รุไบยาตของโอมาร์ คัยยาม
รุไบยาตของโอมาร์ คัยยาม | |
---|---|
ปกหนังสือรุ่นแรกในสหรัฐ (ค.ศ.1878) | |
ผู้ประพันธ์ | โอมาร์ คัยยาม |
ผู้แปล | เอ็ดเวิร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ |
ประเภท | กวีนิพนธ์ |
สำนักพิมพ์ | Bernard Quaritch |
วันที่พิมพ์ | ค.ศ.1859 |
รุไบยาตของโอมาร์ คัยยาม (อังกฤษ: Rubaiyat of Omar Khayyam) เป็นบทกวีภาษาเปอร์เซีย ที่เรียกว่า รุไบยาต แต่งโดย โอมาร์ คัยยาม (Omar Khayyam, ค.ศ. 1048 – ค.ศ. 1131) กวีและนักปราชญ์ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นบทกวีที่มีลีลาอันไพเราะ เปรียบเปรยศาสนาของผู้นับถือในยุคสมัยนั้น และเชิญชวนมนุษย์ทั้งหลายให้รีบหาความสนุกสบายต่าง ๆ ในโลก ด้วยการเสพสุขจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส นอกจากจะเป็นบทกวีที่มีความไพเราะแล้ว ยังแสดงคุณค่าทางปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้ง[1]
การแปล
[แก้]รุไบยาต เป็นโศลกมีความยาวกว่า 500 บาท ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย
ฉบับภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงมากเป็นของเอ็ดเวิร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ (Edward Fitzgerald, ค.ศ. 1809 - ค.ศ. 1883) ตีพิมพ์ครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1859 (พ.ศ. 2402) ฟิตซ์เจอรัลด์แปลแบบ “เก็บความ” บางทีก็รวมเอาหลายบทเข้ามาเป็นบทเดียว เขาแปล รุไบยาต เป็นภาษาอังกฤษถึง 5 ครั้ง (ครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1868 ครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1872 ครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 1879 และครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 1889) แต่ละครั้งแตกต่างกันออกไปทั้งเนื้อหาและจำนวนบท การแปลครั้งหลังสุดมี 101 บท รุไบยาตฉบับแปลโดยฟิตซ์เจอรัลด์กลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อวงการกวีของอังกฤษมากที่สุด ตัวอย่างบทกวีฉบับแปลโดยฟิตซ์เจอรัลด์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
- Awake! for Morning in the Bowl of Night
- Has flung the Stone that puts the Stars to Flight:
- And Lo! the Hunter of the East has caught
- The Sultan's Turret in a Noose of Light.
ต่อมาโรเบิร์ต เกรฟส์ (Robert Graves) และโอมาร์ อาลีชาห์ (Omar Ali-Shah) ได้ตีพิมพ์ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ค. 1967 โดยอาศัยการตีความบทแปลของฟิตซ์เจอรัลด์ใหม่ตามบทวิเคราะห์ของเอ็ดเวิร์ด เฮรอน อัลเลน (Edward Heron Allen) ซึ่งให้เนื้อหาและอารมณ์ที่แตกต่างกันมากกับของฟิตซ์เจอรัลด์ ตัวอย่างบทกวีฉบับแปลโดยโรเบิร์ต เกรฟ และโอมาร์ อาลีชาห์
- While Dawn, Day’s herald straddling the whole sky,
- Offers the drowsy world a toast “To Wine”
- The Sun spills early gold on city roofs.
- Day’s regal host replenishing his jug.
การแปลเป็นภาษาไทย
[แก้]สำหรับฉบับแปลเป็นภาษาไทย ที่แปลจากฉบับของเอ็ดเวิร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ ครั้งแรกโดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลเป็นกาพย์และโคลงสี่สุภาพจำนวน 204 บท พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457 หลังจากนั้นมีผู้แปลอีกหลายคน เช่น แคน สังคีต (พ.ศ. 2508) และ สุริยฉัตร ชัยมงคล (พ.ศ. 2528) เป็นต้น
ส่วนฉบับที่แปลจากสำนวนแปลภาษาอังกฤษของ โรเบิร์ต เกรฟส์ และ โอมาร์ อาลีชาห์ได้แก่สำนวนของวีนัส กิติรังษี (นามปากกาของ ไรน่าน อรุณรังษี) แปลจากพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2521 ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงและตีพิมพ์ใหม่ในนามของ น่าน กิติรังษี เมื่อ พ.ศ. 2536 และตีพิมพ์อีกครั้งในนาม ไรน่าน กิติรังษี เมื่อ พ.ศ. 2546 นอกจากนี้ยังมีสำนวนแปลของมนตรี อุมะวิชนี โดยชมรมการประชุมสภากวีโลกเมื่อ พ.ศ. 2546
สำนวนแปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
[แก้]กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2474) ทรงแปลเป็นกาพย์และโคลงสี่สุภาพรวมจำนวน 204 บท พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457 หลังสุดพิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2513 โดยสำนักพิมพ์คลังวิทยา
ตัวอย่างบทกวี
๏ ตื่นเถิด, อุทัยเจิดเล้า | รัตยา ผยองเอย | |
ดาวเจิ่ง, เวิ้งสวรรค์ลา | ลิบแล้ว | |
พรานบูรพ์, ทอดบ่วงถา | โถมคร่อม คล้องแฮ | |
ปราสาท, ซุ่ลต่านแพร้ว | พรื่อสร้านฉานแสง ๚ะ |
หรือ
๏ เป็นโตเป็นใหญ่พ้น | ภยันตราย ไฉนรา | |
ยศหยิ่งศฤงคารคาย | คุ่มได้ | |
กรุณานุเคราะห์ขยาย | คุณยืด ยงนอ | |
อย่าสนิทอย่าห่างไว้ | ศักดิ์ละม้ายสายกลาง ดีแล ๚ะ |
บทที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปได้แก่
ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว | ขำอุราน่าหัว เต้นยั่วอย่างฝัน | |
ดอกเอ๋ยดอกเจ้า ดอกทานตะวัน | ละครคนละคนขัน ประชันกันสนุกเอย |
สำนวนแปลโดยแคน สังคีต
[แก้]แคน สังคีต (พิมาน แจ่มจรัส) แปลรุไบยาตของโอมาร์ คัยยัม โดยใช้ชื่อว่า รุไบยาท เรียบเรียงเป็นกลอนจำนวน 101 บท พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2508 พิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์แสงดาว แคน สังคีต ไม่ได้แปลโดยตรงแต่ใช้วิธี “แปร” คือเขียนขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด เก็บเอาศรัทธาและอารมณ์ของ โอมาร์ คัยยัม มาร้อยกรองด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง กล่าวได้ว่า เป็นการนำแนวความคิดเปอร์เซียมาแต่งใหม่ด้วยบรรยากาศไทย[2] จัดเป็นการสร้างสรรค์ใหม่บนพื้นฐานเดิม
ตัวอย่างบทกวี
ตื่นขึ้นเถิดเพื่อรับแสงแห่งสูรย์ส่อง | เมื่อดาวล่องเดือนลับไปกลับฝัน | |
ขับราตรีหนีเตลิดเพื่อเปิดวัน | เชิญร่วมกันฟังดนตรีแห่งชีวา |
จำเพื่อลืมดื่มเพื่อเมาเหล้าเพื่อโลก | สุขเพื่อโศกหนาวเพื่อร้อนนอนเพื่อฝัน | |
ชีวิตนี้มีค่านักควรรักกัน | รวมความฝันกับความจริงเป็นสิ่งเดียว |
ชีวิตนี้มีสองแพร่งแย้งกันอยู่ | หนีหรือสู้คดหรือซื่อร้อนหรือหนาว | |
ไหวหรือนิ่งจริงหรือฝันสั้นหรือยาว | ดำหรือขาวดีหรือเลวเร็วหรือนาน |
แขนทั้งสองของเจ้าจงเฝ้าสู้ | ขาทั้งคู่ย่างไปไม่ยอมหยุด | |
แขนจะล้าขาจะล้มไม่ซมทรุด | สู้ให้สุดศักดิ์ศรีของชีวิต |
แด่พธูผู้ผ่านไปในอดีต | แด่สังคีตแห่งสินธูและภูเขา | |
แด่ความฝันอันลำพองของพวกเรา | ดื่มหมดแล้วเหลือแก้วเปล่า เอ้า! คว่ำลง... |
สำนวนแปลโดยสุริยฉัตร ชัยมงคล
[แก้]สุริยฉัตร ชัยมงคล แปลรุไบยาต ของ โอมาร์ คัยยัม ฉบับแปลของเอ็ดเวิร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ โดยเก็บเนื้อความให้ตรงต้นฉบับมากที่สุด เป็นกลอนจำนวน 75 บท พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2536 โดย สนพ.ทานตะวัน
ตัวอย่างบทกวี
ท่านจักยุรยาตรบาทแพรวแสง | ผ่านประกายแห่งดาวเยือนระยับหญ้า | |
โดยเปรมปรีดิ์สู่จุดที่ข้าล่วงมา | ก่อนคว่ำแก้วแล้วลาจากจรดล |
โอ้กุหลาบโรยลับกับคิมหันต์ | หวานวารวันวัยเยาว์ก็วูบหาย | |
นกเพรียกเพลงเพียงฝันพรรณราย | เมื่อวางวายแล้วไปไหนไม่รู้เลย |
โอ้รักกับข้าเองและเพรงกรรม | หากเราทำลายแผนเศร้าแห่งฟ้าได้ | |
ก็จะเหยียบให้มันแหลกมลายไป | แล้วหลอมใหม่ให้รื่นรมย์สมทรวงปอง |
สำนวนแปลโดยไรน่าน อรุณรังษี
[แก้]ไรน่าน อรุณรังษี แปลจากสำนวนแปลภาษาอังกฤษของ โรเบิร์ต เกรฟส์ และ โอมาร์ อาลีชาห์ ในนามปากกา วีนัส กิติรังษี พิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์การเวก เมื่อ พ.ศ. 2521 ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงและตีพิมพ์ใหม่ในนามของ น่าน กิติรังษี โดยสำนักพิมพ์ประดู่ลาย พ.ศ. 2536 และตีพิมพ์อีกครั้งในนาม ไรน่าน กิติรังษี โดยศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ร่วมกับองค์การยูเนสโกและหนังสือพิมพ์มุสลิมนิวส์ เมื่อ พ.ศ. 2546
ตัวอย่างบทกวี โดย วีนัส กิติรังษี (ไรน่าน อรุณรังษี)
ยามอรุณเบิกฟ้า | ทูตทิวาเยี่ยมเยือน | |
เตือนภพแผ่นฟากฟ้า | ยื่นหัตถาอวยชัย |
ให้แด่ผืนปฐพี | ที่เพิ่งสร่างนิทรา | |
ด้วยคำว่า “แด่ไวน์” | สุรีย์ไขแสงส่อง |
สีทองทาบอาบหล้า | โพ้นหลังคานครคาม | |
ยามเจ้าภาพทรงศักดิ์ | ผู้พิทักษ์ทิวาวาร |
ประทานประจุเหยือกแก้ว | ของเขาแล้วเต็มเปี่ยม | |
ตัวอย่างบทกวี โดย น่าน กิติรังษี (ไรน่าน อรุณรังษี)
อรุณฤกษ์เบิกฟ้าเวหาสวรรค์ | ทูตทิพาจะรังสรรค์พลันแผ่หา | |
ย่องเยื้องเยือนเตือนพิภพจบนภา | ยื่นหัตถาอ้าอำนวยอวยพรชัย |
วิงวอนช่วยอวยสวัสดิ์พิพัฒน์ผล | มิ่งมงคลยลยามตามพิสัย | |
ปฐพีเพิ่งสร่างซานิทราลัย | ด้วยคำแท้แด่ไวน์วิวาห์วาร |
สุรีย์บทสดใสไขแสงส่อง | สาดสีทองอ่องอาบทาบสุขศานต์ | |
โพ้นหลังคานาครคามงามตระการ | เจ้าภาพผ่านชาญศักดิ์พิทักษ์ทิวา |
ประทานเหยือกเลือกสรรอันเลิศแล้ว | ประจุแก้วเขาเปี่ยมเยี่ยมหนักหนา... | |
ดื่ม ก่อนเถิด ! ดื่มให้ | วัยมนพ | |
แด่ชีวิตมิรู้จบ | แห่งเหล้า | |
มาลีร่ำเรณูอบ | หอมมิตร ภาพแฮ | |
ดื่มแด่ความสุขเจ้า | ที่เย้ายวนชม ฯ |
หากขนม (ปัง) กึ่งก้อนอิ่ม | อาจหา | |
ร้อนอากาศอาจนิทรา | ร่มไม้ | |
ใช่ทาส - อีกทาสา | หาไป่ มีแฮ | |
สุขแน่ ! โลกนี้ไซร้ | สุขไร้ไหนเสมือน ฯ |
อิทธิพลต่อวงวรรณกรรมไทย
[แก้]วิมานทะลาย ของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ได้กล่าวถึงรุไบยาตว่า “ปราชญ์โอมา ไคยามได้กล่าวไว้ว่า ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ยิ้มเยาะเล่นหัว เต้นยั่วเหมือนฝัน เป็นความจริงที่จับใจข้าพเจ้ายิ่งนัก ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้ายังรู้สึกว่า โอมา ไคยาม เขียนบทนี้ในเวลาที่จิตใจปลอดโปร่งเป็นสุข ด้วยวิจารณญาณอันประเสริฐ สามารถแลเห็นความจริง ความฝัน ความทุกข์ ความสุขแห่งมนุษย์ได้โดยถ่องแท้ ละคร…ละครแห่งชีวิต ละครแห่งโลก”
เพลง โลกนี้คือละคร มีเนื้อร้องเริ่มต้นว่า "โลกนี้ยิ่งดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร ทุกบททุกตอนเร้าใจ"
บรมครูทางละครร้องของไทย จวงจันทร์ จันทร์คณา ได้อ่านรุไบยาต ประทับใจ คำว่า “พรานบูรพ์” ซึ่งหมายถึง พรานแห่งทิศบูรพา หรือพระอาทิตย์ จึงใช้นามปากกาว่า “พรานบูรพ์” ตาม