หลักการใช้กำลัง
หลักการใช้กำลัง (อังกฤษ: Use of force) หรือ ระดับการใช้กำลัง เป็นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหาร โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม[1]ระหว่างความต้องการด้านความปลอดภัย จริยธรรม และสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยหรือผู้บุกรุก ภายใต้กรอบของกฎหมาย[2] โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น การป้องกันตัวเองหรือการป้องกันบุคคลหรือกลุ่มพลเรือน[3]
ความเป็นมา
[แก้]หลักการใช้กำลัง เกิดขึ้นพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่อดีต ซึ่งมาจากความกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ซึ่งปัจจุบันความกลัวนี้ก็ยังคงอยู่ โดยหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาในปัจจุบันคือการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ติดกล้องประจำตัวและบันทึกเหตุการณ์ทุกครั้งที่มีปฏิสัมพันธ์กับพลเรือน[4] ซึ่งจาการศึกษาพบว่าภายหลังการติดกล้องประจำตัวนั้นสามารถลดอัตราการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่[5]
สำหรับหลักการใช้กำลังนั้น ไม่มีคำจำกัดความสากลร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการใช้กำลัง[6] ซึ่งสมาคมหัวหน้าตำรวจนานาชาติ (International Association of Chiefs of Police) ได้ให้ความหมายไว้ว่า
"ปริมาณกำลังที่ตำรวจต้องใช้ เพื่อให้บุคคลที่ขัดขืนหรือไม่ทำตามได้ทำตามคำสั่ง"[6]
ปริมาณกำลังที่ใช้
[แก้]เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายควรใช้กำลังตามแต่สมควรเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการจับกุม การป้องกันตนเองหรือผู้อื่นจากอันตราย โดยระดับการใช้กำลังของตำรวจประกอบไปด้วย การใช้คำพูดหรือคำสั่งในการยับยั้งเหตุการณ์นั้น การใช้กำลังทางกายภาพในการยับยั้งหรือยุติเหตุการณ์นั้น ไปจนถึงการใช้กำลังไม่ถึงชีวิต และการใช้กำลังถึงชีวิต[7][8]
ระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จะแปรผันตามความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ในการเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ[9] และประสบการณ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ โดยมีเป้าหมายคือการควบคุมสถานการณ์ให้รวดเร็วที่สุดและปกป้องประชาชน การใช้กำลังจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของเจ้าหน้าที่ เมื่อแนวทางอื่นในการควบคุมเหตุการณ์หรือสถานการณ์ขณะนั้นไม่ได้ผล[7]
สิ่งที่ตามมาหลังจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่คือการบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในขณะนั้นต้องตรวจสอบหลังจากควบคุมสถานการณ์ว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการปฐมพยาบาลหรือความช่วยเหลือทางการแพทย์แล้วหรือยัง และแจ้งให้ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับทราบ[7]
การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
[แก้]หลายครั้งเจ้าหน้าที่ถูกระบุว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต[10]โดยไม่สมควรแก่เหตุ ซึ่งขัดกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน[11]
หลักสากลต่อการใช้กำลัง
[แก้]การใช้กำลังระหว่างปรเทศ
[แก้]หลักการใช้กำลังตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ถือเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยถือเอากฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) เป็นหลัก ซึ่งระบุไว้ในกฎบัตรข้อ 2 วรรคที่สี่ ว่าประเทศสมาชิกจะต้องละเว้นจากการคุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณาภาพในอาณาเขตของรัฐใด ในขณะเดียวกันข้อ 51[12] ก็ได้ระบุไว้ว่าประเทศสมาชิกสามารถใช้กำลังต่อกันได้ หากเป็นไปเพื่อการป้องกันตนเอง[13]
สำหรับหลักในการป้องกันตนเองของชาติสมาชิกจะมีเงื่อนไขดังนี้
- การป้องกันตนเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการใช้อาวุธโจมตี (Armed Attack) จากฝั่งตรงข้ามก่อนเสมอ
- จะต้องแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยทันทีเมื่อมีการใช้กำลังในการป้องกันตนเอง
สำหรับนิยามของการใช้อาวุธโจมตี (Armed Attack) ต่อประเทศสมาชิกนั้นก็คือความหมายเดียวกับการรุกราน (Aggression) โดยที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ให้ความหมายไว้ในคำพิพากษาระหว่างประเทศนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกาไว้ว่า เป็นการล้ำพรมแดนระหว่างประเทศโดยใช้กองกำลังทางหทาร ในทุกรูปแบบ ทั้งการรบแบบตามแบบ การรบแบบกองโจร และการโจมตีด้วยอาวุธ[12]ต่อประเทศหรือรัฐอื่น[13]
นอกจากนี้ จากคดีระหว่างประเทศนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วางหลักเพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิกใช้ข้อบังคับข้อที่ 51 ในการแก้แค้น (retaliation) ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ[13] ประกอบไปด้วย
- ในการป้องกันตนเอง จะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการใช้กำลังต่อกัน เนื่องจากการใช้กำลังต้องเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา
- ในการป้องกันตนเอง จะต้องคำถึงถึงความได้สัดส่วน คือการตอบโต้แบบสมควรแก่เหตุที่เกิดขั้น
- ในการป้องกันตนเอง จะต้องตอบโต้แบบฉับพลัน หรือทันทีทันใด ไม่ใช่ให้ระยะเวลาผ่านไปนานแล้วจึงตอบโต้กลับไป
หลักสากลต่อการใช้กำลังในการชุมนุม
[แก้]หลักสากลในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ใน หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ในข้อที่ 13 และ 14 ได้กำหนดไว้ว่า[14][15]
- หากการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่นำไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง หรือหากจำเป็นจะต้องใช้กำลังจะต้องใช้เท่าที่จำเป็นและในระดับต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้
- หากการชุมนุมนั้นเป็นเหตุไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่รุนแรงน้อยไปกว่านี้ได้ และต้องใช้เท่าที่จำเป็น
หลักการใช้กำลังของแต่ละประเทศ
[แก้]ไทย
[แก้]สำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทยอิงหลักการใช้กำลังมาจากประเทศสหรัฐ[16] โดยสามารถแบ่งเป็นสององค์ประกอบหลักตามแผนผังได้ดังนี้
การจำแนกพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย
[แก้]การจำแนกพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำผิด แบ่งเป็น 3 ประเภท[17] คือ
- ให้ความร่วมมือ ประกอบไปด้วย
- การให้ความร่วมมือโดยไม่ต้องออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ต้องรักษาระยะห่างตามความเหมาะสม และต้องไม่ลดระดับการระมัดระวังป้องกันตัวเอง จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
- การให้ความร่วมมือตามการออกคำสั่ง โดยตอบสนองต่อคำสั่งเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องสั่งด้วยคำพูดและท่าทางที่สมควรแก่เหตุ ต้องไม่ลดระดับการระมัดระวังป้องกันตัวเอง จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
- ขัดขืน ประกอบไปด้วย
- การนิ่งเฉย ไม่ยอมทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ แม้จะเป็นการนิ่งเฉยเพื่อขัดขืนโดยสันติ แต่ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน จนทำให้ต้องเข้าดำเนินการใกล้กับผู้ต้องสงสัยจนเกินระยะปลอดภัย ต้องระวังการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว ไม่ลดท่าทีการเฝ้าระวังจนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
- การเคลื่อนไหว เพื่อหลีกเลี่ยงการทำตามคำสั่ง แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติหรือพยายามที่จะหลบหนี ให้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางยุทธวิธี เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนในการตัดสินใจ และอาจมีแนวโน้มในการตอบโต้ของผู้ต้องสงสัย
- ทำร้าย ประกอบไปด้วย
- การทำโดยปราศจากอาวุธ ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ทำตามคำสั่ง ต้องระวังการซุกซ่อนอาวุธในการใช้ทำร้ายหรือตอบโต้เจ้าหน้าที่ จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
- การทำให้อันตรายบาดเจ็บต่อร่างกาย ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ทำตามคำสั่ง โดยการทำร้ายโดยอาจจะจากอาวุธหรือวัสดุที่เป็นอาวุธได้โดยสภาพ ต้องระหวังการตอบโต้ จนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
- การกระทำที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอันตรายด้วยการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ทำตามคำสั่ง มีการตอบโต้เจ้าหน้าที่โดยเชื่อว่าจะส่งผลสาหัสหรือถึงชีวิตเจ้าหน้าที่ ด้วยอาวุธ วัตถุอื่นที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ ต้องระมัดระวังจนกว่าจะมีการควบคุมตัวที่ถูกต้องตามยุทธวิธี และตรวจค้นจนมั่นใจว่าปลอดภัย
การปฏิบัติ
[แก้]ระดับการใช้กำลังจะถูกเริ่มต้นจากระดับที่น้อยที่สุดเป็นลำดับจนไปสู่ระดับสูงที่สุด โดยสามารถปรับเพิ่มระดับตามสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว[18][19][20] ประกอบไปด้วย
- การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ (Officer Presence) เป็นระดับที่เบาสุดซึ่งไม่ต้องใช้กำลัง เพียงการปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในเครื่องแบบ หรือการปรากฎตัวของรถสายตรวจก็เพียงพอแล้วในการป้อมปรามหรือยับยั้งอาชญากรรมที่กำลังจะเกดขึ้น เพราะผู้กระทำผิดมีโอกาสสูงที่จะถูกพบเห็นและจับกุม
- การสั่งการด้วยคำพูด (Verbalization) เป็นระดับที่ยังไม่ใช้แรงด้านกายภาพ เป็นการออกคำสั่งสั้น ๆ ที่ไม่คุกคาม หากสั่งการด้วยคำพูดและบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติอาจจะเพิ่มระดับเสียงในการสั่งการและคำพูดที่สั้นลง โดยต้องใช้คำพูดที่เด็ดขาดแต่ไม่เป็นการข่มขู่ อาทิ หยุด หรือ อย่าขยับ
- การควบคุมด้วยมือเปล่า (Empty-Hand Control) เป็นการใช้กำลังทางกายภาพในการควบคุมสถานการณ์ โดยปราศจากอาวุธ
- การใช้กำลังไม่ถึงชีวิต (Less-Lethal Methods) เป็นการใช้กำลังโดยใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ หรืออาวุธที่ไม่ส่งผลถึงชีวิตเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยอาวุธที่ใช้จะทำให้ผู้ถูกกระทำสูญเสียการต่อต้านหรือเกิดอาการสับสน มึนงง และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ อาทิ การใช้กระบองหรือกระสุนยางเพื่อหยุดยั้ง การใช้สเปรย์เคมี สเปรย์พริกไทย[18] หรือปืนช็อตกระแสไฟฟ้า
- การใช้กำลังถึงชีวิต (Lethal Force) เป็นการใช้อาวุธสำหรับสังหารเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรใช้ต่อเมื่อเป้าหมายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่น อาทิ อาวุธปืน เพื่อหยุดการกระทำของบุคคลที่ก่อเหตุนั้น
สหรัฐ
[แก้]ในสหรัฐอเมริกา มีกรณีศึกษาถึงหลักการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หลากหลายมาตั้งแต่ในอดีต อาทิ
รัฐเทนเนสซี กับ การ์เนอร์ (พ.ศ. 2528)
[แก้]วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ได้รับแจ้งว่ามีการลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปถึงที่เกิดเหตุ พบผู้กระทำผิด คือการ์เนอร์ กำลังหลบหนี จึงเรียกให้ผู้กระทำผิดหยุด แต่ผู้กระทำผิดไม่ยอมทำตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงไปที่ผู้กระทำผิด ถูกที่ด้านหลังศีรษะเสียชีวิต แม้จะมั่นใจว่าผู้กระทำผิดไม่มีอาวุธ
ศาลฎีกาตัดสินว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังถึงตายแก่ผู้กระทำผิดได้ก็ต่อเมื่อ เชื่อว่าผู้กระทำผิดมีอาวุธหรือสามารถทำอันตรายถึงชีวิตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้อื่นได้เท่านั้น[21]
พลัมฮอฟฟ์ กับ ริคการ์ด (พ.ศ. 2557)
[แก้]วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ เวสท์ พลัมฮอฟฟ์ ได้เรียกให้รถยนต์ของ ริคการ์ด ผู้ต้องสงสัยหยุด เนื่องจากไฟหน้ารถใช้การไม่ได้ โดยผู้ต้องสงสัยปรับกระจกหน้ารถเยื้องผิดปกติ และมีอาการพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงได้ขอให้ผู้ต้องสงสัยลงจากรถเพื่อตรวจค้น แต่ผู้ต้องสงสัยกลับขับรถหลบหนี และเกิดการไล่ล่าขึ้น พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายนาย จนกระทั่งรถของผู้ต้องสงสัยเสียหลักเข้าไปในลานจอดรถแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ปิดล้อม และลงจากรถเพื่อเข้าจับกุม ผู้ต้องสงสัยได้พยายามหลบหนีอีกครั้ง และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เปิดฉากยิงใส่ริคการ์ด จำนวน 15 นัด ทำให้ริคการ์ด และผู้โดยสารบนรถเสียชีวิต
ศาลตัดสินว่าการใช้กำลังดังกล่าวสมเหตุสมผลตามระดับการใช้กำลังถึงตาย ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงที่เกิดตามสถานการณ์ดังกล่าวที่ได้เผชิญหน้า ไม่ใช่หลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว[22]
สหราชอาณาจักร
[แก้]ในสหราชอาณาจักร ส่วนของอังกฤษและเวลล์ มีการะบุถึงการใช้กำลัง (ตามสมควร) ของตำรวจหรือบุคคลอื่นใด ตามาตตรา 3 ของกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 (ค.ส.1967) ระบุไว้ว่า
บุคคลอาจใช้กำลังตามความเหมาะสมในการป้องกันการเกิดอาชญากรรม หรือการบังคับใช้ หรือการช่วยเหลือในการจับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยโดยชอบด้วยกฎหมาย
การใช้กำลังนั้นจึงอาจจะถือได้ว่าชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสมเหตุสมผล[23]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หลักการใช้กำลัง - พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา (songmetta.com)
- ↑ กองบัญชาการศึกษา (2561). คู่มือยุทธวิธีตำรวจสำหรับครูฝึก เก็บถาวร 2022-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (edupol.org)
- ↑ "Police Use of Force". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Alpert, Geoffrey P.; Dunham, Roger G. (2004-08-16). Understanding Police Use of Force: Officers, Suspects, and Reciprocity (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-83773-6.
- ↑ "ถึงเวลา 'ติดกล้อง' ตำรวจแล้วหรือยัง?" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-30.
- ↑ 6.0 6.1 "Overview of Police Use of Force". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 7.0 7.1 7.2 "Overview of Police Use of Force". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Bourne, Tim (2021-03-05). "The Force Continuum, a Simple Guide • Identity Defence". Identity Defence (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-04. สืบค้นเมื่อ 2022-07-17.
- ↑ lin (2019-11-28). "ทำไมตำรวจถึงต้องใช้กำลัง Use of Force ในบางกรณี". Siam Media - สยามมีเดีย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ! ผลชันสูตรศพ "จอร์จ ฟลอยด์" ขาดอากาศหายใจ". tnnthailand.com. 2020-06-02.
- ↑ "จนท.เลบานอนใช้กระสุนลูกปรายเหล็กกับผู้ชุมนุมการประท้วง นักสิทธิชี้เป็นวิธีการผิดกฎหมาย". prachatai.com.
- ↑ 12.0 12.1 "ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของการใช้กำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกา". prachatai.com.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 "การใช้กำลัง (Use of Force) ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ". isheepcheap (ภาษาอังกฤษ). 2013-09-05.
- ↑ ""หลักสากล" สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม". ilaw.ot.th - "หลักสากล" สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials". OHCHR (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Police 'Use of Force' Guidelines Getting Overhaul: What Are They Now?". DNAinfo Chicago. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2022-07-17.
- ↑ บทที่ 4-ระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ – กองแผนงานอาชญากรรม (thaicrimes.org)
- ↑ 18.0 18.1 กองบัญชาการศึกษา (2561). คู่มือยุทธวิธีตำรวจสำหรับครูฝึก เก็บถาวร 2022-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (edupol.org)
- ↑ ณัฐวรรณ สิตวรเวศย์ (2562). ขอบเขตและสภาพบังคับทางกฎหมายในกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังจับเกินความเหมาะสม. วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 เดือน กรกฎาคม - กันยายน, หน้า 443 - 454
- ↑ "The Use-of-Force Continuum". National Institute of Justice (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Tennessee v. Garner". สืบค้นเมื่อ August 12, 2015.
[Deadly] force may not be used unless necessary to prevent the escape [of a fleeing suspect] and the officer has probable cause to believe that the suspect poses a significant threat of death or serious physical injury to the officer or others.
- ↑ Plumhoff v. Rickard, 134 S. Ct. 2012, 572 U.S., 188 L. Ed. 2d 1056 (2014).
- ↑ "Self-Defence and the Prevention of Crime | The Crown Prosecution Service". www.cps.gov.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-16. สืบค้นเมื่อ 2022-07-17.