ข้ามไปเนื้อหา

สุวัณณเมฆะหมาขนคำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุวัณณเมฆะหมาขนคำ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่แพร่หลายในกลุ่มชนชาติไท เป็นวรรณกรรมที่รู้จักทั้งในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะและเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่นวรรณกรรมล้านนาที่พบจารลงในใบลานเรียก "สุวัณณเมฆะหมาขนคำ" ในภาคอีสานของไทยและลาวที่พบจารลงในใบลานเรียก หมาหยุย หรือ ท้าวหมาหยุย ในกลุ่มวัฒนธรรมไทเขินที่พบจารลงในใบลาน เรียก สุวัณณเมฆ หมาขนคำและหมาฮุย ในกลุ่มวัฒนธรรมไทลื้อเป็นนิทานมุขปาฐะเรียก หมาฮุย หรือ หมาลุย หรือ หมาขนคำ

โครงเรื่องในแต่ละท้องที่คล้ายคลึงกันคือกล่าวถึงพี่น้องกำพร้าและพี่ชายเป็นสุนัข มีเพียงกลุ่มไทลื้อที่เนื้อเรื่องต่างไปอย่างชัดเจนแต่ชื่อเรื่องยังคล้ายกันอยู่ วรรณกรรมเรื่องนี้แต่งเป็นชาดกนอกนิบาตซึ่งเป็นการแต่งเลียนแบบนิบาตชาดกในพระไตรปิฎก

เรื่องราวของเรื่องมีตัวเอกสองพี่น้อง ผู้พี่คือหมาขนคำ ผู้น้องคือสุวัณณเมฆะเป็นผู้มีบุญญาธิการที่ลงมาเกิดเพื่อช่วยเหลือดับทุกข์เข็ญให้กับประชาราษฎร์ เป็นผู้มีคุณธรรมและกตัญญู ทั้งสองใช้คุณธรรมในการผ่านพ้นอุปสรรคทั้งมวล

ต้นฉบับที่พบ จากการศึกษาของธัญญพัทธ์ มิตรศรัณย์ภัทร เมื่อ พ.ศ. 2550 พบต้นฉบับในภาคเหนือของไทย 14 ฉบับ ส่วนวรรณกรรมเรื่อง หมาหยุย พบต้นฉบับในภาคอีสานของไทย 46 ฉบับ[1] พบภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สุวัณณเมฆะหมาขนคำ ที่ศาลารายวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม จังหวัดแพร่ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระธาตุม่วงคำ จังหวัดลำปาง ที่ฐานเจดีย์เก่าวัดนี้มีเรื่องสอดคล้องกันตำนาน[2] และมีรูปปั้นจำลองตัวละครในตำนาน[3] โดยในจังหวัดลำปางมีพื้นที่สำคัญ 3 แหล่งที่เกี่ยวข้องกับหมาขนคำในตำนานนี้คือ ผาสามเส้าที่ริมดอยม่วงคำ โทกหัวช้าง และเวียงนางตอง[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ธัญญพัทธ์ มิตรศรัณย์ภัทร. "การศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมล้านนาเรื่องสุวัณณเมฆะหมาขนดำและวรรณกรรมลาวเรื่อง หมาหยุย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "คิดถึง ณ ลำปาง ตำนาน "หมาขนคำ" ในประเพณีสรงน้ำ "พระธาตุดอยม่วงคำ".
  3. "สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น "งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดดอยม่วงคำ"". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-25. สืบค้นเมื่อ 2022-12-25.
  4. ""หมาขนคำ" ตำนานเมืองลำปาง วิเคราะห์เบื้องหลังเรื่องเล่าท้องถิ่นกับอิทธิพลจากพื้นที่". ศิลปวัฒนธรรม.