ข้ามไปเนื้อหา

หอยแมลงภู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอยแมลงภู่
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Bivalvia
ชั้นย่อย: Pteriomorphia
อันดับ: Mytiloida
วงศ์: Mytilidae
สกุล: Perna
สปีชีส์: P.  viridis
ชื่อทวินาม
Perna viridis
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง[1]
  • Mytilus opalus Lamarck, 1819
  • Mytilus smaragdinus Gmelin, 1791
  • Mytilus viridis Linnaeus, 1758

หอยแมลงภู่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Perna viridis) จัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสคาเป็นหอยสองฝา สีของเปลือกเปลี่ยนไปตามสภาพการอยู่อาศัย กล่าวคือ ถ้าอยู่ใต้น้ำตลอดเวลามีสีเขียวอมดำ ถ้าอยู่บริเวณน้ำขึ้นน้ำลง ถูกแดดบ้างเปลือกจะออกเหลือง เปลือกด้านนอกมีสีเขียว ส่วนท้ายจะกว้างกว่าส่วนหน้า เนื้อหอยมีสีเหลืองนวลหรือสีส้ม มีหนวดหรือเส้นใยเหนียวสำหรับเกาะหลักเรียกว่า เกสร หรือ ซัง

หอยแมลงภู่ ขนาดความยาวของเปลือกหอยที่สามารถสืบพันธุ์ได้มีความยาวตั้งแต่ 2.13 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวตั้งแต่ 4-20 เซนติเมตร เป็นหอยที่กระจายพันธุ์ทั่วไปในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก กินอาหารแบบกรองกิน ซึ่งกินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ หอยแมลงภู่มีทั้งเพศแยก และมีสองเพศในตัวเดียวกัน มีการผสมพันธุ์นอกลำตัว หอยเพศผู้จะมีลำตัวหรือที่ห่อหุ้มตัวสีครีมหรือขาว ส่วนเพศเมียจะมีสีส้ม มีช่วงฤดูสืบพันธุ์อยู่ 2 ช่วงในรอบ 1 ปี คือช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

หอยแมลงภู่ อาศัยด้วยการเกาะตามโขดหินและตามไม้ไผ่บริเวณชายฝั่งทะเล ห่างฝั่งประมาณ 1,000-3,000 เมตร ในน่านน้ำไทยพบได้ทั้ง 2 ฝั่งทะเล

หอยแมลงภู่เมื่อทำเป็นอาหาร

เป็นหอยที่นิยมบริโภคกันเป็นอย่างมาก สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น หอยทอด, ออส่วน เป็นต้น เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีการเพาะเลี้ยงกันมาเป็นเวลานาน โดยที่พันธุ์ของหอย เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจะอาศัยจากธรรมชาติ ที่เมื่อหอยในธรรมชาติได้ผสมพันธุ์และปฏิสนธิเป็นลูกหอยตัวอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กลอยไปตามกระแสน้ำแบบแพลงก์ตอนแล้ว จะใช้วัสดุที่เพาะเลี้ยงปักลงไปในทะเล เพื่อให้ลูกหอยนั้นเกาะอาศัย[2] แบ่งออกได้เป็น การเลี้ยงแบบปักหลักล่อลูกหอย, การเลี้ยงแบบแพ, การเลี้ยงแบบแขวนบนราวเชือก และการเลี้ยงแบบตาข่ายเชือก แบบที่นิยมเลี้ยงกันมาก คือ แบบปักหลักล่อลูกหอย โดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้ลวกในการล่อลูกหอยในระดับน้ำลึก 4-6 เมตร และเลี้ยงจนมีขนาดใหญ่ ถึงขนาดต้องการ บางแห่งนิยมใช้ไม้ไผ่ทำเป็นโป๊ะ เพื่อดักจับปลาและล่อลูกหอยในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 1,600 ตารางเมตร จะปักหลักได้ประมาณ 1,200 หลัก ทั้งนี้ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 6-8 เดือน จะได้หอยขนาดความยาวเฉลี่ย 5-6 เซนติเมตร เป็นขนาดที่สามารถส่งตลาด แต่ก็เป็นสัตว์ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมาก เช่น อุณหภูมิร้อน หรือน้ำเสีย หรือมีน้ำจืดปะปนลงมาในทะเลเป็นจำนวนมาก หอยก็จะตาย ซึ่งภายในรอบปีสามารถเลี้ยงได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น[2] นอกจากนี้แล้ว เปลือกหอยสามารถนำไปบดเพื่อผสมเป็นอาหารสัตว์ และผสมทำเป็นยา[3] [4] [5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Rylander, K., J. E. Pérez & J. A. Gómez. 1996. Status of the green mussel, Perna viridis (Linnaeus, 1758) (Mollusca: Mytilidae), in north-eastern Venezuela. Caribbean Marine Studies, 5: 86-87.
  2. 2.0 2.1 ตลาดสดสนามเป้า, รายการทางช่อง 5: อาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2555
  3. จักกริช พวงแก้ว สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิช วิภาพรรณ นาคแพน. นักสืบชายหาด: พืชและสัตว์ชายหาด. กทม. มูลนิธิโลกสีเขียว. 2549
  4. กรมประมง.ภาพปลาและสัตว์น้ำหายากของไทย. กทม. องค์การค้าของคุรุสภา. 2545 หน้า 296
  5. หอยแมลงภ่ จากกรมประมง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Perna viridis ที่วิกิสปีชีส์