ศรีวิไจย (โข้)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศรีวิไจย โข้)
ศรีวิไจย โข้
เกิดพ.ศ. 2400 นครแพร่
เสียชีวิตพ.ศ. 2472
อาชีพกวีเขียนค่าว
หัวข้อกวีนิพนธ์
ผลงานที่สำคัญค่าวเงี้ยวปล้นคุ้มหลวง
คู่สมรส• ตุ่น (เสียชีวิต)
• จันทร์สม

ศรีวิไจย โข้ หรือศรีวิชัย โข้ ผู้แต่งค่าวสำคัญๆ หลายสำนานเป็นกวีผู้มีชื่อเสียงของล้านนาและเมืองนครแพร่ เนื้อหาค่าวของศรีวิไจยโข้ผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่จึงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญจากผลงานของกวีบอดผู้นี้“อนาถจิตคิดไปไม่ประจักษ์ ทรลักษณ์ตาทะเล้นไม่เห็นหน เดินก็ได้พูดก็ดังชั่งวิกล มามืดมนนัยน์ตาบ้าบรม” เพชรเม็ดงามของชาวแพร่ ด้วยความเป็นกวีที่มีพรสวรรค์มาตั้งแต่กำเนิด ศรีวิไจย (โข้)

ประวัติ[แก้]

ศรีวิไจย (โข้) มีชื่อเดิมว่า โข้ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2400 ณ บ้านสีลอ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 4 ของเจ้าน้อยเทพ และนางแก้ว เทพยศ ชาวบ้านมักจะเรียกท่านว่า ศรีวิไจยโข้ บางทีก็เรียกว่า พ่อต๋า ภรรยาคนแรก ชื่อ นางตุ่น มีบุตร 2 คน ชีวิตวัยเด็ก ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 4 – 5 พรรษา ณ วัดศรีบุญเรือง จังหวัดแพร่หลังจากนั้นลาสิกขาบทออกมา แล้วได้แต่งกาพย์ธรรมะ ซึ่งพรรณนาถึงความทุกข์ของคน ชื่อว่า “กาพย์ฮ่ำตุ๊ก” แต่เดิมท่านประกอบอาชีพค้าจนกระทั่งภรรยาคนแรกเสียชีวิตลง จึงได้นำบุตรชายไปฝากพี่สาวอุปการระ ส่วนตัวเองเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดน่าน กระทั่งล้มป่วยด้วยกามโรค จึงกลับมาอยู่จังหวัดแพร่ แล้วต่อมานัยน์ตาท่านก็บอด เมื่ออายุ 25 ปี ชีวิตต่อจากนั้น ท่านได้รับจ้างเขียนค่าว – ฮ่ำ อย่างเดียว แต่ปัญหาผู้ว่าจ้างท่าเขียนค่าว – ฮ่ำ ต้องนั่งจดตามคำบอก จึงทำให้ผู้อยากได้บทกวีแต่ไม่มีเวลาต้องเสียโอกาส ท่านศรีวิไจย (โข้) จึงได้ภรรยามาเป็นคู่ชีวิต คู่ทุกข์คู่ยากของท่านคนหนึ่งชื่อ จันทร์สม เป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างหน้าตาไม่เลวนักและคุณสมบัติอันประเสิรฐยิ่งยากที่จะหาได้ในสตรีสมัยนั้นก็คือ จันทร์สมผู้นี้เป็นคนมีความรู้ในทางเขียนอ่านคล่องแคล่วเป็นพิเศษสามารถถ่ายทอดบทกวีที่กลั่นกรองจากสมองของท่านจอมกวีออกมาเป็นตัวอักษร ทั้งเจ้าหล่อนก็คงจะเป็นคนหนึ่งซึ่งซาบซึ้งในมธุรสพจน์ประพันธ์ของท่านกวีศรีวิไจยโข้ ศรีวิไจย โข้เป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบในการแต่งค่าว เมื่อแต่งงานกับนางจันทร์สมได้ให้นางสมเป็นเสมียนจดคำประพันธ์ตามคำบอก หลังจากที่นางจันทร์สม ภรรยาศรีวิไจยโข้ ถึงแก่กรรมท่านก็ไม่ได้แต่งค่าวใดๆอีก และได้อาศัยอยู่กับลูก ๆ หลาน ๆ ต่อมาจนวาระสุดท้าย ท่านก็ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2472 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 10 ปี สิริรวมอายุได้ 72 ปี ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ที่วัดศรีบุญเรือง จังหวัดแพร่

ผลงาน[แก้]

ผลงานสำคัญของท่านศรีวิไจย โข้

  • กาพย์ฮ่ำตุ๊ก
  • ค่าวซอบัวรวงศ์หงส์อามาตย์
  • ค่าวซอสมภมิตร
  • ค่าวซอสุวัณณเมฆะหมาขนคำ
  • ค่าวซอจันทกุมาร
  • ค่าวเจ้าสังคะนะ
  • ค่าวฮ่ำคุ้มหลวง
  • ค่าวเงี้ยวปล้นคุ้มหลวง
  • ค่าวสั้นเรื่องเจ้าดำหนีตามชู้
  • ค่าวก่อสร้างของครูบาศรีวิชัย
  • ค่าวหงษา
  • ค่าวฮ่ำดอกเอื้อง

ค่าวเงี้ยวปล้นคุ้มหลวงถือเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพราะแต่งในปีหลังเกิดเหตุ โดยในเนื้อหาได้กล่าวถึงเจ้าพิริยเทพวงษ์ไม่ให้ความช่วยเหลือพระยาไชยบูรณ์ที่ต้องการสู้รบกับกบฏเงี้ยว ซึ่งแม้จะตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ซึ่งอาจจะผู้มีอำนาจในระดับประเทศจ้างมาให้ทราบเพื่อให้ได้ความชอบธรรมแก่ตนเอง

อ้างอิง[แก้]

  • ศรีศักร วัลลิโภดม และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบัน ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. 2551 หน้า 128 – 129