อับดุล มูวิซ
อับดุล มูวิซ (อินโดนีเซีย: Abdul Muis, Abdoel Moeis) เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอินโดนีเซียที่มีบทบาทมากในกลุ่มปัญญาชนชาตินิยมยุคแรกและเป็นผู้เขียนวรรณกรรมที่มีบทบาทอย่างมากในสังคมอินโดนีเซีย
ประวัติ
[แก้]มูวิซเกิดที่เมืองซูไงปูวาร์ในเกาะสุมาตราเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2429 บิดาเป็นชาวมีนังกาเบา มารดาเป็นชาวชวา เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนผู้ช่วยแพทย์ที่ปัตตาเวีย แต่ถูกบังคับให้ออกเนื่องจากสุขภาพไม่ดี หลังจากนั้นไปรับราชการเป็นเสมียนของเย.ฮา. อาเบนดาโนน แต่เมื่ออาเบนดาโนนเดินทางกลับไปเนเธอร์แลนด์ เขาก็ถูกปลดออกจากงานและไปยึดอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์
มูวิซเข้าร่วมเป็นสมาชิกของซาเรกัตอิซลัมซึ่งเป็นสมาคมที่เน้นการฟื้นฟูศาสนาอิสลามและส่งเสริมบทบาททางการเมืองของชาวอินโดนีเซีย เขาได้เป็นสมาชิกระดับผู้นำที่เรียกร้องให้รัฐบาลอาณานิคมให้สิทธิปกครองตนเองแก่ชาวพื้นเมืองมากขึ้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลอาณานิคมต้องการคนพื้นเมืองเข้าเป็นทหารมากขึ้น สมาคมซาเรกัตอิซลัมได้เรียกร้องว่าชาวอินโดนีเซียควรมีส่วนร่วมในการปกครองด้วย มูวิซมีบทบาทสำคัญในคณะผู้แทนที่ไปรณรงค์หาเสียงสนับสนุนในเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2459 จนในที่สุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยอมให้จัดตั้งสภาประชาชนขึ้นในอินโดนีเซียซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจให้คนพื้นเมือง
ในการเลือกตั้งสภาประชาชนครั้งแรก มูวิซในฐานะตัวแทนซาเรกัตอิซลัมได้รับเลือกด้วย แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง รัฐบาลเนเธอร์แลนด์กลับมาเข้มงวดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก เพื่อป้องกันแนวความคิดแบบบอลเชวิกแพร่หลายเข้ามาในอินโดนีเซีย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2462 มูวิซไปปราศรัยที่ซูลาเวซี หลังจากนั้นไม่นาน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในซูลาเวซีถูกฆ่าตาย ทำให้พรรคซาเรกัตอิซลัมถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังและมูวิซถูกจับ แต่ไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัว ต่อมา ใน พ.ศ. 2465 เขาร่วมมือกับตัน มาลากา ผู้นำกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์จัดให้สมาชิกสหภาพลูกจ้างโรงรับจำนำชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่รัฐบาลปราบปรามได้ ตันและมูวิซถูกจับ ทำให้มูวิซถูกกักกันอยู่ภายในเกาะชวาเท่านั้น
ตั้งแต่ พ.ศ. 2466 เกิดความแตกแยกภายในสมาคมซาเรกัตอิซลัมทำให้มูวิซถอนตัวออกจากพรรคและไปใช้ชีวิตอย่างสงบในสุมาตรา ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2469–2470 ที่มีการปราบปรามกลุ่มการเมืองต่าง ๆ อย่างจริงจัง มูวิซถูกจับตาและถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง ช่วงนี้เองที่เขาได้เขียนวรรณกรรมที่สำคัญออกมา เช่น ซาละฮ์อาซูฮัน (การอบรมที่ผิดพลาด) ซึ่งสะท้อนปัญหาการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและผลของการศึกษาแบบตะวันตกต่อสังคมชาวพื้นเมือง งานเขียนที่สำคัญชิ้นอื่นของเขาคือ เปอร์เตอมูวันโจโดะฮ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักข้ามชนชั้นของหนุ่มสาวชาวซุนดา ซูราปาตี เป็นเรื่องของวีรบุรุษชาวบาหลีที่ต่อต้านการปกครองของเนเธอร์แลนด์ และ โรเบิร์ต อานัก ซูราปาตี เป็นเรื่องราวการผจญภัยของโรเบิร์ต บุตรของซูราปาตี เขาถึงแก่กรรมเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2502
อ้างอิง
[แก้]- สุกัญญา บำรุงสุข. อับดุล มูอิส ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 20 - 22