ราเอ็ล เฮียร์ช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราเอ็ล เฮียร์ช

ราเอ็ล เฮียร์ช (เยอรมัน: Rahel Hirsch; 15 กันยายน 1870 – 6 ตุลาคม 1953) เป็นแพทย์ชาวเยอรมันและอาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ชาริเตในเบอร์ลิน ในปี 1913 เธอกลายมาเป็นสตรีคนแรกในอาณาจักรปรัสเซียที่ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิชาแพทยศาสตร์[1]

ชีวประวัติ[แก้]

ราเอ็ล เฮียร์ช เกิดเมื่อ 15 กันยายน 1870 ที่เมืองฟรังค์ฟวร์ทอัมไมน์ เป็นหนึ่งในลูกสิบเอ็ดคนของ เมนเดิล เฮียร์ช [de] (1833–1900) ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีประจำชุมชนชาวยิวในฟรังค์ฟวร์ทอัมไมน์ พ่อของเมนเดิลคือ ซัมโซน รัฟฟาเอล เฮียร์ช แรบไบคนสำคัญ

ระหว่างปี 1885 ถึง 1889 ราเอ็ล เฮียร์ช เข้าศึกษาที่วีสบาเดิน และทำงานเป็นครูจนถึงปี 1898 เนื่องในเวลานั้น ไรค์เยอรมันไม่อนุญาตให้สตรีศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ เธอจึงออกเดินทางไปศึกษาต่อแพทยศาสตร์ที่ซือริช ในปี 1899 เธอเดินทางมาศึกษาต่อที่ไลป์ซีก และสตราส์บูร์ก จนจบการศึกษาวุฒิแพทยศาสตร์ในปี 1903

ในปี 1906 เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่สาธิตให้เห็นว่าอนุภาคของแข็งขนาดเล็กกว่า 0.1 มิลลิเมตรสามารถซึมผ่านไตและเข้าวู่ปัสสาวะได้ ก่อนหน้านี้เป็นที่เชื่อกันแค่ว่ามีเพียงของเหลวเท่านั้นที่ผ่านไตได้ เธอถูกเยาะเย้ยที่สภาผู้อำนวยการของชาริเตและงานค้นคว้าของเธอถูกปฏิเสธ กระทั่งปี 1957 เก. โฟล์คไฮเมอร์ (G. Volkheimer) ซึ่งประจำอยู่ที่ชาริเตมาพบผลงานของเธอและนำออกมาตีพิมพ์สู่สาธารณะ และตั้งชื่อให้ว่า "เฮียร์ชเอฟเฟคท์" (Hirsch Effekt)[2]

จากนั้นเธอได้ถูกจ้างทำงานประจำคลินิกแพทย์ระจำมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ที่ชาริเต เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (intern) เธอถือเป็นสตรีคนที่สองที่ชาริเตจ้าง และทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยา ฟรีดริค เคราเซอ (Friedrich Krause)[3] และต่อมาได้ทำงานร่วมดับศัลยแพทย์ เอิร์นสท์ ฟอน แบร์คมันน์ (Ernst von Bergmann) และนักกายวิภาคศาสตร์ วิลเฮล์ม ฟอน วัลเดเยร์-ฮาร์ทซ์ (Wilhelm von Waldeyer-Hartz)[2]

ในปี 1908 เฮียร์ชได้รับการแต่งตั้งเป๋นหัวหน้าพอลีคลินิกประจำคลินิกแพทย์ของชาริเต กระนั้นเธอไม่เคยได้รับว่าจ้างเป็นพนักงานเงินเดือน หลังถูกแทนที่ตำแหน่ง เธอออกจากชาริเตและเปิดคลินิกอายุรกรรมของตนเองในเบอร์ลิน[3] ที่คลินิกเอกชนของเธอ เธอมีอุปกรณ์รังสีเอ็กซ์รวมถึงมีลูกค้าที่รำ่รวยซึ่งช่วยให้เธอสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย[2]

เฮียร์ชได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี 1913 เป็นสตรีคนแรกในปรัสเซียที่ได้ตำแหน่งนี้[3] และในปี 1914 เธอตีพิมพ์ผลการศึกษาชื่อ “อุบัติเหตุและอายุรกรรม” [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Fraulein Now Professor. Rachel Hirsch The First Woman Physician To Gain That Title". New York Times. November 16, 1913. สืบค้นเมื่อ 2010-07-19. Unusual honors have been won by Hirsch, who is the first woman physician in Germany to acquire the coveted title of Professor. ...
  2. 2.0 2.1 2.2 Petra, Lindner (27 February 2009). "Rahel Hirsch, 1870-1953". Jewish Women's Archive. สืบค้นเมื่อ 17 April 2020.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Rahel Hirsch". Charité. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-06. สืบค้นเมื่อ 2024-03-11.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]