ข้ามไปเนื้อหา

วิลเลิม เดอ โกนิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิลเลิม เดอ โกนิง
เกิดวิลเลิม เดอ โกนิง
24 เมษายน ค.ศ. 1904(1904-04-24)
รอตเทอร์ดาม, เนเธอร์แลนด์
เสียชีวิต19 มีนาคม ค.ศ. 1997(1997-03-19) (92 ปี)
ลองไอแลนด์, สหรัฐอเมริกา
อาชีพศิลปิน, จิตรกร, ประติมากร
แนวร่วมในทางวรรณคดีลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม

วิลเลิม เดอ โกนิง (ดัตช์: Willem de Kooning; 24 เมษายน ค.ศ. 1904 - 19 มีนาคม ค.ศ. 1997) ศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายดัตช์ เกิดที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะที่เมืองนิวยอร์กโดยเป็นศิลปินหนึ่งใน 38 คนที่ได้รับเชิญจากสภาเมืองเพื่อวาดภาพผนังสาธารณะภายใต้โครงการพัฒนาชาติจำนวน 105 แห่ง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจำนวนศิลปินหัวก้าวหน้าของอเมริกาในยุคต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นสมาชิกกลุ่มสำนักศิลปะนิวยอร์ก (New York School) ที่ประกอบด้วยศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ แจ็กสัน พอลล็อก, ลี แครสเนอร์, ฟรานซ์ ไคลน์, มาร์ก รอทโก, ฮันส์ ฮอฟมันน์ และคลิฟฟอร์ด สติลล์ อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงของลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบนามธรรม (abstract expressionism) หรือในบางครั้งถูกเรียกว่า "กัมมันตจิตรกรรม" (action painting)

ประวัติ

[แก้]

ช่วงเริ่มต้นสู่การเป็นศิลปิน

[แก้]

วิลเลิม เดอ โกนิง เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1904 ที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำเนิดจากพ่อชื่อ เลนเดิร์ต เดอ โกนิง (Leendert de Kooning) และแม่ชื่อ กอร์เนลียา โนเบิล (Cornelia Nobel) พ่อกับแม่ของเขาหย่ากันตอนวิลเลิมอายุได้ 3 ขวบเท่านั้น เขาอาศัยอยู่กับแม่ ชีวิตในวัยเด็กต้องอยู่ด้วยความยากจนและลำบาก เมื่ออายุ 12 ปี เขาต้องออกจากโรงเรียนและหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานเป็นช่างศิลป์ทั่วไปในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืน เขาได้เข้ารับการศึกษาที่สถาบันศิลปะแห่งเมืองรอตเทอร์ดามทำให้เขาได้พบกับอาจารย์คนนึงซึ่งแนะนำเขาให้ได้รู้จักกับกลุ่มเดอสไตล์ (De Stijl) ลักษณะผลงานจากกลุ่มนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อความคิดของเขาเป็นอย่างมากโดยเน้นความบริสุทธิ์ของสีและรูปแบบ

จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

[แก้]

ค.ศ. 1926 (อายุ 22 ปี) เดอ โกนิงได้เดินทางลี้ภัยสู่สหรัฐอเมริกา เขาได้ย้ายเมืองไปมาอยู่หลายที่จนในที่สุดได้ย้ายมาลงหลักปักฐานที่นิวยอร์กโดยยึดอาชีพเดิม ๆ ของเขาในการหาเลี้ยงชีพคือ ทาสีบ้าน ออกแบบหน้าต่าง ออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปะทางการค้าทั้งสิ้น ช่วงนั้นเขายังไม่สามารถทำงานศิลปะที่เขารักได้สักที จนกระทั่งเมื่อเขาได้กลุ่มพบกลุ่มศิลปินในนิวยอร์ก เขารู้สึกว่ากลุ่มศิลปินดังกล่าวมีคุณค่าเกินกว่าที่เขาจะออกจากที่นี้ได้แม้ว่ามีงานที่ดีเสนอให้เขาในฟิลาเดเฟีย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเขาอยากจะอยู่อย่างยากไร้ในนิวยอร์ก ดีกว่าไปร่ำรวยในฟิลาเดเฟีย[1]

หลังจากนั้นได้พบกับจอห์น เกรอัม, สจวร์ต เดวิส และอาร์ชีล กอร์กี ซึ่งได้ทำงานร่วมกันให้กับสภาเมืองเพื่อวาดจิตรกรรมฝาผนังสาธารณะระหว่างปี ค.ศ. 1935-1939 กอร์กีเป็นผู้ที่ให้อิทธิพลต่อ เดอ โกนิงมากที่สุด (กอร์กีเคยทำงานรวมกับปาโบล ปีกัสโซในลัทธิบาศกนิยม และชูอัน มีโรในลัทธิเหนือจริง) อีกทั้งเดอ โกนิงประทับใจนิทรรศการที่เขาเห็นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ในปี ค.ศ. 1936 "คิวบิสม์และแอ็บสแตรกต์" และ "แฟนแทสติกอาร์ต, ดาดา และเซอร์เรียลลิสม์" รวมถึงผลงานของปีกัสโซที่นำมาแสดงพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1939 เขาได้รับอิทธิพลศิลปะนี้อย่างมาก

ต่อมาเขาได้ใช้สตูดิโอร่วมกับกอร์กี ภาพแรกของเขาได้รับอิทธิพลจากแบบอย่างเหนือจริงจากกอร์กีกับแรงบันดาลในแบบอย่างปีกัสโซ อย่างไรก็ตาม เดอ โกนิงได้แรงบันดาลใจจากสาขา Gestural ของสกุลศิลปะนิวยอร์กเช่นเดียวกับแจ็กสัน พอลล็อก และฟรานซ์ ไคลน์ เขาได้ติดต่อกับพอลล็อกและไคลน์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เดอ โกนิงทำผลงานสีขาว-ดำที่เป็นนามธรรมในปี ค.ศ. 1946 เขากลับไปยังทำงานลักษณะนั้นอีกในปี ค.ศ. 1959

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ค.ศ. 1938 วิลเลิมได้พบกับอิเลน มารี ไฟรด์ (Elaine Marie Fried) และได้แต่งงานกันในที่สุดใน ค.ศ. 1943 ภายหลังรู้จักกันดีในชื่อ อิเลน เดอ โกนิง ทั้งสองได้กลายมาเป็นศิลปินในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม ชีวิตคู่ของทั้งสองเต็มไปด้วยมรสุม ทั้งสองต่างมีชู้และแยกย้ายกันไปในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 เดอ โกนิงมีลูกกับผู้หญิงคนอื่น ในขณะที่มีความสัมพันธ์อยู่กับรูท คลิกแมน อดีตคนรักของแจ็กสัน พอลล็อก อย่างไรก็ดีกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 ทั้งอิเลนและเดอ โกนิงก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันจนอิเลนได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1989

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

[แก้]

ปี ค.ศ. 1950 เขาได้ทำผลงาน การขุด ออกมาและได้รับการจัดแสดงที่ศาลาแสดงภาพอเมริกัน (American Pavilion) ในงานนิทรรศการเวนิสบีเอนนาเล นับเป็นการจัดแสดงต่างประเทศของเดอ โกนิงเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสำคัญของเขา ในปีถัดมา เดอ โกนิงได้รับรางวัล Purchase Price จากสถาบันศิลปะชิคาโก เพียงแต่เส้นทางศิลปินของเขาจะเป็นที่ยอมรับในสถาบันศิลปะและนั่นหากยังเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาศิลปะของเดอ โกนิงอีกด้วย เพราะหลังจากนั้นศิลปะได้สร้างผลงานชุด ผู้หญิง ออกมา[2]

ช่วงปี ค.ศ. 1950-1953 เดอ โกนิงได้วาดจิตรกรรมชุด ผู้หญิง จิตรกรรมชุดนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก โดยเป็นภาพที่แสดงภาวะของความจริงและนามธรรมเข้าด้วยกัน ผลงานชุดนี้ไม่ได้เป็นนามธรรมโดยแท้ เพราะยังพอเห็นเป็นรูปร่างว่าเป็นรูปอะไร หรือเรียกได้ว่า ภาพกึ่งนามธรรม (semi-abstract) แต่ลีลาการใช่พู่กันของเดอ โกนิงได้แสดงออกถึงกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์อย่างเต็มที่ ในปี ค.ศ. 1951 เดอ โกนิงได้ประกาศจุดยืนของเขาอย่างชัดเจนว่า "จิตรกรรมคือ การระบายสี เป็นวิถีทางของชีวิต เป็นรูปแบบหนึ่ง"[3] และเขาก็ได้วาดรูปในลักษณะนี้เรื่อยมาในปี ค.ศ. 1955-1966 เขาได้สนใจวาดภาพภูมิประเทศทั้งในเมืองที่เจริญและธรรมชาติในลักษณะนามธรรมอีกด้วย จนถึงขั้นย้ายไปอยู่ที่อีสต์แฮมป์ตันชั่วคราวและมีสตูดิโอขนาดใหญ่

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

ปี ค.ศ. 1963 เดอ โกนิงได้ย้ายออกจากนิวยอร์ก และเมื่อปี ค.ศ. 1964 เขาได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาคือ "เหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี" จนในที่สุดไปลงหลักปักฐานที่อยู่บั้นปลายชีวิตที่ลองไอแลนด์ในปี ค.ศ. 1970 เขาได้หันไปทำงานประติมากรรมร่วมกับภาพจิตรกรรมเรื่อยมา จนกระทั่ง เดอ โกนิงได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1997 ขณะที่อายุ 92 ปี

รูปแบบการทำงาน

[แก้]

เดอ โกนิงในวัยเด็กได้ฝึกฝนทักษะทางศิลปะตั้งแต่ตอนเรียนที่สถาบันศิลปะรอตเทอร์ดามและย้ายมานิวยอร์ก ตอนอายุแค่ 22 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็อุทิศตัวทำงานเพื่อศิลปะในเมืองนี้เรื่อยมา แม้เดอ โกนิงจะได้รับอิทธิพลจากลัทธิบาศกนิยมอย่างชัดเจน แต่เขากลับให้สัมภาษณ์ว่า "ผมเป็นจิตรกรที่สรรหาแรงบันดาลใจจากแหล่งต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เวลาเปิดหนังสือศิลปะ ผมอาจแจอภาพเลียนแบบของใครบางคนแล้วเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาก็ได้"[4] เดอ โกนิงเห็นถึงความสำคัญของการสร้างงานศิลปะว่าเป็นการแสดงออกอย่างเสรี การวาดของเขาแต่ละครั้งจะใช้ฝีแปรงปาดอย่างรวดเร็วด้วยการเหวี่ยงแขนอย่างรุนแรง การสลัดพู่กันอย่างอิสระ และการใช้สีสันสดใส ซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นของเดอ โกนิง เขาเคยกล่าวว่า ในธรรมชาติจริงมีแต่ความไร้ระเบียบ เป็นหน้าที่ของศิลปินที่ต้องจัดระเบียบของธรรมชาติในงานศิลปะ

ผลงานในคตินามธรรมของเดอ โกนิงปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 ซึ่งเป็นผลงานขณะอาศัยอยู่ร่วมกับกอร์กี ทั้งสองรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งในขณะนั้นเดอ โกนิงได้สร้างงาน 2 แบบร่วมกันคือ แนวนามธรรม โดยภาพยังสามารถเข้าใจถึงรูปทรงได้ง่าย ต่อมาได้รับอิทธิผลทางรูปแบบและความคิดของซูทีน (Soutine) จิตรกรสำคัญในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ หลังจากนั้นจึงได้พัฒนารูปแบบสู่ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีความกล้าในการใช้ฝีแปรงที่เด็ดขาด รวดเร็วแสดงออกถึงความเข้มข้นของอารมณ์สีสันสดใสซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดนเด่นของเดอ โกนิงที่ส่งผ่านงานในรูปแบบนามธรรมในแบบฉบับของเขาที่มีความเชื่อว่าอารมณ์ที่เขาส่งผ่านมานั้นผู้ชมจะสามารถรู้สึกถึงมันได้ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือภาพชุด ผู้หญิง

ผลงานชิ้นสำคัญ

[แก้]

ผลงานชุด การขุด

[แก้]

ภาพ การขุด (Excavation; ค.ศ. 1946-1950) ได้รับแรงบันดาลใจจากหลาย ๆ อย่างตามที่เขาเคยได้ให้สัมภาษณ์ ภาพนี้เป็นภาพที่ขนาดใหญ่ที่สุดของศิลปิน ขนาดของภาพบวกกับการใช้สีขาวงาช้างขุ่น ๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกำแพงกราฟิกที่เต็มไปด้วยเส้นตัดสีดำแยกชิ้นส่วนของภาพออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทั้งนี้อาจเพราะช่วงปี ค.ศ. 1930 เดอ โกนิงได้เป็นส่วนหนึ่งของฝาผนังสาธารณะโดยรัฐบาลภายใต้โครงการพัฒนาชาติ

ความหยาบของเส้นทำให้นึกถึงการต่องสู้ที่คึกโครม เรามักได้ยินว่าภาพ การขุด นี้ได้รับอิทธิพลมาจากภาพต่อต้านสงคราวอย่างภาพ เกร์นีกา ของปีกัสโซ อีกทั้งฉากภาพยนตร์ขาวดำที่โด่งดังเรื่อง รีโซอามาโร รวมถึงเดอ โกนิงยังได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในชีวิตทั่ว ๆ ไป เช่น การขุดเจาะในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งชื่อผลงานนี้ด้วย ภาพ การขุด เป็นการแสดงถึงความประทับใจที่มีต่อภาพยุคก่อน ๆ ซึ่งได้มาจากการขุดค้นทางประวัติศาสตร์อันเป็นหลักฐานการล่มสลายของมนุษย์สมัยโบราณ โดยศิลปินมีบทบาทในการขุดภาพนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากต้องประสบกับฉากการทำลายล้างที่หดหู่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ศิลปินในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมจึงหันมาสนในกับศิลปะดั้งเดิมเช่นกัน[5]

ผลงานชุด ผู้หญิง

[แก้]

ภาพชุด ผู้หญิง (Women; ค.ศ. 1950-1953) ได้นำไปจัดแสดงในห้องภาพชื่อดังอย่างห้องภาพของซิดนีย์ แจนิส โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า ภาพวาดในหัวข้อผู้หญิง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากนิตยสารอาร์ตนิวส์ ด้วยความโด่งดังนี่เอง พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่จึงซื้อภาพชุด ผู้หญิง นี้ไป แต่ทั้ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ภาพชุด ผู้หญิง ของเดอ โกนิงกลับถูกผู้ชมและนักวิจารณ์หลายคนกล่าวถึงว่าเป็นเงามืดแห่งสกุลศิลปะนิวยอร์กซึ่งประสบความสำเร็จจากจิตรกรรมแบบนามธรรม แต่ผลงานของเดอ โกนิงกลับเห็นโครงร่างของมนุษย์ชัดเจน สลับกับจังหวะที่เป็นเชิงนามธรรมบ้าง มีลักษณะการวาดแนวตวัดแขนไปมา สลัดพู่กันหรือแปรงอย่างรุนแรงและอิสระ นักวิจารณ์ได้กล่าวถึงผู้หญิงของเดอ โกนิงว่า รูปร่างเหมือนคมสิ่ว ตาถลน ฟันเหยิน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะยุคโบราณซึ่งเป็นนัยยะของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ปัจจัยความงามเป็นหลัก เช่น ภาพมาริลิน มอนโร (หนึ่งในชุด ผู้หญิง)

ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เดอ โกนิงต้องการพยายามหลีกเลี่ยงตัวเองจากการผูกมัดกับขั้วนามธรรมหรือรูปธรรมฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชัดเจน โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ศิลปินและนักวิจารณ์บางคนโจมตีผมที่วาดภาพชุด ผู้หญิง ออกมา แต่ผมกลับมองว่านั่นเป็นปัญหาของพวกเขา ไม่ใช่ปัญหาของผมสักนิด ทุกวันนี้ศิลปินบางคนอยากจะกลับไปวาดรูปที่สามารถจับต้องได้ แต่คำว่า รูปที่จับต้องได้ กลายเป็นเหมือนคำสาป ถ้าเอาแปรงไปจุ่มสีแล้วเอาไปวาดรูปจมูกใครสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในแง่ทฤษฎีหรือปฏิบัติคงตลกน่าดู เป็นเรื่องไร้สาระงี่เง่าจะตายไปสำหรับทุกวันนี้ หากเราจะเอาสีมาวาดภาพสักภาพให้เหมือนคน ลองมาคิด ๆ ดูแล้วปัญหามันยังอยู่ ไม่ว่าเราจะวาดหรือไม่วาดก็ตาม ทุกอย่างจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ถ้าไม่มีใครยอดวาดรูปเลย ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะวาดรูปตามใจต้องการ"[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.theartstory.org/artist-de-kooning-willem.htm
  2. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 50.
  3. กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554, หน้า 322.
  4. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 56.
  5. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 50.
  6. บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552, หน้า 56.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2545.
  • บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. แปลโดย อนิมา ทัศจันทร์. เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552.
  • Cateforis, David. Willem de Kooning. New York: Rizzoli International, 1994.
  • Hess, Thomas B. Willem de Kooning. New York: The Museum of Modern Art, 1968.
  • Metropolitan Museum of Art (New York, N.Y) and the High Museum of Art, Atlanta. Abstract Expressionism: Works on Paper. New York, 1993.
  • http://www.willem-de-kooning.com/
  • http://www.theartstory.org/artist-de-kooning-willem.htm
  • http://www.moma.org/search?query=de+kooning

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]