ลาบลังกา

พิกัด: 16°54′13″N 89°26′32″W / 16.90361°N 89.44222°W / 16.90361; -89.44222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลาบลังกา
กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางทิศใต้
ลาบลังกาตั้งอยู่ในกัวเตมาลา
ลาบลังกา
ที่ตั้งลาบลังกาในกัวเตมาลาและมีโซอเมริกา
ลาบลังกาตั้งอยู่ในมีโซอเมริกา
ลาบลังกา
ลาบลังกา (มีโซอเมริกา)
ที่ตั้งเมลชอร์เดเมงโกส จังหวัดเปเตน กัวเตมาลา
พิกัด16°54′13″N 89°26′32″W / 16.90361°N 89.44222°W / 16.90361; -89.44222
ความเป็นมา
สมัยสมัยคลาสสิกตอนปลายถึงสมัยหลังคลาสสิกตอนต้น
วัฒนธรรมมายา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกริสตินา บิดัล โลเรนโซ, กัสปาร์ มุญโญซ โกสเม
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมมายาสมัยคลาสสิก
หน่วยงานรับผิดชอบ: สถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์

ลาบลังกา (สเปน: La Blanca) เป็นแหล่งโบราณคดีอารยธรรมมายาสมัยก่อนโคลัมบัส ตั้งอยู่บริเวณตอนล่างของหุบเขาแม่น้ำโมปันในเขตเทศบาลเมลชอร์เดเมงโกส ทางตอนเหนือของจังหวัดเปเตน ประเทศกัวเตมาลา[1] แหล่งนี้เป็นของวัฒนธรรมโมกายาช่วงปลาย ปรากฏหลักฐานว่ามีการเข้าอยู่อาศัยที่แหล่งนี้ตั้งแต่สมัยก่อนคลาสสิกตอนกลาง (900–600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ตามลำดับเวลามีโซอเมริกา กิจกรรมของมนุษย์มีอายุย้อนไปได้ถึงสมัยคลาสสิกตอนต้น (ค.ศ. 250–600) โดยการตั้งถิ่นฐานสำคัญเกิดขึ้นในสมัยคลาสสิกตอนปลาย (ค.ศ. 600–900)[2] แต่ก็ยังมีการตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นประปรายในสมัยหลังคลาสสิกตอนต้น (ค.ศ. 900–1200)[3]

ลาบลังกาครอบครองพื้นที่ชายแดนระหว่างภูมิภาคเปเตนตะวันออกเฉียงเหนือกับภูมิภาคเปเตนตะวันออกเฉียงใต้ และแหล่งดังกล่าวถูกควบคุมจากอัครปุระโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหมู่อาคารพระราชวังที่ได้รับการสร้างขึ้นอย่างดีเป็นพิเศษ[4] ดูเหมือนว่าเมืองนี้จะเป็นศูนย์กลางการปกครองโดยไม่เน้นกิจกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมมากนัก[5] ลาบลังกาอาจเป็นเมืองบริวารของนครมายาหลักอย่างยัฆฮาหรือนารังโฮ เนื่องจากในเมืองไม่มีข้อความรูปอักขระโบราณและประติมากรรมเชิงอนุสาวรีย์อยู่เลย[5] และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าลาบลังกาทำหน้าที่เป็นด่านพรมแดนหรือศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่ง[5]

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงอัครปุระได้มากขึ้นในสมัยคลาสสิกตอนปลาย แต่เมื่อภัยคุกคามจากสงครามเพิ่มขึ้นในสมัยคลาสสิกตอนสุดท้าย (ค.ศ. 800–900) การเข้าถึงจึงถูกจำกัดอีก การยุติการตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นทางการในสมัยคลาสสิกตอนสุดท้ายน่าจะเป็นไปด้วยความรุนแรง โดยระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีที่อัครปุระพบหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดการสู้รบขึ้น[6] ดูเหมือนว่าจะมีผู้ลี้ภัยจากพื้นที่รอบนอกเข้าไปครอบครองศูนย์กลางเมืองทันทีหลังการตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นทางการได้สิ้นสุดลง[7] แต่พวกเขาก็ทิ้งเมืองนี้ไปอย่างถาวรในคริสต์ศตวรรษที่ 11 และหลังจากนั้นก็ไม่มีการกลับเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นี่อีกเลย[5]

ตามอาคารที่อัครปุระปรากฏรอยขูดขีดเขียนที่มีอายุอยู่ในระยะสุดท้ายของการตั้งถิ่นฐานสมัยหลังคลาสสิกตอนต้น ประกอบด้วยรูปคนและสัตว์ เทพเจ้า วิหาร และฉากในราชสำนัก ยังปรากฏรอยขูดขีดเขียนในสมัยอาณานิคมจากการไปเยือนซากเมืองแห่งนี้ของร้อยเอก เปโดร มอนตัญเญส เจ้าหน้าที่สเปนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1752[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Muñoz Cosme 2006, p.340.
  2. Muñoz Cosme 2006, p.343.
  3. Vidal Lorenzo et al 2007, p.563.
  4. Vidal Lorenzo 2006, p.790.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Vidal Lorenzo et al 2007, p.575.
  6. Vidal Lorenzo & Muñoz Cosme undated 2, p.49.
  7. Vidal Lorenzo et al 2007, p.571.
  8. Muñoz Cosme 2006, p.341.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Muñoz Cosme, Gaspar (2006). "Estructura urbana y arquitectura en La Blanca, Petén" (PDF). XIX Simposio de Investigaciones Arqueológicas en Guatemala, 2005 (edited by J.P. Laporte, B. Arroyo and H. Mejía) (ภาษาสเปน). Museo Nacional de Arqueología y Etnología, Guatemala. pp. 340–351. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF online publication)เมื่อ 2011-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-10-23.
  • Vidal Lorenzo, Cristina (2006). "Investigaciones arqueológicas en La Blanca, Petén: Temporada 2004" (PDF). XIX Simposio de Investigaciones Arqueológicas en Guatemala, 2005 (edited by J.P. Laporte, B. Arroyo and H. Mejía) (ภาษาสเปน). Museo Nacional de Arqueología y Etnología, Guatemala. pp. 790–802. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF online publication)เมื่อ 2011-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-10-26.
  • Vidal Lorenzo, Cristina; Gaspar Muñoz Cosme (Undated 2). "Guatemala: La ciudad Maya de La Blanca" (PDF online publication) (ภาษาสเปน). Madrid, Spain: Museo Nacional Centro de Arte Reina Sofía. pp. 45–50. สืบค้นเมื่อ 2010-10-29. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  • Vidal Lorenzo, Cristina; Juan Antonio Valdés; Gaspar Muñoz Cosme (2007). "El Clásico Terminal y el abandono de los palacios de La Blanca, Petén" (PDF). XX Simposio de Investigaciones Arqueológicas en Guatemala, 2006 (edited by J.P. Laporte, B. Arroyo and H. Mejía) (ภาษาสเปน). Museo Nacional de Arqueología y Etnología, Guatemala. pp. 561–576. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF online publication)เมื่อ 2011-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-10-25.