โบสถ์โถง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดโถง)

วัดโถง (อังกฤษ: Hall church) คือคริสต์ศาสนสถานที่เพดานของทางเดินกลางและทางเดินข้างมีความสูงเท่าๆ กัน ที่มีหลังคาร่วมกันเป็นหลังคาใหญ่หลังคาเดียว คำว่า “Hall church” ใช้เป็นครั้งแรกราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์เยอรมันวิลเฮล์ม ลืบค์ (Wilhelm Lübke) [1]

ประวัติ[แก้]

วัดโถงตรงกันกันข้ามกับลักษณะโดยทั่วไปของคริสต์ศาสนสถานอื่นที่เพดานของทางเดินข้างจะต่ำกว่าเพดานของทางเดินกลาง ซึ่งทำให้สามารถสร้างกำแพงที่สูงกว่าเหนือทางเดินข้าง ที่เปิดเป็นหน้าต่างชั้นบนให้แสงส่องลงมายังทางเดินกลางได้ แสงที่เข้ามาในวัดโถงมาจากหน้าต่างด้านข้างที่มักจะสูงพอๆ กับกำแพง

การสร้างวัดทรงนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่นที่วัดเซนต์บาโทโลมิวที่พาเดอร์บอร์น (Paderborn) ที่สร้างโดยสังฆราชไมน์เวิร์ค ที่ได้รับการสถาปนาราว ค.ศ. 1017) แต่ลักษณะการก่อสร้างวัดโถงมารุ่งเรืองที่สุดในปลายสมัยกอธิคโดยเฉพาะในสถาปัตยกรรมกอธิคพิเศษ (Sondergotik) ในเยอรมนีโดยเฉพาะในบริเวณเวสต์ฟาเลีย และในบริเวดินแดนอองชูทางตะวันตกของฝรั่งเศส เช่นที่สร้างที่มหาวิหารปัวตีเย การใช้ทรงนี้ที่อื่นก็มีที่สร้างในวัดที่มีขนาดย่อมกว่าเช่นในการสร้างชาเปล หรือการสร้างส่วนหลังของวัด (retrochoir) เช่นที่มหาวิหารซอลสบรีในอังกฤษเป็นต้น

วัดเซนต์บาโทโลมิว
พาเดอร์บอร์น
หลังคาเดียวที่คลุมทั้งทางเดินกลางและทางเดินข้าง
ภายในที่เป็นโถงของ
วัดเซนต์บาโทโลมิว

คริสต์ศาสนสถานที่เป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคบางแห่งก็ใช้ผังแบบวัดโถงในการสร้าง โดยเฉพาะในการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมเยอรมัน ตัวอย่างของคริสต์ศาสนสถานที่ใช้ทรงนี้ก็ได้แก่การสร้างวัดเซนต์ฟรานซิสเดอซาลส์ที่มิสซูรีโดยวิคเตอร์ คลูธโนที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1908

คำว่า “วัดโถง” ที่มามีความหมายต่างไปจากเดิมในคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือในการใช้ในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีประโยชน์ใช้สอยหลายอย่าง (multi-purpose building) ที่สามารถย้ายเก้าอี้ออกได้แทนที่จะเป็นม้านั่งที่สร้างอย่างถาวร และบริเวณสงฆ์ที่สามารถกันออกไปได้ด้วยฉาก เพื่อใช้ในการเป็นบริเวณในการทำกิจกรรมของชุมนุมชนได้ระหว่างวันทำงาน ลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันโดยเฉพาะในอังกฤษในวัดในเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

“วัดโถง” ต่างจาก "โถงวัด" (Church hall) ซึ่งหมายถึงห้องโถงที่อยู่ภายในวัดที่ใช้ในการทำกิจกรรมของชุมนุมชน[2].

อ้างอิง[แก้]

  1. Wilhelm Lübke Die mittelalterliche Kunst in Westfalen (1853)
  2. Use of Church Halls for Village Hall and Other Charitable Purposes, Charity Commission, United Kingdom, July 2001.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัดโถง

ระเบียงภาพ[แก้]