สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า หรือ โกลด์ฟิวเจอร์ส (อังกฤษ: gold futures) เป็นตราสารอนุพันธ์ หรือเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เก็งกำไรจากการผันผวนของราคาทองคำ ทั้งในภาวะขาขึ้นและภาวะขาลงของราคาทองคำ คุณลักษณะเด่นของตราสารอนุพันธ์ชนิดนี้คือ เป็นตราสารที่สามารถซื้อก่อนขายหรือขายก่อนซื้อก็ได้ และที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้คือ ใช้เงินลงทุนน้อยประกอบกับราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวทุกวัน จะทำให้โอกาสในการรับผลตอบแทนนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แต่ผู้ลงทุนต้องไม่ลืมที่ว่า การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูง โอกาสในการรับความเสี่ยงก็จะสูงด้วยเช่นเดียวกัน

ลักษณะ[แก้]

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุน ในการทำกำไรและกระจายความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน และผู้ลงทุนที่เดิมเคยลงทุนในการเก็งกำไรในราคาทองคำในระบบตลาดปกติ ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อ หรือลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสัญญาประเภทนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก ผ่านระบบซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ (TFEX ) โดยมีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) เป็นผู้ประกันการชำระราคาจากการซื้อขาย และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของ ตลาดอนุพันธ์

สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นั้นได้เริ่มมีการซื้อขายกันวันแรกในตลาดอนุพันธ์ของประเทศไทยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 โดยในช่วงแรกนี้ การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นี้อาจมีผู้ลงทุนจำนวนน้อย เพราะผู้ลงทุนโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์มากเท่าใดนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ เครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่นี้จะมีผู้ที่เข้ามาลงทุนในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความสะดวกในการลงทุน และจำนวนเงินเริ่มต้นในการลงทุนไม่สูงมากนัก

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ลงทุน ทำให้สามารถซื้อและขายทำกำไรได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้น และราคาทองขาลง โดยในการ ซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะไม่มีการส่งมอบทองคำกันจริง ๆ ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แต่ใช้วิธีจ่ายชำระเงินตามส่วนต่างกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นเท่านั้น วิธีการชำระกำไรขาดทุนแบบนี้เรียกว่า “ การชำระราคาเป็นเงินสด” (Cash Settlement) โดยผู้ลงทุนสามารถ “ ซื้อก่อนขาย” หรือ “ ขายก่อนซื้อ” ก็ได้ ซึ่งกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น จะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาที่ซื้อเอาไว้ เช่น หากผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน และเมื่อราคาทองคำในอนาคตปรับตัวขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะก็สามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย และในกรณีที่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนก็จะสามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์ส การขายทองคำล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์แบบนี้ ผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นจะต้องมีทองคำไว้ในมือ หรือจะต้องทำการซื้อไว้ก่อน เหมือนการซื้อทองในตลาดจริง เพียงแต่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำนั้นจะลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนก็ส่งคำสั่งขายล่วงหน้าไว้ เมื่อราคาทองคำในอนาคตลดลงจริง ผู้ลงทุนก็จะทำการขายได้ในราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีราคาสูงกว่า

การซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์ส คือ การซื้อหรือขายทองคำล่วงหน้า ราคาของโกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นราคาทองคำที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งอาจจะแตกต่างจากราคาทองคำที่มีการซื้อขายและส่งมอบกันในปัจจุบัน (Spot Price) ในตลาดจริง การคาดการณ์ราคาทองที่แตกต่างกันนี้ เป็นโอกาสในการทำกำไรจากโกลด์ฟิวเจอร์ส เช่น ในภาวะทองราคาขึ้น ราคาทองในปัจจุบันอาจอยู่ที่ 14,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท แต่ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาจมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท สำหรับผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่า 14,500 บาท จึงทำการซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส โดยผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนนี้คาดการณ์ว่าจะมีส่วนต่างราคาในกรณีที่ทองคำปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้กำหนดเอาไว้ เช่น หากในอนาคตราคาทองทำเป็น 15,500 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เป็นต้น

สำหรับผู้ขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไม่ถึง 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้ลงทุนจึงทำการขายล่วงหน้าในราคา 14,500 บาท และรอซื้อกลับเมื่อราคาถูกลง หากราคาทองคำในอนาคตเป็น 13,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เพราะเปรียบเสมือนว่า ผู้ลงทุนสามารถซื้อทองคำได้ในราคา 13,500 บาท และขายตามที่ได้กำหนดล่วงหน้าไว้ 14,500 บาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า แต่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้ไม่ได้มีการส่งมอบทองคำกันจริง เพียงแต่เป็นการ การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เท่านั้น

การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนั้นมีขั้นตอนและวิธีการที่แตกต่างจากการ ซื้อขายหุ้นสามัญโดยทั่วไป และซื้อขายทองคำ เพราะโกลด์ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ผู้ลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทั้งจำนวน ในการซื้อทองคำ หรือหุ้นสามัญเช่นเดียวกับการซื้อทองเก็งกำไรทั่วไป หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส จะวางเงินส่วนหนึ่งซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญาทั้งจำนวนไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ก่อนส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อ เป็นเงินมัดจำ ตามหลักการแล้วเงินจำนวนที่นำไปวางนี้เรียกว่า เงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin)

เงินหลักประกันขั้นต้น เป็นเงินลงทุนจำนวนไม่มากนัก ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูงจากการลงทุนเมื่อเทียบกับเงินทุน ที่ได้จ่ายเพื่อเป็นเงินหลักประกันขั้นต้น เช่น ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จึงลงทุนซื้อทองคำน้ำหนัก 50 บาท ในราคาบาทละ 14,000 บาท เพื่อเก็งกำไร โดยผู้ลงทุนจะต้องใช้เงินทุนเพื่อซื้อทองคำทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวม 700,000 บาท แต่หากผู้ลงทุนซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส จะใช้เงินทุนเพื่อวางเป็นหลักประกันขั้นต้นประมาณ 50,000 บาท ซึ่งหากราคาทองคำสูงขึ้นจริง ผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สก็มีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรสูงกว่าการซื้อ ทองคำจริง เพราะการลงทุนในทองคำจริงนั้นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากกว่า

ตัวอย่าง เช่น วันที่ 1 มีนาคม 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาท เท่ากับ 14,000 บาท หากลงทุนโดยการซื้อทองคำเพื่อเก็งกำไรจำนวนหนัก 50 บาท ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายเงินซื้อทองมูลค่า 700,000 บาท และเมื่อครบสองเดือนในวันที่ 27 เมษายน 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาทในตลาดขยับเป็น 14,700 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 735,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้กำไร 35,000 บาท จากการลงทุนทั้งหมด 700,000 บาท หรือคิดเป็นกำไรร้อยละ 5

แต่ถ้าผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนใน โกลด์ฟิวเจอร์สที่จะครบกำหนดเดือนเมษายน ซึ่งมีราคาซื้อขายล่วงหน้า 14,500 บาท โดยวางเงินประกันเริ่มแรก 50,000 บาท และเมื่อครบสองเดือนในวันที่ 27 เมษายน 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาทในตลาดขยับเป็น 14,700 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 735,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้กำไรในทองคำน้ำหนักบาทละ 200 บาท (ซื้อ 14,500 – ขาย 14,700) จำนวนทองคำหนัก 50 บาท คิดรวมเป็นเงิน 10,000 บาท จากการลงทุนทั้งหมด 50,000 บาท หรือคิดเป็นกำไรร้อยละ 20

กรณีราคาทองคำขาลง ผู้ลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรจากทองคำ และมีทองคำอยู่ในมืออยู่แล้ว ผู้ลงทุนสามารถเร่งขายทองคำในช่วงที่ราคาทองคำยังสูง และค่อยซื้อทองคำกลับคืนหลังจากราคาทองปรับตัวลดลง สำหรับ ผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือก็จะไม่สามารถใช้วิธีนี้สร้างกำไรได้

โกลด์ฟิวเจอร์สช่วยเพิ่ม โอกาสทำกำไรโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำได้ เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถวางเงินแค่หลักประกันขั้นต้น ก็สามารถทำการขายโกลด์ฟิวเจอร์สก่อน เพื่อทำกำไรในตลาดทองคำขาลง ตัวอย่าง วันที่ 1 มิถุนายน ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนจึงขายทองคำที่มีอยู่ น้ำหนัก 50 บาท ในราคาทองคำน้ำหนักบาทละ 14,000 บาท และได้รับเงินจากการขาย 700,000 บาท และซื้อทองคำหนัก 50 บาท คืนในวันที่ 30 เมษายน น้ำหนักบาทละ 13,300 บาท มูลค่า 665,000 บาท ดังนั้นผู้ลงทุนจะได้กำไรจากการขายแล้วซื้อกลับ เท่ากับ 700,000 – 665,000 = 35,000 บาท (หรือคิดเป็นกำไร 5%)

แต่ถ้าผู้ลงทุนได้ทำการขายโกลด์ฟิวเจอร์สที่จะครบกำหนดเดือนกันยายน ในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งมีราคาซื้อขายล่วงหน้า 13,700 บาท โดยวางเงินประกันเริ่มแรก 50,000 บาท ในในวันที่ 15 มิถุนายน 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาทในตลาดขยับเป็น 13,300 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 665,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้กำไร (ขาย 13,700 – ซื้อ 13,300) * น้ำหนัก 50 บาท = 20,000 บาท (หรือคิดเป็นกำไร 40%)

ราคาซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส เป็นคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตของผู้ลงทุน แม้ว่าราคาที่ซื้อขาย จะไม่ใช่ราคาเดียวกับราคาทองคำที่ซื้อขายและส่งมอบกันจริงในตลาด แต่ก็มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยผลจากการศึกษาทางสถิติ ( ข้อมูลในช่วง ก.พ. 2541 – มิ.ย. 2550) (ข้อมูลจาก www.tfex.co.th) พบว่า ราคาทองคำมีทิศทางการ เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับหลักทรัพย์ชนิดอื่น ๆ โดยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนจะพบว่าทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ติดลบสูงสุดเท่ากับ -0.24 และเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ติดลบเท่ากับ -0.09 (การที่มีค่า Correlation ติดลบ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้าม จึงเหมาะแก่การกระจายการลงทุน และลดความเสี่ยง) ดังนั้นโกลด์ฟิวเจอร์ส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายการลงทุน

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคและราคาน้ำมัน การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใน การกระจายการลงทุนที่เรียกว่า การลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง จากภาวะเงินเฟ้อได้ (Inflation Hedge)

การซื้อขาย[แก้]

การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนั้น จะเป็นการซื้อขายโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สตามความคาดการณ์ได้ ตลอดเวลาทำการของ TFEX ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถโทรศัพท์สั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์อนุพันธ์ที่มีสาขา รวมมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ หรือผู้ลงทุนอาจใช้วิธีส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเอง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่โบรกเกอร์อนุพันธ์ให้บริการก็ได้ การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สนั้นจะมีความสะดวกสบายในการลงทุน

โบรกเกอร์อนุพันธ์ (Derivative Brokers) จะเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนในการส่งคำสั่งซื้อขายของผู้ลงทุนเข้ามาในระบบการ ซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ของ TFEX เพื่อรอจับคู่คำสั่งกับผู้ลงทุนอีกฝั่งหนึ่ง โดยผู้ลงทุนอีกฝั่งนั้นจะเป็นลูกค้าของโบรกเกอร์เดียวกันหรือไม่ก็ได้ในการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนจึงสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว

นอกจากนี้ การซื้อขายใน TFEX นั้นยังมีสภาพคล่องสูง เพราะการซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบ (Organized Markets) แบบนี้ จะมีผู้ลงทุนหลากหลาย และมีจำนวนมาก ดังนั้นการทำการส่งคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขาย ก็มักจะมีผู้ลงทุนอีกฝั่งหนึ่งมารองรับอยู่เสมอ จึงทำให้ผู้ลงทุนทุกฝ่ายเกิดสภาพคล่องในการซื้อขาย ทั้งนี้ราคาในการซื้อขายอาจจะเป็นไปตามที่ผู้ลงทุนต้องการหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับภาวการณ์ในตลาดด้วย

ผู้ลงทุนที่ลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส จะสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของราคาโกลด์ฟิวเจอร์สได้ตลอดเวลาจากหลากหลาย ช่องทาง เช่น เว็บไซต์ โทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และช่องทางอื่น ๆ ที่บริษัทสมาชิกเปิดให้บริการ เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดแบบ Organized Markets โดยทั่วไป ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสในการทำกำไรได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นการทำกำไรในระยะเวลาไม่เกินกว่า 1 วัน หรืออาจเป็นระยะยาวก็ได้

บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใต้ พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และดูแลการซื้อขายให้ถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรม ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ลงทุน การซื้อขายใน TFEX จะมี บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ทำหน้าที่รับประกันการจ่ายชำระเงินระหว่างคู่สัญญา เพื่อลดความเสี่ยงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย หากคู่สัญญาฝ่ายที่ขาดทุนในสัญญาผิดนัด ไม่ยอมจ่ายชำระเงินให้ฝ่ายที่ได้กำไร สำนักหักบัญชีก็จะค้ำประกันการจ่ายชำระเงินนั้นให้ก่อน ทั้งนี้สำนักหักบัญชีได้ทำการเรียกเงินประกันขั้นต้น และมีการทำการคำนวณกำไรขาดทุนอยู่ทุกวันแล้ว จึงไม่มีความเสี่ยงกับสำนักหักบัญชีเช่นเดียวกัน ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าหากได้กำไรจากการซื้อขายก็จะได้รับเงินส่วนกำไรนั้น อย่างแน่นอน

การเก็งกำไรทองคำ หรือ ท่องแท่งทุกวันนี้ยอมรับว่าเป็นที่นิยมทั่วโลกเนื่องจากเป็นสินค้าที่ราคาดีติด Top1 ในตลาดหลักทรัพย์เลยก็ว่าได้

เว็บไชต์การชื้อขาย:https://pttepthai.com

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์[แก้]

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญคอยดูแลการดำเนินงานของ TFEX และโบรกเกอร์อนุพันธ์เพื่อให้การซื้อขายโปร่งใสและเชื่อถือได้ ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถซื้อขายสัญญาล่วงหน้าประเภทนี้ได้ในราคาที่ เป็นธรรม ผู้ลงทุนที่มีสถานะซื้อหรือสถานะขายโกลด์ฟิวเจอร์สอยู่ จะได้รับปรับยอดเงินในบัญชีหลักประกันให้ทุกสิ้นวัน (Mark to Market)

ในการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนจะต้องวางเงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย และเมื่อซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ไปแล้ว ทุกสิ้นวันโบรกเกอร์จะปรับยอดเงินในบัญชีของผู้ลงทุน โดยในแต่ละวันจะมีการคำนวณว่า ผู้ลงทุนนั้นได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร โดยจะนำยอดกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ นำมารวมกับเงินในบัญชีของผู้ลงทุน

หากผู้ที่ทำการลงทุนได้กำไร ผู้ลงทุนก็จะได้รับโอนเงินส่วนกำไรจากคู่สัญญาฝ่ายที่ขาดทุนเข้ามารวมใน บัญชีหลักประกัน และในทางกลับกัน หากผู้ลงทุนขาดทุน ผู้ลงทุนก็จะถูกโอนเงินส่วนขาดทุนออกจากบัญชีหลักประกันไปให้คู่สัญญาฝ่าย ที่ได้กำไรเช่นกัน และในกรณีที่ผู้ลงทุนขาดทุนจนทำให้เงินในบัญชีที่วางไว้ลดลงจนต่ำกว่าระดับ หลักประกันที่โบรกเกอร์กำหนด หรือที่เรียกว่า หลักประกันรักษาสภาพ หรือเงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) โบรกเกอร์ก็จะเรียกให้ผู้ลงทุนนำเงินมาวางเพิ่มเติม (Margin Call) ให้ระดับเงินในบัญชีกลับไปอยู่ที่ระดับหลักประกันขั้นต้น อีกครั้งหนึ่ง การคำนวณกำไรขาดทุนทุกสิ้นวันนี้ เรียกว่า Mark to Market ซึ่งเป็น กลไกสำคัญที่ช่วยผู้ลงทุนในการติดตามสถานะ การซื้อขายของตน หากผู้ลงุทนเกิดภาวะขาดทุนจากการลงทุน ผู้ลงทุนก็จะสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การซื้อขายได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างการซื้อขาย[แก้]

ตัวอย่างการซื้อขายสัญญาโกล์ดฟิวเจอร์ส หากสมมติให้ปัจจุบันคือวันที่ 1 มีนาคม 2552 ราคาทองคำที่ซื้อขายและส่งมอบในปัจจุบันในท้องตลาดอยู่ที่น้ำหนักบาทละ 14,000 บาท ถ้านาย ก คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้า ราคาทองคำจะปรับขึ้นเป็นน้ำหนักบาทละ 14,500 บาท นาย ก จึงเข้าไปตรวจสอบราคาโกลด์ฟิวเจอร์ส และพบว่าราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดปลายเดือนมิถุนายน 2552 พบว่ามีราคาซื้อขายอยู่ที่น้ำหนักบาทละ 14,300 บาท

จากทัศนคติในการลงทุนผสมกับประสบการณ์ของการลงทุนที่ผ่านมาของ นาย ก ทำให้นาย ก คิดว่า ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่มีการซื้อขายกันในอนาคตนั้น มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นาย ก จึงตัดสินใจซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สครบกำหนดเดือนมิถุนายน ที่ราคา 14,300 บาท เพราะนาย ก คาดการณ์ว่าราคานั้นจะต้องขยับขึ้นในอนาคต สมมติให้โบรกเกอร์กำหนดระดับหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ที่ 50,000 บาทต่อสัญญา และหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ที่ 35,000 บาทต่อสัญญา (ในทางปฏิบัติระดับเงินประกันจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับราคาของ ทองคำ มุลค่าของสัญญา ความผันผวนตามของภาวะตลาด ฯลฯ)

    • ดังนั้นในวันที่ 1 มีนาคม นาย ก ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส ที่น้ำหนักบาทละ 14,300 บาท จำนวน 1 สัญญา พอสิ้นวัน โบรกเกอร์จะทำการคำนวณกำไรขาดทุน (Mark to Market) เพื่อคำนวณหามูลค่าของเงินในบัญชีของนาย ก โดยใช้ราคาที่ใช้ชำระราคา (Settlement Price) ซึ่งสำนักหักบัญชีจะประกาศให้ทราบทุกสิ้นวัน โดยมีมูลค่าเท่ากับ 14,380 บาท หักด้วยราคาที่ นาย ก ได้ทำการซื้อไว้ 14,300 บาท (เปรียบเหมือนการซื้อทองคำไว้ที่ ราคา 14,300 บาท แล้วขายได้ในราคา 14,380 บาท ทำให้เกิดกำไร 80 บาทต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท และ 1 สัญญานั้นมีทองคำน้ำหนักโดยรวม 50 บาท ทำให้ในวันที่ 1 ตอนสิ้นวัน นาย ก ได้กำไรคิดเป็นเงิน 4,000 บาท) **

วันที่ 1 กำไรของ นาย ก = (14,380 - 14,300) x 50 = 4,000 บาท (โกลด์ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา มีมูลค่าเท่ากับทองคำน้ำหนัก 50 บาท) ดังนั้น โบรกเกอร์ก็จะโอนเงินกำไรนี้เข้าบัญชีของนาย ก จึงทำให้ยอดเงินในบัญชีของนาย ก เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 + 4,000 = 54,000 บาท ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม ราคาทองคำ ณ สิ้นวัน เท่ากับ 14,100 บาท นาย ก จึงขาดทุน เพราะราคาทองคำเมื่อวานเท่ากับ 14,380 บาท แต่วันนี้เหลือเพียง 14,100 บาท ขาดทุนน้ำหนักบาทละ 280 บาท โดย 1 สัญญามีทองคำหนัก 50 บาท จึงทำให้ขาดทุน 14,000 บาท วันที่ 2 ขาดทุนของ นาย ก = (14,100 – 14,380) x 50 = -14,000 บาท เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ โบรกเกอร์จึงโอนเงินออกจากบัญชีของนาย ก ทำให้เงินประกันของนาย ก ลดลงเหลือเพียง 54,000 - 14,000 บาท = 40,000 บาท ในวันที่ 3 ราคาทองคำ ณ สิ้นวัน เท่ากับ 13,940 บาท ทำให้นาย ก ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก โดยทำการเปรียบเทียบกับวันก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 2 ราคาทองคำเท่ากับ 14,100 บาท แต่ในวันที่ 3 นี้ ราคาทองคำปรับลดลงอีกเป็น 13,940 ทำให้นาย ก ขาดทุน น้ำหนักทองคำบาทละ 160 บาท โดย 1 สัญญามีทองคำหนัก 50 บาท ทำให้สัญญานี้ขาดทุนอีก 8,000 บาท วันที่ 3 ขาดทุนของนาย ก = (13,940 – 14,100) x 50 = -8,000 บาท โดยเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โบรกเกอร์จึงโอนเงินออกจากบัญชีของนาย ก ทำให้เงินประกันของนาย ก ลดลงเหลือ 40,000 - 8,000 = 32,000 บาท ในวันที่ 3 นี้ นาย ก มีเงินประกันเหลือเพียง 32,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่มีระดับต่ำกว่าระดับหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ที่โบรกเกอร์กำหนดไว้ (ที่ระดับ35,000 บาท) นาย ก จึงต้องนำเงินไปวางในบัญชีเพิ่ม ให้เงินในบัญชีกลับไปรักษาระดับที่หลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) อีกครั้งหนึ่ง (ที่ระดับ 50,000 บาท) ดังนั้น นาย ก ต้องวางเงินเพิ่ม 50,000 – 3 2,000 = 18 ,000 บาท ต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม นาย ก ต้องนำเงินไปวางในบัญชีเพิ่มเติม 18,000 บาท และพอสิ้นวัน หากราคาที่ใช้ชำระราคาเท่ากับ 14,100 ทำให้ นาย ก ได้กำไร เพราะเมื่อวันที่ 3 ราคาทองคำเท่ากับ 13,940 บาท แต่มาในวันนี้ราคาทองคำขยับขึ้นเป็น 14,100 บาท ทำให้ นาย ก กำไร น้ำหนักบาทละ 160 บาท โดย 1 สัญญามีทองคำน้ำหนัก 50 บาท ดังนั้น นาย ก ได้รับกำไร 8,000 บาท วันที่ 4 กำไรของ นาย ก = (14,100 - 13,940) x 50 = 8,000 บาท การทำกำไรของนาย ก ในวันนี้ ทำให้ยอดเงินในบัญชีของนาย ก เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 + 8,000 = 58,000 บาท ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม นาย ก มีความคาดการณ์เปลี่ยนไปจากที่ได้ตั้งใจไว้ในตอนแรก และนาย ก ต้องการปิดสถานะของสัญญา นาย ก จึงส่งคำสั่งขายโกลด์ฟิวเจอร์สที่ราคา 14,200 บาท เพื่อปิดสถานะของสัญญา นาย ก จึงได้กำไรเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า (14,200 - 14,100) x 50 = 5,000 บาท และได้เงินคืนรวมทั้งหมด 58,000 + 5,000 = 63,000 บาท จากตัวอย่างข้างต้น นาย ก ขาดทุนทั้งสิ้น = (ราคาขาย – ราคาซื้อ) x น้ำหนักทองคำ = (14,200 - 14,300) x 50 = -5,000 บาท (ขาดทุน)Login Login (aitcthai.vip)

การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้นั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีความรู้และต้องมีการศึกษาถึงกลวิธี หรือกลยุทธ์ในการลงทุนให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุน และต้องมีการอบรม ศึกษาถึงกลยุทธ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ประเภทฟิวเจอร์ส หรือประเภทอื่น ๆ นั้น มีความเสี่ยงในการลงทุนค่อนข้างสูง การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สนั้นใช้เงินลงทุนน้อย เนื่องจากผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทั้งจำนวนในการซื้อขาย ผู้ลงทุนเพียงแค่วางเงินประกันแค่ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญา หากผู้ลงทุนลงทุนซื้อทองคำจริง ผู้ลงทุนต้องจ่ายเงินเต็มมูลค่า สมมติราคาทองคำน้ำหนักบาทละ 18,000 บาท หากผู้ลงทุนซื้อทองคำหนัก 50 บาท เพื่อหวังจะทำกำไรในอนาคต ผู้ลงทุนจะต้องมีเงินลงทุนสูงถึง 900,000 บาท แต่การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สนั้น ผู้ลงทุนจะจ่ายประมาณ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญาเพื่อเป็นเงินลงทุนเริ่มแรก (ทั้งนี้เงินลงทุนเริ่มแรกนี้ จะมีการปรับตามกลไกตลาด ซึ่งทางตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จะต้องเป็นผู้ประกาศ) การลงทุนด้วยเงินที่มีมูลค่าน้อยใน โกลด์ฟิวเจอร์ส นั้น หากผู้ลงทุนได้กำไร กำไรก็จะเป็นอัตราส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุน เพราะลงทุน ด้วยเงินน้อย แต่ได้รับผลตอบแทนสูง และในทางกลับกันหากผู้ลงทุนขาดทุน การขาดทุนนั้นก็จะเป็นอัตราส่วนที่สูงเช่นเดียวกัน เพราะผู้ลงทุนอาจสูญเสียทั้งเงินที่วางเป็นหลักประกันขั้นต้น และอาจถูกเรียก Margin Call ได้ในอีกหลายโอกาส การเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรคำนึงในการ ซื้อขาย เพราะโดยปกติแล้วราคาทองคำจะเคลื่อนไหวสวนทาง หรือเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท หรือเงินสกุลหลักอื่น ๆ ทั่วโลก จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนควรติดตามให้ความสนใจ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจในการลงทุนได้ ลักษณะของสัญญาฟิวเจอร์สนั้นจะมีอายุจำกัด ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในหุ้น และการลงทุนโดยการซื้อทองคำจริง ซึ่งการลงทุนแบบนี้จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์จริง ๆ จึงไม่มีวันหมดอายุ แต่หากผู้ลงทุนถือโกลด์ฟิวเจอร์สไปจนถึงวันครบอายุสัญญา ตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ก็จะมีการปิดสถานะของสัญญาให้ผู้ลงทุนโดยอัตโนมัติ ผู้ลงทุนจะได้กำไรขาดทุนเท่ากับส่วนต่างระหว่าง ราคาที่ซื้อหรือขายฟิวเจอร์สไว้ และราคาที่ใช้ชำระราคาวันสุดท้าย

ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรที่จะรู้จักกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ก่อน ตัดสินใจลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส และควรติดตามสถานะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเคลื่อนไหวของตลาดอนุพันธ์ จะมีการเคลื่อนไหวที่ไวกว่าตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น โอกาสในการทำกำไรและโอกาสในการขาดทุน จึงมีโอกาสในการเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว ผู้ลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สนั้น โดยทั่วไปจะเป็นนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาเพื่อเก็งกำไร แต่ในทางปฏิบัติแล้วนักลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นสามารถกำหนดได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

ผู้ที่ต้องการใช้ตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยง (Hedger)
ผู้ที่เข้ามาลงทุนในตราสารอนุพันธ์ เพื่อสาเหตุหลัก คือ การป้องกันความเสี่ยง โดยที่ผู้ลงทุนอาจจะเป็นผู้ที่มีทองคำอยู่ในครอบครอง แต่คาดว่าราคาทองคำนั้นจะมีแนวโน้มลดลง กลัวว่าตนเองนั้นจะขายทองคำออกได้ไม่ทัน เมื่อราคาทองคำมีแนวโน้มลดลงจึงทำการขายโกลด์ฟิวเจอร์ส เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลดลงของราคาทองคำในอนาคต แต่ถ้าผู้ลงทุนไม่มีทองคำอยู่ในครอบครองแต่มีความต้องการที่จะซื้อทองคำในอนาคต แต่กลัวว่าราคาทองคำจะแพงขึ้น จึงทำการซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในอนาคต
ผู้ที่ต้องการเก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ (Speculator)
ผู้ที่เข้ามาลงทุนเพื่อหวังส่วนต่างของราคาซื้อขายในอนาคต กับราคาสินทรัพย์จริง โดยผู้ลงทุนแบบนี้จะยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ หากราคาไม่เป็นไปตามที่ได้คาดไว้ โดยหลักการในการลงทุนคือ ผู้ลงทุนจะซื้อโกล์ดฟิวเจอร์ส เมื่อคาดว่าราคาของทองคำจะมีแนวโน้มเพื่อขึ้น เพื่อทำกำไรในอนาคต แต่ผู้ลงทุนจะขายโกลด์ฟิวเจอร์ส เมื่อคาดว่าราคาของทองคำจะมีแนวโน้มลดลง เพื่อทำกำไรเช่นเดียวกัน แต่หากราคาทองคำไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ผู้ลงทุนเหล่านี้จะมีผลการลงทุนขาดทุนจำนวนมาก
ผู้ค้ากำไรจากความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสาร (Arbitrageur)
ผู้ลงทุนที่ลงทุนในตลาด 2 แห่งพร้อมกัน เพื่อหวังผลจะทำกำไรจาก 2 ตลาด ด้วยเหตุของความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสารแต่ความแตกต่างกันของข้อมูลข่าวสารของตลาดนั้นมีไม่นานนัก

การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลทั้งทางวิชาการ และการปฏิบัติอีกมากในการลงทุน ข้อมูลที่ผู้เขียนแนะนำถึงนี้เป็นข้อมูลในเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจในขั้นตอนของการลงทุนเท่านั้น ซึ่งหากผู้ลงทุนต้องการที่จะลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สจริง ผู้ลงทุนจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุน เพราะมิฉะนั้นผู้ลงทุนจะมีข้อมูลไม่เพียงพอกับการตัดสินใจลงทุน เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสีย และความเสี่ยงในการลงทุนได้ในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. 2557. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์ สำนักพิมพ์แมคกรอ ฮิล
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. 2557. การบริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์แมคกรอ ฮิล
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 1) ASTVผู้จัดการรายวัน 11 กุมภาพันธ์ 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 2) ASTVผู้จัดการรายวัน 18 กุมภาพันธ์ 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 3) ASTVผู้จัดการรายวัน 25 กุมภาพันธ์ 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 4) ASTVผู้จัดการรายวัน 4 มีนาคม 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอนจบ) ASTVผู้จัดการรายวัน 11 มีนาคม 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
  • John C. Hull, Options, Futures, and Other Derivatives (5th Edition)

ราคาทองคำล่าสุด ราคาทองคำวันนี้ ราคาทองคำ