วาฬเบลูกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วาฬขาว)
วาฬเบลูกา
วาฬเบลูกาในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจอร์เจีย
ตัวอย่างเสียงร้อง
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
อนุอันดับ: Odontoceti
วงศ์: Monodontidae
สกุล: Delphinapterus
Lacépède, 1804
สปีชีส์: D.  leucas
ชื่อทวินาม
Delphinapterus leucas
(Pallas, 1776[1])
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[3]
สกุล: [2]
  • Argocetus Gloger, 1842
  • Beluga Rafinesque, 1815

ชนิด:

  • Delphinapterus beluga Lacépède, 1804
  • Delphinapterus catodon (Gray, 1846)
  • Beluga catodon Gray, 1846
  • Delphinapterus leucas marisalbi Ostroumov, 1935

วาฬเบลูกา หรือ วาฬขาว (อังกฤษ: Beluga whale, White whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Delphinapterus leucas) เป็นวาฬที่จัดอยู่ในวงศ์ Monodontidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับนาร์วาฬ และนับเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Delphinapterus โดยถือเป็น 2 ชนิดเท่านั้นในวงศ์นี้ที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน[4]

จัดอยู่ในประเภทวาฬมีฟัน กินสัตว์น้ำเป็นอาหาร เช่น กุ้ง, หอยและปลา เป็นต้น ตัวผู้จะมีความยาวลำตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับตัวเมีย โดยตัวผู้ตัวเต็มวัยจะมีความยาวลำตัวเฉลี่ย 3.5–5.5 เมตร ส่วนตัวเมียมีความยาวลำตัวเฉลี่ย 3–4.1 เมตร น้ำหนักกว่า 1 ตัน สำหรับลูกวาฬแรกเกิดจะมีสีเทา และสีเทาจะค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีขาวในตัวเต็มวัย[5] และมีอายุเฉลี่ยประมาณ 10 ปี สูงสุดถึง 70 ปี[6] พบกระจายพันธุ์ตามชายฝั่งทะเลและมหาสมุทรของซีกโลกทางเหนือ เช่น มหาสมุทรอาร์กติก, ทวีปอเมริกาเหนือ, อ่าวฮัดสัน, เกาะกรีนแลนด์, รัสเซีย, ทะเลสาบอิลลิมนา[7] และปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ในแคนาดา อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง สามารถว่ายน้ำเดินทางไปในใต้น้ำที่ดำมืดได้ โดยใช้ระบบโซนาร์ในการนำทาง ที่ผลิตมาจากก้อนไขมันบนส่วนหัว[6] และกลั้นหายใจได้นานถึง 20 นาที ตัวผู้สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 500 เมตร เพื่อหาอาหาร ขณะที่ตัวเมียและลูกวาฬที่มีขนาดเล็กกว่าดำได้ลึกเพียง 350 เมตร [8]

วาฬเบลูกาไม่มีครีบหลัง เพื่อลดการสูญเสียความร้อนและปรับตัวให้สามารถว่ายน้ำภายใต้แผ่นน้ำแข็ง[9] และมีจุดเด่น คือ มีสีขาวปลอดตลอดทั้งลำตัวเพื่อพรางตัวจากผู้ล่า นั้นคือ หมีขั้วโลก และวาฬเพชฌฆาต[9] โดยคำว่า "เบลูกา" มาจากภาษารัสเซียคำว่า белый (bélyj) หมายถึง "สีขาว" ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์ Delphinapterus หมายถึง "โลมาที่ไม่มีครีบ" (มาจากภาษากรีกคำว่า δελφίν (เดลฟิน) แปลว่า "โลมา" และ απτερος (แอปเทอรอส) แปลว่า "ปราศจากครีบ") และ leucas หมายถึง "สีขาว" (ภาษากรีกคำว่า λευκας (ลูคัส) แปลว่า "สีขาว")[10]

ส่วนหัว
ฝูงวาฬเบลูกาในธรรมชาติ
ในแสตมป์ของหมู่เกาะแฟโร

วาฬเบลูกามีชั้นไขมันที่หนาประมาณ 15 เซนติเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของน้ำหนักตัวทั้งหมด ซึ่งชั้นไขมันจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความเย็นของน้ำในช่วงอุณหภูมิ 0–18 องศาเซลเซียส เพื่อลดการสูญเสียความร้อนจากอุณหภูมิที่เย็น และเป็นแหล่งสะสมพลังงานสำรอง[9] โดยนับเป็นชั้นไขมันที่หนาถึง 100 เท่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด[6] นอกจากนี้ วาฬเบลูกายังมีพฤติกรรมชอบที่จะขัดผิวหนังเก่าที่มีปรสิตหรือบาดแผลออกในช่วงที่น้ำแข็งละลายในฤดูร้อน ด้วยการขัดถูตัวกับก้อนกรวดที่ชายฝั่งน้ำตื้นหรือตามปากแม่น้ำ ด้วยการรวมฝูงนับ 1,000 ตัว ทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกวาฬวัยอ่อน ซึ่งใช้เวลานานหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ และจากพฤติกรรมนี้ทำให้บางตัวเกยฝั่งตาย หลังจากขัดผิวหนังออกแล้วก็จะกลับไปหากินในทะเลต่อ[8]

วาฬเบลูกา เป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่ส่งเสียงร้องได้หลากหลายมาก จนได้ฉายาว่า "นกคีรีบูนแห่งท้องทะเล" (sea canary) ที่มีตั้งแต่เสียงผิวปาก มีระดับเสียงที่แตกต่างกันมากมาย โดยจากการสังเกตในสถานที่เลี้ยงพบว่า ลูกวาฬมีพฤติกรรมเลียนแบบเสียงแม่วาฬด้วย และเลียนแบบได้สมบูรณ์สุด อีกทั้งถือเป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงและฝึกให้แสดงโชว์ตามสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ โดยมีการแพร่ขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ [6] จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติรัสเซียในปี ค.ศ. 2017 พบว่า วาฬเบลูกาในสถานที่เลี้ยงที่เลี้ยงร่วมกับโลมาปากขวดเป็นเวลา 2 เดือน วาฬเบลูกามีพฤติกรรมที่จะเลียนแบบเสียงเรียกของโลมาด้วย ในขณะที่โลมาก็เลียนเสียงร้องของวาฬด้วย ซึ่งเป็นเสียงเรียกแบบสั้น ๆ ทั้งนี่เชื่อว่าคงเป็นเพราะวาฬเบลูกาพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลมา นอกจากนี้แล้วในปี ค.ศ. 2012 มีผู้ที่จับวาฬเบลูกาได้ และพบว่าวาฬมีพฤติกรรมที่จะเลียนเสียงการพูดคุยแบบมนุษย์ด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าคงเป็นเพราะวาฬพยายามที่จะสื่อสารกับมนุษย์ [11]

ประชากรของวาฬเบลูกาที่อาศัยอยู่ในปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ซึ่งเป็นน้ำกร่อย มีประมาณ 2,000 ตัว โดยวาฬเบลูกาที่นี่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากวาฬเบลูกาที่อื่น เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่แยกตัวออกจากวาฬเบลูกาที่อื่นเป็นเวลานานกว่า 7,000 ปีแล้ว และไม่หวนคืนกลับไปยังมหาสมุทรเลย

ในยุคทศวรรษ 1920 วาฬเบลูกาถูกกล่าวหาว่าขโมยกินปลาจากชาวประมง และถูกฆ่าโดยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน จากการศึกษาพบว่าจำนวนวาฬเบลูกาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุการตายมาจากการเกยตื้นที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดหรือการล่า แต่ปัจจุบันนี้ได้มีกฎหมายคุ้มครองและเขตสงวนคุ้มครอง[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Jefferson, T.A., Karczmarski, L., Laidre, K., O’Corry-Crowe, G., Reeves, R.R., Rojas-Bracho, L., Secchi, E.R., Slooten, E., Smith, B.D., Wang, J.Y. & Zhou, K. (2008). "Delphinapterus leucas". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2010.3.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. "Delphinapterus Lacépède, 1804". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 13 December 2014.
  3. "Delphinapterus leucas". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 13 December 2014.
  4. Waddell, V.G. and Milinkovitch, M.C. and Bérubé, M. and Stanhope, M.J. (2000). "Molecular Phylogenetic Examination of the Delphinoidea Trichotomy: Congruent Evidence from Three Nuclear Loci Indicates That Porpoises (Phocoenidae) Share a More Recent Common Ancestry with White Whales (Monodontidae) Than They Do with True Dolphins (Delphinidae)". Molecular Phylogenetics and Evolution. 15 (2): 314–318. doi:10.1006/mpev.1999.0751. PMID 10837160.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. วาฬเบลูกา
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "สารคดีมุมมองจากฟากฟ้า". ไทยพีบีเอส. 13 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-23. สืบค้นเมื่อ 13 December 2014.
  7. Wade, Jeremy (2011). River Monsters: True Stories of the Ones that Didn't Get Away. Cambridge, MA: Da Capo Press. ISBN 978-0-306-81954-4.
  8. 8.0 8.1 "อัศจรรย์โลกน้ำแข็งตอนที่ 7". ช่อง 7. 11 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-23. สืบค้นเมื่อ 11 January 2015.
  9. 9.0 9.1 9.2 Friedman, W.R. 2006. Environmental Adaptations of the Beluga Whale (Delphinapterus leucas). Cognitive Science 143. 14 p.
  10. Leatherwood, Stephen and Randall R. Reeves (1983). The Sierra Club Handbook of Whales and Dolphins (1 ed.). San Francisco: Sierra Club Books. p. 320. ISBN 978-0-87156-340-8.
  11. หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, วิจัยพบวาฬขาวเรียนรู้ภาษาของโลมา. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21848: วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แรม 12 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Delphinapterus leucas ที่วิกิสปีชีส์