ลีเมอร์หางวงแหวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลีเมอร์หางวงแหวน
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
อันดับย่อย: Strepsirrhini
อันดับฐาน: Lemuriformes
Gray, 1821
วงศ์: Lemuridae
สกุล: Lemur
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: L.  catta
ชื่อทวินาม
Lemur catta
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง

Genus:

  • Prosimia Brisson, 1762
  • Procebus Storr, 1780
  • Catta Link, 1806
  • Maki Muirhead, 1819
  • Mococo Trouessart, 1878
  • Odorlemur Bolwig, 1960

Species:

  • Maki mococo Muirhead, 1819

ลีเมอร์หางวงแหวน หรือ ลีเมอร์หางปล้อง (อังกฤษ: Ring-tailed lemur) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lemur catta เป็นชนิดของลีเมอร์ที่รู้จักกันอย่างก้าวขวาง ลักษณะทั่วไปเหมือนลีเมอร์ แต่มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญคือส่วนหางเป็นลายปล้องสลับขาวกับดำ ลีเมอร์หางวงแหวนถูกประเมินเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงไอยูซีเอ็นปี 2018[1]

ลักษณะ[แก้]

คือรูปร่างคล้ายลิง จมูกและปากยื่นคล้ายหมาจื้งจอก ดวงตากลมโต ขนตามร่างกายหนาและแน่น มีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก และมีลักษณะเฉพาะคือสีขน โดยบริเวณหลังหัวคลุมไปถึงหลัง และด้านนอกของขาหน้าและขาหลังมีสีเทาปนน้ำตาล ใบหูส่วนนอก หน้า คอ อก เชื่อมไปจนถึงจนถึงท้อง และด้านในของขาหน้าและขาหลังมีสีขาว รอบดวงตา ปลายจมูกและใบหูส่วนในเป็นสีดำ ส่วนหางเป็นลายปล้องสลับขาวกับดำชัดเจน โดยมีแถบขาวประมาณ 12 -13 แถบ แถบสีดำ 13 -14 แถบ ปลายหางเป็นแถบดำ น้ำหนัก 2.3-5.5 กิโลกรัม ความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหาง 39 - 46 เซนติเมตร ความยาวหาง 56 - 63 เซนติเมตร[2][3]

สภาพแวดล้อมและพฤติกรรม[แก้]

ลีเมอร์หางวงแหวนเป็นสัตว์สังคม มักอยู่เป็นฝูงขนาดประมาณ 12 -25 ตัว สื่อสารระหว่างกันด้วยเสียงและกลิ่น อาศัยตามป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ และป่าชายฝั่งแม่น้ำทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะมาดากัสการ์ โดยอาศัยในพื้นที่ๆ สูงกว่าลีเมอร์ชนิดอื่น ออกหากินตามพื้นป่าและบนต้นไม้ในเวลากลางวัน กินทั้งพืชและสัตว์ โดยกินผลไม้และยอดไม้เป็นส่วนใหญ่ และกินยังดอกไม้ เปลือกไม้ ยางไม้บางชนิด กิ้งก่า นก แมลง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ เวลานั่งบนคบไม้จะปล่อยหางห้อยลงมา และเวลาเดินจะตั้งหางขึ้นโดยงอปลายหางคล้ายตะขอ อายุขัยเฉลี่ย 25-30 ปี ตัวผู้ลำดับสูงในฝูงมีโอกาสผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัวมากกว่าตัวผู้ตัวอื่น โดยผสมพันธุ์ช่วงเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน วงรอบปีละครั้ง ระยะตั้งท้อง 4-4.5 เดือน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว และโตเต็มวัยเมื่ออายุ 2.5-3 ปี[2][3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. LaFleur, M. & Gould, L. 2020. Lemur catta. The IUCN Red List of Threatened Species 2020: e.T11496A115565760. https://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2020-2.RLTS.T11496A115565760.en. Accessed on 03 August 2023.
  2. 2.0 2.1 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2564. ริงเทลลีเมอร์/Ring-tailed Lemur (Lemur catta). สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
  3. 3.0 3.1 ศูนย์ข่าวศรีราชา. 2560. ลีเมอร์หางแหวนรีเทิร์น ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว. MGR Online. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566
  4. Animal Enrichment Khao Kheow Open Zoo. 2562. ลีเมอร์หางแหวน (Ring- tailed Lemur). สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2566