อะกาเมมนอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้ากากทองคำที่เรียกว่า หน้ากากอะกาเมมนอน ไฮนริช ชลีมาน ค้นพบใน ค.ศ. 1876 ณ บริเวณที่ตั้งเมืองไมซีนี ปัจจุบันเชื่อว่าหน้ากากนี้เก่าแก่กว่าสงครามกรุงทรอยในตำนานถึงราว 300 ปี

อะกาเมมนอน (อังกฤษ: Agamemnon; กรีกโบราณ: Ἀγαμέμνων, Ἀgamémnōn) ตามเทพปกรณัมกรีก เป็นบุตรของกษัตริย์เอทริอัส และราชินิไอโรเปแห่งนครไมซีนี พระองค์มีพระอนุชาคือเมเนเลอัส มีพระมเหสีชื่อพระนางไคลเตมเนสตรา และมีราชบุตร/ราชธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ อิฟิจิไนอา (Iphigenia), อีเลคตรา (Electra), ออเรสตีส (Orestes) และ คริซอธีมิส[1] (Chrysothemis) ตำนานของกรีกถือว่าอากาเมมนอนเป็นกษัตริย์ปกครองนครไมซีนี หรืออาร์กอส ซึ่งอาจเป็นสถานที่เดียวกันแต่เรียกคนละชื่อ[2] พระองค์เป็นผู้บัญชาการใหญ่ของกองกำลังพันธมิตรฝ่ายกรีก ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกทัพไปกรุงทรอย หลังจากปารีสลักลอบพาพระนางเฮเลน มเหสีของเมเนเลอัสหนีไป

อะกาเมมนอนเป็นกษัตริย์นักรบที่ทะเยอะทะยาน เมื่อคราวยกทัพไปทรอยเกิดลมพายุใหญ่ขึ้น ทัพเรือกรีกไม่สามารถแล่นออกไปได้ พระองค์จึงปฏิบัติตามคำแนะนำของโหรเอกแคลคัส(เทสตอริดีส) โดยทรงสั่งให้บูชายันต์อิฟิจิไนอา พระธิดาของพระองค์เองแด่ทวยเทพ คลื่นลมจึงได้สงบ ฯ ต่อมาในระหว่างที่กำลังปิดล้อมกรุงทรอยอยู่เป็นปีที่สิบ ได้เกิดโรคระบาดใหญ่ที่ส่งมาโดยเทพอะพอลโล ด้วยเหตุที่อะกาเมมนอนไปลบหลู่ ไครซีส (Chryses) นักบวชของอะพอลโลโดยไม่ยอมคืนลูกสาวให้[3] อะคิลลีสนักรบคนสำคัญของกองทัพกรีกแนะนำให้เหล่าแม่ทัพกรีก (basileus) ยกทัพของตนกลับ ถ้ายังไม่อยากจะตายกันหมดอยู่ที่ชายหาดของทรอย อะกาเมมนอนจึงจำต้องคืนลูกสาวให้กับไครซีสเพื่อระงับพิโรธของอะพอลโล และใช้อำนาจริบเอาหญิงรับใช้ชาวทรอยที่อะคิลลีสได้เป็นรางวัลในการรบ มาเป็นของตนทดแทนลูกสาวของไครซีส ทำให้อะคิลลีสเสียใจและถอนตัว(ชั่วคราว)จากการสู้รบ เป็นผลให้นักรบกรีกล้มตายเป็นอันมาก

เมื่ออะกาเมมนอนยกทัพกลับมาจากกรุงทรอย พระองค์ถูกลอบสังหารโดยการร่วมมือกันระหว่าง พระนางไคลเตมเนสตรา และอีจีสธัส (Aegisthus) ชู้รักของพระมเหสี (เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการกล่าวถึงในหมากาพย์ โอดิสซีย์ ล.11:409-11) ในบางตำนานกล่าวว่าพระนางไคลเตมเนสตราเป็นผู้ลงมือสังหารพระสวามีด้วยตนเอง

พงศาวลีของอะกาเมมนอน[แก้]

Genealogy of Agamemnon

อ้างอิง[แก้]

  1. Homer, Iliad 9:145.
  2. Leeming, David (2005). Argos. Oxford Companion to World Mythology. Oxford: Oxford University Press. ISBN 9780199916481.
  3. Homer, Iliad 1:50-52.