วาฬเบลูกา
วาฬเบลูกา | |
---|---|
วาฬเบลูกาในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจอร์เจีย | |
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
อันดับฐาน: | Cetacea |
อนุอันดับ: | Odontoceti |
วงศ์: | Monodontidae |
สกุล: | Delphinapterus Lacépède, 1804 |
สปีชีส์: | D. leucas |
ชื่อทวินาม | |
Delphinapterus leucas (Pallas, 1776[1]) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง[3] | |
สกุล: [2]
ชนิด:
|
วาฬเบลูกา หรือ วาฬขาว (อังกฤษ: Beluga whale, White whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Delphinapterus leucas) เป็นวาฬที่จัดอยู่ในวงศ์ Monodontidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับนาร์วาฬ และนับเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Delphinapterus โดยถือเป็น 2 ชนิดเท่านั้นในวงศ์นี้ที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน[4]
จัดอยู่ในประเภทวาฬมีฟัน กินสัตว์น้ำเป็นอาหาร เช่น กุ้ง, หอยและปลา เป็นต้น ตัวผู้จะมีความยาวลำตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับตัวเมีย โดยตัวผู้ตัวเต็มวัยจะมีความยาวลำตัวเฉลี่ย 3.5–5.5 เมตร ส่วนตัวเมียมีความยาวลำตัวเฉลี่ย 3–4.1 เมตร น้ำหนักกว่า 1 ตัน สำหรับลูกวาฬแรกเกิดจะมีสีเทา และสีเทาจะค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีขาวในตัวเต็มวัย[5] และมีอายุเฉลี่ยประมาณ 10 ปี สูงสุดถึง 70 ปี[6] พบกระจายพันธุ์ตามชายฝั่งทะเลและมหาสมุทรของซีกโลกทางเหนือ เช่น มหาสมุทรอาร์กติก, ทวีปอเมริกาเหนือ, อ่าวฮัดสัน, เกาะกรีนแลนด์, รัสเซีย, ทะเลสาบอิลลิมนา[7] และปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ในแคนาดา อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง สามารถว่ายน้ำเดินทางไปในใต้น้ำที่ดำมืดได้ โดยใช้ระบบโซนาร์ในการนำทาง ที่ผลิตมาจากก้อนไขมันบนส่วนหัว[6] และกลั้นหายใจได้นานถึง 20 นาที ตัวผู้สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 500 เมตร เพื่อหาอาหาร ขณะที่ตัวเมียและลูกวาฬที่มีขนาดเล็กกว่าดำได้ลึกเพียง 350 เมตร [8]
วาฬเบลูกาไม่มีครีบหลัง เพื่อลดการสูญเสียความร้อนและปรับตัวให้สามารถว่ายน้ำภายใต้แผ่นน้ำแข็ง[9] และมีจุดเด่น คือ มีสีขาวปลอดตลอดทั้งลำตัวเพื่อพรางตัวจากผู้ล่า นั้นคือ หมีขั้วโลก และวาฬเพชฌฆาต[9] โดยคำว่า "เบลูกา" มาจากภาษารัสเซียคำว่า белый (bélyj) หมายถึง "สีขาว" ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์ Delphinapterus หมายถึง "โลมาที่ไม่มีครีบ" (มาจากภาษากรีกคำว่า δελφίν (เดลฟิน) แปลว่า "โลมา" และ απτερος (แอปเทอรอส) แปลว่า "ปราศจากครีบ") และ leucas หมายถึง "สีขาว" (ภาษากรีกคำว่า λευκας (ลูคัส) แปลว่า "สีขาว")[10]
วาฬเบลูกามีชั้นไขมันที่หนาประมาณ 15 เซนติเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของน้ำหนักตัวทั้งหมด ซึ่งชั้นไขมันจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความเย็นของน้ำในช่วงอุณหภูมิ 0–18 องศาเซลเซียส เพื่อลดการสูญเสียความร้อนจากอุณหภูมิที่เย็น และเป็นแหล่งสะสมพลังงานสำรอง[9] โดยนับเป็นชั้นไขมันที่หนาถึง 100 เท่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด[6] นอกจากนี้ วาฬเบลูกายังมีพฤติกรรมชอบที่จะขัดผิวหนังเก่าที่มีปรสิตหรือบาดแผลออกในช่วงที่น้ำแข็งละลายในฤดูร้อน ด้วยการขัดถูตัวกับก้อนกรวดที่ชายฝั่งน้ำตื้นหรือตามปากแม่น้ำ ด้วยการรวมฝูงนับ 1,000 ตัว ทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกวาฬวัยอ่อน ซึ่งใช้เวลานานหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ และจากพฤติกรรมนี้ทำให้บางตัวเกยฝั่งตาย หลังจากขัดผิวหนังออกแล้วก็จะกลับไปหากินในทะเลต่อ[8]
วาฬเบลูกา เป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่ส่งเสียงร้องได้หลากหลายมาก จนได้ฉายาว่า "นกคีรีบูนแห่งท้องทะเล" (sea canary) ที่มีตั้งแต่เสียงผิวปาก มีระดับเสียงที่แตกต่างกันมากมาย โดยจากการสังเกตในสถานที่เลี้ยงพบว่า ลูกวาฬมีพฤติกรรมเลียนแบบเสียงแม่วาฬด้วย และเลียนแบบได้สมบูรณ์สุด อีกทั้งถือเป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงและฝึกให้แสดงโชว์ตามสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ โดยมีการแพร่ขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ [6] จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติรัสเซียในปี ค.ศ. 2017 พบว่า วาฬเบลูกาในสถานที่เลี้ยงที่เลี้ยงร่วมกับโลมาปากขวดเป็นเวลา 2 เดือน วาฬเบลูกามีพฤติกรรมที่จะเลียนแบบเสียงเรียกของโลมาด้วย ในขณะที่โลมาก็เลียนเสียงร้องของแมวด้วย ซึ่งเป็นเสียงเรียกแบบสั้น ๆ ทั้งนี่เชื่อว่าคงเป็นเพราะวาฬเบลูกาพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลมา นอกจากนี้แล้วในปี ค.ศ. 2012 มีผู้ที่จับวาฬเบลูกาได้ และพบว่าวาฬมีพฤติกรรมที่จะเลียนเสียงการพูดคุยแบบมนุษย์ด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าคงเป็นเพราะวาฬพยายามที่จะสื่อสารกับมนุษย์ [11]
ประชากรของวาฬเบลูกาที่อาศัยอยู่ในปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ซึ่งเป็นน้ำกร่อย มีประมาณ 2,000 ตัว โดยวาฬเบลูกาที่นี่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากวาฬเบลูกาที่อื่น เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่แยกตัวออกจากวาฬเบลูกาที่อื่นเป็นเวลานานกว่า 7,000 ปีแล้ว และไม่หวนคืนกลับไปยังมหาสมุทรเลย
ในยุคทศวรรษ 1920 วาฬเบลูกาถูกกล่าวหาว่าขโมยกินปลาจากชาวประมง และถูกฆ่าโดยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน จากการศึกษาพบว่าจำนวนวาฬเบลูกาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุการตายมาจากการเกยตื้นที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดหรือการล่า แต่ปัจจุบันนี้ได้มีกฎหมายคุ้มครองและเขตสงวนคุ้มครอง[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Jefferson, T.A., Karczmarski, L., Laidre, K., O’Corry-Crowe, G., Reeves, R.R., Rojas-Bracho, L., Secchi, E.R., Slooten, E., Smith, B.D., Wang, J.Y. & Zhou, K. (2008). "Delphinapterus leucas". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2010.3.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Delphinapterus Lacépède, 1804". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 13 December 2014.
- ↑ "Delphinapterus leucas". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 13 December 2014.
- ↑ Waddell, V.G. and Milinkovitch, M.C. and Bérubé, M. and Stanhope, M.J. (2000). "Molecular Phylogenetic Examination of the Delphinoidea Trichotomy: Congruent Evidence from Three Nuclear Loci Indicates That Porpoises (Phocoenidae) Share a More Recent Common Ancestry with White Whales (Monodontidae) Than They Do with True Dolphins (Delphinidae)". Molecular Phylogenetics and Evolution. 15 (2): 314–318. doi:10.1006/mpev.1999.0751. PMID 10837160.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ วาฬเบลูกา
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "สารคดีมุมมองจากฟากฟ้า". ไทยพีบีเอส. 13 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-23. สืบค้นเมื่อ 13 December 2014.
- ↑ Wade, Jeremy (2011). River Monsters: True Stories of the Ones that Didn't Get Away. Cambridge, MA: Da Capo Press. ISBN 978-0-306-81954-4.
- ↑ 8.0 8.1 "อัศจรรย์โลกน้ำแข็งตอนที่ 7". ช่อง 7. 11 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-23. สืบค้นเมื่อ 11 January 2015.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Friedman, W.R. 2006. Environmental Adaptations of the Beluga Whale (Delphinapterus leucas). Cognitive Science 143. 14 p.
- ↑ Leatherwood, Stephen and Randall R. Reeves (1983). The Sierra Club Handbook of Whales and Dolphins (1 ed.). San Francisco: Sierra Club Books. p. 320. ISBN 978-0-87156-340-8.
- ↑ หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, วิจัยพบวาฬขาวเรียนรู้ภาษาของโลมา. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21848: วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แรม 12 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Delphinapterus leucas ที่วิกิสปีชีส์