วินัย (นิกาย)
นิกายวินัย (律宗: ลวื่อจง) ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง โดยพระภิกษุต้าวซ่วน นิกายนี้ถือพระวินัยเป็นสิ่งสำคัญสุด โดยถือตามพุทธดำรัสที่ว่า "ธรรมวินัยนี้จักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว" คัมภีร์สำคัญของนิกายนี้คือ จตุรงควินัย (四分律: ซื่อเฟินลฺวื่อ) พระวินัยของนิกายนี้ใกล้เคียงกับฝ่ายเถรวาท ภิกษุรักษาวินัย 250 ข้อ ภิกษุณีรักษาวินัย 350 ข้อ[1]
บูรพาจารย์
[แก้]นิกายวินัย สถาปนาขึ้นโดยพระเถระต้าวซ่วน (道宣) ในสมัยราชวงศ์ถัง เรียกว่า นิกายวินัยแห่งหนานซาน (南山律宗) ตามสถานที่พำนักของพระมหาเถระต้าวซ่วน ซึ่งอยู่ ณ ภูเขาจงหนานซาน (终南山) เบื้องนอกนครฉางอาน อันเป็นสถานที่พำนักบำเพ็ญเพียรของบรรพชิตในศาสนาพุทธ และนักพรตในศาสนาเต๋า อนึ่ง พระเถระต้าวซ่วน แม้จะเป็นผู้ก่อตั้งนิกาย แต่ท่านถือว่าเป็นบูรพาจารย์ลำดับที่ 9 เนื่องจากนับคณาจารย์ในชมพูทวีปด้วย แต่หากนับลำดับในจีน ท่านจะถือเป็นปฐมบูรพาจารย์[2]
แต่เดิมนั้น นิกายวินัยในจีนเป็นเพียงสำนักที่เน้นการศึกษาพระวินัยเป็นหลัก โดยเหตุที่พระวินัยในจีนอิงกับพระวินัยของ 4 นิกาย คือ วินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปตะ, วินัยปิฎกของนิกายสรวาสติวาทิน, วินัยปิฎกของนิกายมหิศาสกะ และ วินัยปิฎกของนิกายมหาสังฆิกะ [3] ซึ่งเรียกรวมกันว่า จตุรงควินัย หรือ จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย (四分律) สำนักที่ศึกษาพระวินัย จึงพลอยเรียกว่า นิกายจตุรงควินัย (四分律宗)
ต่อมาในยุคของเถระต้าวซ่วน ท่านได้ศึกษาพระวินัยฉบับต่าง ๆ และนำพระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปตะมาเป็นรากฐานการศึกษา แล้วเทียบเคียงกับคำสอนของนิกายต่าง ๆ ท่านยังรจนาอรรถกถาพระวินัยจำนวน 5 ปกรณ์ วางข้อกำหนดเกี่ยวกับการอุปสมบท และวางสีมาอุปสมบทที่วัดจิ้งเย่ นับเป็นการสถาปนานิกายวินัย หรือ ลฺวื่อจง ในเชิงสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ[4] [5]
การสืบทอด
[แก้]นิกายวินัยรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะยุคของพระเถระต้าวซ่วน มีการรจนาปกรณ์อธิบายพระวินัยหลายฉบับ ต่อมาโรยราลงอย่างมากในยุคกวาดล้างพุทธศาสนารัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง กระทั่งในสมัยราชวงศ์ซ่งเริ่มคึกคักอีกครั้ง มีพระเถระหยุ่นคาน (允堪) รจนาฎีกาอธิบายอรรถกถาของพระเถระต้าวซ่วน และมีการสร้างสีมาอุปสมบทพระอารามสำคัญ[6]
ครั้นถึงสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง นิกายวินัยโรยราอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง มีพระเถระนามว่า กู่ซิน (古心) เดินทางไปยังอู่ไถซาน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งพระโพธิสัตว์มัญชุศรี ท่านเดินทางจาริกด้วยเท้าไปอู่ไถซานานถึง 3 ปี ครั้นแล้วบังเกิดนิมิตว่าพระโพธิสัตว์มัญชุศรีมาสอนพระวินัยแก่ท่านอย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเกิดศรัทธาที่จะพื้นฟูพระวินัยอีกครั้ง โดยฟื้นฟูการศึกษาคัมภีร์ และอุปสมบทวิธี จนท่านได้รับฉายาว่า เป็นพระอุบาลีท่านที่สอง การฟื้นฟูของท่าน กู่ซิน ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้นิกายวินัยแพร่หลายไปทั่วจีนอีกครั้ง จากราชวงศ์หมิง สืบต่อมาถึงราชวงศ์ชิง[7]
กระทั่งถึงยุคสาธารณรัฐ พระเถระหงอี (弘一) ได้ฟื้นฟูนิกายวินัยอีกครั้ง ด้วยการศึกษาปกรณ์ของพระเถระต้าวซ่วน ส่งเสริมการรักษาสิกขาบทอย่างเคร่งครัด อีกทั้งตัวท่านยังวัตรปฏิบัติงดงาม มีความพากเพียรในการส่งเสริมพุทธศาสนา ยังศรัทธาให้เกิดแก่สาธุชนจีนอย่างมหาศาล นับเป็นการสืบทอดนิกายวินัยมิให้สูญหายครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง [8]
คำสอน
[แก้]นิกายนี้ถือว่า ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ปัญญาก็ยากจะเกิดขึ้นได้ และได้แบ่งประเภทของศีลออกตามคติมหายาน คือ ตรีวิสุทธิศีล อันได้แก่
- สัมภารสังคหศีล (เนียบลุกงีก่าย) ได้แก่การงดเว้น การประกอบอกุศลกรรม ที่ผิดบทบัญญัติแห่งวินัย
- กุศลสังคหศีล (เนียบเสียงฮวบก่าย) ได้แก่การประกอบกุศลกรรมไม่ขาด
- สัตตวารถกริยาสังคหศีล (เนียบโจ้งเซงก่าย) ได้แก่การบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์
ทั้ง 3 ประการนี้ต่างอาศัยกัน เช่น งดเว้นปาณาติบาต จัดเป็นสัมภารสังคหศีล เมื่อไม่ฆ่าจิตก็เป็นกุศล จัดเป็นกุศลสังคหศีล และเมื่อจิตเป็นกุศลก็พลอยมีเมตตากรุณาช่วยเหลือสัตว์ จัดเป็นสัตตวารถกริยาสังคหศีล[9]
นิกายนี้ยังได้จัดระยะกาลแห่งพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์เป็น 3 คือ
- ซิกฮวบจง ได้แก่ฝ่ายสรวาสติวาทิน ถือว่ารูปธรรมเป็นปทัฏฐานของศีล ทั้งนี้เพราะถือว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่
- แกเมี้ยงจง ได้แก่มหายานคติศูนยตวาทิน ที่ถือว่าปทัฏฐานของศีล ไม่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยมีคติว่า ธรรมทั้งปวงไม่มีภาวะ ดำรงอยู่เพียงสมมติบัญญัติ
- อีกาจง ได้แก่มหายานฝ่ายโยคาจารที่ถือว่า ปทัฏฐานของศีลได้แก่ใจ ด้วยมีคติว่าสิ่งทั้งปวงเป็นปรากฏการณ์ของใจ [10]
ปกรณ์สำคัญ
[แก้]- จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย (四分律/สี้ฮุงลุก) ท่านพุทธยศกันท่านเต็กฮุกเหนียมแปล
- ทศภาณวารสรวาสติวาทวินัย (十诵律/จับส่งลุก) ท่านปุณยาตระ กับท่านกุมารชีพแปล
- ปัญจอัธยายมหิศาสกวินัย (五分律/โหงวฮุงลุก) ท่านพุทธชีวะกับ ท่านเต๊กเต้าเชงแปล
- มหาสังฆิกวินัย (摩诃僧袛律/มอฮอเจงตีลุก) ท่านพุทธภัทรกับท่านฮวบเฮี้ยนแปล
นอกจากนี้ ยังมี มูลสรวาสติวาทวินัย แปลโดยท่านงี่เจ๋ง, สรวาสติวาทวินัยมาติกา แปลโดยท่านสังฆวรมัน และมูลสรวาสติวาทภิกษุณีวินัย แปลโดยท่านงี่เจ๋ง เป็นอาทิ [11]
ในส่วนของท่านต้าวซ่วน มีงานรจนา อาทิ "ซื่อเฟินลฺวื่อ ปี่ชิวหาน จู้เจี้ยเปิ่น" (四分律比丘含注戒本) และ "ซื่อเฟินลฺวื่อ ซาน ปู่ สุยจี เจี๋ยหมัว" (四分律删补随机羯磨) เป็นอาทิ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น
- ↑ Rulu. (2012) Bodhisattva Precepts. หน้า 8
- ↑ เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน
- ↑ Rulu. (2012) Bodhisattva Precepts หน้า 8
- ↑ Vinaya Sect in Han Buddhism
- ↑ Rulu. (2012) Bodhisattva Precepts. หน้า 11
- ↑ Rulu. (2012) Bodhisattva Precepts. หน้า 11
- ↑ Rulu. (2012) Bodhisattva Precepts. หน้า 12
- ↑ เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน
- ↑ เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน
- ↑ เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน
บรรณานุกรม
[แก้]- เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
- ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
- Rulu. (2012) Bodhisattva Precepts. AuthorHouse
- Haicheng Ling. (2004) Buddhism in China. Chinese Intercontinental Press
- Vinaya Sect in Han Buddhism จาก http://wiki.china.org.cn/