หลวงชิดภูบาล (จอร์จ ฟอลคอน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงชิดภูบาล
(จอร์จ ฟอลคอน)
เกิดพ.ศ. 2227
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
ถึงแก่กรรมพ.ศ. 2252 (25 ปี)
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
ภรรยาลุยซา ปัสซัญญา
บุตรจอห์น ฟอลคอน
บิดาพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)
มารดาท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์)
พี่น้องโจฮัน ฟอลคอน
ศาสนาคริสต์ (โรมันคาทอลิก)

หลวงชิดภูบาล ชื่อเดิม จอร์จ ฟอลคอน[1] หรือ ยอร์ช ฟอลคอน (อังกฤษ: George Phaulkon; พ.ศ. 2227 – พ.ศ. 2252)[2]: 18 [3]: 53 [4] เป็นขุนนางสยามสังกัดกรมมหาดเล็กในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ

ประวัติ[แก้]

หลวงชิดภูบาล หรือ จอร์จ เกิดที่กรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 2 คนของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนสำคัญในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เกิดกับท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) มีภรรยาชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna)[5]: 196 [6]: 109  และมีน้องชายชื่อ โจฮัน (João) ฟอลคอน (บางที่ว่าชื่อ ฆวน)[7]

ต่อมาเมื่อพระยาวิไชเยนทร์ผู้เป็นบิดาถูกประหารชีวิตทำให้ชีวิตของจอร์จและมารี กีมาร์ ผู้เป็นมารดาต้องตกระกำลำบาก ถูกริบราชบาตร ถูกคุมขัง กระทั่งเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ ในปี 2251 และเจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าเสือซึ่งดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้าท้ายสระหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มารีรับราชการฝ่ายในจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท้าวทองกีบม้า ทำให้ฐานะทางการเงินและชีวิตครอบครัวดีขึ้น ส่วนจอร์จก็โปรดเกล้าฯ ให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กคนสนิทรับใช้ใกล้ชิดจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยถึงขั้นพระองค์เป็นครูสอนภาษาไทยให้จอร์จด้วยพระองค์เอง ต่อมาจอร์จได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงชิดภูบาล

บันทึกพงศาวดารช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านถูกระบุไว้ไม่ตรงกัน โดยถูกบันทึกไว้ 2 แบบ คือ

1. ข้อมูลที่กล่าวว่า จอร์จ ฟอลคอนได้เสียชีวิตตั้งแต่ ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) ในช่วงต้นรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ปรากฏในเอกสารที่เป็นหลักฐานชั้นต้นมีชื่อว่า “เรื่องผู้ว่าราชการเมืองปอนดีเชรีเจรจาการบ้านเมือง จดหมายมองซิเออร์เกดีถึงมองเซนเยอร์เมโกร เมืองปอนดีเชอรี วันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254)" ระบุว่า

“…ครั้นข้าพเจ้าได้ไปเมืองปอนดีเชรี ก็ได้ไปหาเชอวาเลียเฮแบต์เพื่อส่งจดหมายของมองเซนเยอร์เดอซาบูล และเพื่อจะพูดด้วยปากถึงข้อความที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว และจะพูดถึงเรื่องเงินของบุตร์มองซิเออร์คอนซตันซ์ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) และซึ่งมาดามคอนซตันซ์จะต้องการ เพราะตัวเปนคนยากจนด้วย…”

แม้จากหลักฐานจะแสดงให้เห็นว่า จอร์จ ฟอลคอนอาจไม่มีอายุที่ยืนยาวมากนัก แต่จากเอกสารอีกฉบับก็ช่วยยืนยันได้ว่า เขามีทายาทสืบตระกูล เพราะปรากฏชื่อหลานของคอนแสตนติน ฟอลคอน นามว่า “คอนซตันติน” มารับราชการในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งบุคคลนี้คือบุตรชายของจอร์จนั่นเอง [8]

2. หลักฐานที่อ้างอิงจากบทความ An Early British Merchant in Bangkok โดย Adey R. Moore ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Siam Society Vol. 11.2 1914-15 (พ.ศ. 2457-58) ซึ่งมีสาแหรกจากตระกูลฟอลคอนที่เขียนในสมัยหลัง กล่าวว่า ลูกชายของฟอลคอน (ไม่ได้ระบุชื่อ) ได้ถูกส่งไปทำหน้าที่ทูตที่เมืองปอนดิเชอรี่ ประเทศอินเดีย และได้แต่งงานกับหญิงสาวเชื้อสายโปรตุเกสมีบุตรธิดาหลายคนหนึ่งในนั้นคือ จอห์น ฟอลคอน ซึ่งอพยพกลับมาสยามตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดซางตาครู้สใกล้ชุมชนกุฎีจีน นอกจากนี้หลวงชิดภูบาลยังเป็นทวดของ แองเจลิน่า ทรัพย์ ภรรยาของหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (โรเบิร์ต ฮันเตอร์) พ่อค้าคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3–4 ส่วนหลวงชิดภูบาล ตามบทความได้บอกว่าท่านถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1754 (พ.ศ. 2297) [9][10]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ในละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์เรื่อง พรหมลิขิต ได้มีการกล่าวถึง หลวงชิดภูบาล ซึ่งผู้ที่รับบทหลวงชิดภูบาลคือ โอม-คณิน สแตนลีย์

อ้างอิง[แก้]

  1. ศิลปวัฒนธรรม, 24(4): 65. กุมภาพันธ์ 2546.
  2. มานพ ถนอมศรี. (2539). ท้าวทองกีบม้า: ราชินีขนมไทยและบุคคลสําคัญในประวัติศาสตร์อยุธยา. 136 หน้า. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ. ISBN 978-974-5-19152-5
  3. "THE RETIREMENT OF THE FRENCH GARRISON FORM BANGKOK IN THE YEAR 1688", The Siam Society Journal, 28(1). cited in E. W. Houtchinson. I. NOVAS DO REYNO DE SIAM [Bibioteca Nacional, Lisboa, Ms.n. 465, ll. 186].
  4. June 5, Name Constantine PhaulkonDied; 1688; Lopburi (2017-08-18). "Constantine Phaulkon - Alchetron, The Free Social Encyclopedia". Alchetron.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  5. Lucien Lanier. (1883). Étude historique sur les relations de la France et du royaume de Siam de 1662 à 1703: d'après les documents inédits des Archives du Ministère de la Marine et des Colonies, avec le fac-simile d'une carte du temps. Versailles: E. Aubert, Gregg, Versailles, Farnborough. 208 pp. ISBN 978-057-6-03304-6
  6. สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ : บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับสัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2530. 133 หน้า. ISBN 978-974-8-35667-9
  7. เปิดประวัติ "จอร์จ ฟอลคอน" หลวงชิดภูบาล บุตรชายท้าวทองกีบม้า มหาดเล็กของขุนหลวงท้ายสระ "พรหมลิขิต"
  8. https://www.silpa-mag.com/history/article_121408
  9. ชะตาชีวิต จอร์จ ฟอลคอน ลูกท้าวทองกีบม้า ในพรหมลิขิต ที่ต้องเจอวันข้างหน้า
  10. ทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน