนางอุทัยด้วยทองคำ นำใส่หีบไปเชยชมต่างหน้าที่เมืองอุโลมนครด้วย นางฉันทนานั้นแม้ว่าจะอยู่ในวัยรุ่นสาวแต่เกศากับหงอกขาว หลังจากเข้าพิธีอภิเษกแล้ว เจ้าชายสุทธราชกุมารก็มิได้มีความเสน่หา เฝ้าแต่เชยชมรูปนางอุทัยอยู่ไม่สร่างจนนางฉันทนาสืบทราบจึงให้คนมาลักรูปทองไปทิ้งในแม่น้ำ ทำให้เจ้าชายสุทธราชกุมารไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง

อยู่มานางฉันทนาติดสินบนสองตายายนักโกหก มีสำเภายนต์ลอยไปได้ในอากาศให้ไปลวงนำตัวนางอุทัยมายังเมืองอุโลมนคร นางฉันทนาให้คนทำร้ายนางอุทัยจนถึงแก่ความตายแล้วนำไปทิ้งในแม่น้ำ นางอุทัยเป็นธิดาของนางนาค เมื่อจมลงในน้ำก็กลับฟื้นชีพขึ้นมา นางนั่งร้องไห้อยู่ที่ริมฝั่งน้ำกระทั่งมีแม่เฒ่าขายผักพายเรือผ่านมาพบนางเข้าก็นำไปอุปการะ นางอุทัยเมื่อหายจากอาการพาดเจ็บแล้วได้ช่วยแม่เฒ่าพายเรือขายผัก นางผูกใจเจ็บคิดจะล้างแค้นนางฉันทนาให้จงได้ จึงแปลงร่างเป็นหญิงชราแต่เส้นเกศายังดำขลับ พายเรือขายผักไปจนถึงหน้ารัง

นางฉันทนาเห็นเข้าจึงเรียกไปถามถึงสาเหตุที่หญิงชรายังมีผมดกดำ นางอุทัยแปลงลวงว่า ตนมีวิชาปลูกผมหงอกให้กลับดำได้ แต่ต้องทำพิธีในที่รโหฐานไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ ทั้งต้องทนเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสได้ นางเรียกค่าทำพิธีสูงถึง 105 ตำลึงทอง ซึ่งนางฉันทนาก็ไม่ขัดข้อง

ถึงวันกำหนดนัด ยายเฒ่านางอุทัยแปลงให้กั้นม่านมิดชิด จับนางฉันทนาโกนหัว เอาปลายมีดสับทั่วทั้งร่าง หมักด้วยปลาร้าเน่าแล้ว นำหม้อแกงมาครอบหัวไว้ เมื่อเสร็จการล้างแค้นนางก็จากไปพร้อมด้วยเงินรางวัล นางฉันทนาทนทุกข์ทรมานอยู่ไม่กี่วันก็ถึงแก่ความตาย ท้าวกัญจาให้สืบหาตัวแม่ค้าเฒ่าผมดำก็ไม่พบ จึงจัดการเผาศพพระธิดา ตามประเพณี ฝ่ายเจ้าชายสุทธราชเมื่อพบกับนางอุทัยจึงพากันเดินทางกลับบ้านเมือง และครองรักกันอย่างมีความสุข

ความแตกต่างของในอดีตกับปัจจุบัน[แก้]

ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องนางอุทัยกลอนสวดซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ ที่ใช้ในการตรวจชำระมี 2 สำนวน ซึ่งเป็นเอกสารหมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวดทั้ง 2 สำนวน เมื่อเปรียบเทียบเนื้อความแล้ว สันนิษฐานว่าสำนวนแรกน่าจะมีมาก่อน ส่วนสำนวนที่ 2 อาจจะเป็นฉบับที่มีการแต่งเติมเนื้อความเสริมขึ้นจากสำนวนแรก

เนื่องจากเอกสารต้นฉบับไม่มีข้อความระบุถึงผู้แต่งและสมัยที่แต่ง จึงยังไม่อาจสรุปเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้ แต่จากเนื้อหาบางตอนระบุได้ว่าเรื่องนางอุทัยกลอนสวดสำนวนนี้น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ได้แก่ ความตอนชมโฉมนางอุทัยที่กล่าวว่า นางอุทัยไว้ผมยาวประบ่า ตามความนิยมของสตรีสมัยอยุธยา ต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งสตรีนิยมตัดผมสั้น ดังบทที่ว่า

ผมเผ้าเฟื้อยเหนือบ่า	เนื้อนมหน้างามอุดม
อ้อนแอ้นอรเอวกลม	นวลละอองคือทองคำ

ซึ่งมีส่วนพ้องกับบทประพันธ์ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก บทพระนิพนธ์ของ พระมหาอุปราชเจ้าฟ้าธรรมธิเบศฯ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่มีส่วนพ้องกัน เช่น รูปแบบวงปี่พาทย์มโหรี, ขนบวัฒนธรรม เป็นต้น[2]

การดัดแปลงในสื่ออื่น[แก้]

ละครโทรทัศน์[แก้]

ปี ผู้สร้าง นักแสดงหลัก ออกอากาศช่อง
2532 บริษัท สามเศียร จำกัด ชาตรี พิณโณ, สินี หงส์มานพ, อำภา ภูษิต, เอกกวี ภักดีวงษ์ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
2545 บริษัท สามเศียร จำกัด รติพงษ์ ภู่มาลี, มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์, หนุ่ม มาวิน, บุษรา เบญจวัฒน์ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7
2560 บริษัท สามเศียร จำกัด สุรศักดิ์ สุวรรณวงษ์, วรัญภรณ์ ณ พัทลุง, อัญรส ปุณณโกศล,ณพบประสบลาภ, นรินทร์ พรพิทักษ์วงศ์, กชกร ส่งแสงเติม ช่อง 7HD

อ้างอิง[แก้]

  1. ข้อมูลหนังสือ นางอุทัยกลอนสวด จากเว็ปไซต์นามานุกรมวรรณคดีไทย
  2. อธิบายเรื่อง นางอุทัยกลอนสวด จากเว็บ ห้องสมุดวชิรญาณ