ข้ามไปเนื้อหา

วิหารเดโบด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิหารเดโบด
วิหารโบราณอียิปต์เดโบด ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน
ลายสลักบนกำแพงด้านในวิหาร
ภาพถ่ายเมื่อครั้งยังอยู่ที่นิวเบียร์ ประเทศอียิปต์

วิหารเดโบด (สเปน: Templo de Debod) เป็นวิหารอียิปต์โบราณ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของประเทศสเปน ใกล้กับปลาซาเดเอสปัญญา (Plaza de España) โดยยังคงลักษณะการวางตำแหน่งของวิหารให้ใกล้เคียงกับแบบดั้งเดิม คือการวางเรียงตัวจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก

วิหารโบราณแห่งนี้เป็นของขวัญที่ประเทศอียิปต์มอบให้กับประเทศสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1968 จากการร้องขอความช่วยเหลือผ่านทางองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการรักษาโบราณสถานในภูมิภาคนิวเบีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิหารอะบูซิมเบล) จากความกังวลในการที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการสร้างเขื่อนอัสวาน ด้วยเหตุนี้ทางการของประเทศอียิปต์จึงได้มอบวิหารโบราณสี่แห่งให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือดังนี้ วิหารเดนดูร์ให้กับสหรัฐอเมริกา วิหารเอลเลซิยาให้กับประเทศอิตาลี วิหารตาฟฟาให้กับประเทศเนเธอแลนด์ และวิหารเดโบดให้กับประเทศสเปน

ในปัจจุบันวิหารอียิปต์โบราณแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงมาดริดทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวมาดริดเอง โดยเวลาที่นิยมเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งนี้คือเวลายามเย็นก่อนไปจนถึงหลังพระอาทิตย์ตกดิน นอกจากนี้ตำแหน่งที่ตั้งสามารถใช้เป็นจุดชมวิว วังหลวงของกรุงมาดริด (Palacio Real de Madrid) ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันได้อีกด้วย

ประวัติ

[แก้]

ที่ตั้งเดิมของวิหารแห่งนี้อยู่บนพื้นที่เล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ในภูมิภาคนิวเบีย ทางตอนใต้ประเทศอียิปต์ปัจจุบัน มีชื่อเรียกเดียวกันว่า เดโบด สร้างในสมัยของพระเจ้าทอเลมีที่ 4 ฟิโลเพเตอร์ เมื่อ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช จุดประสงค์ของการสร้างวัดเดโบดนี้ก็เพื่อใช้เป็นที่บูชาเทพอามอนแห่งเมืองเดโบด ตามความเชื่อในสมัยก่อน

การเคลื่อนย้ายและการก่อสร้างใหม่ที่สเปน

[แก้]

การทำการเคลื่อนย้ายวัดเดโบดทั้งวัดจากประเทศอียิปต์สู่ประเทศสเปนนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทางการประเทศอียิปต์ได้มอบแผนผังพร้อมกับภาพร่างของวัดและรูปถ่ายบางรูปที่ไม่มีการอ้างอิงใด ๆ เนื่องด้วยระยะทางที่ไกลมากระหว่างสองประเทศ ทำให้มีแท่นหินหายไปมากกว่าร้อยชิ้นในระหว่างการขนส่ง เมื่อถึงที่หมายแล้วยังพบปัญหาหมายเลขอ้างอิงบนบางแท่นหินไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในแผนผัง อย่างไรก็ดี ทางประเทศสเปนได้แก้ปัญหาเหล่านี้โดยการใช้การก่อสร้างแบบแอนัสไตโลซิส (anastylosis) ในส่วนของชิ้นส่วนที่ขาดหายไปนั้นก็ได้นำหินจากจังหวัดซาลามังกา มาใช้สร้างทดแทน

อ้างอิง

[แก้]