ราชรัตน์
ราชรัตน์ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Angiosperms |
ชั้น: | Rosids |
อันดับ: | Myrtales |
วงศ์: | Myrtaceae |
สกุล: | Syzygium |
สปีชีส์: | Syzygium sirindhorniae |
ชื่อทวินาม | |
Syzygium sirindhorniae Chantar., Suksathan & Wongnak |
ราชรัตน์[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Syzygium sirindhorniae Chantar., Suksathan & Wongnak) เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae)[2] ค้นพบในปี พ.ศ. 2559 ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลก จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย สำรวจพบบนภูเขาสูงกว่า 1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในจังหวัดเชียงใหม่ จัดเป็นพืชหายาก (rare plants) และเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic plants)[3] ของประเทศไทย ค้นพบโดย ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน รักษาการ รองผู้อำนวยการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (ในขณะสำรวจพบ) และนายเมธี วงศ์หนัก นักพฤกษภูมิศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.)[4]และได้ความร่วมมือจาก ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชมพู่ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ตรวจสอบและร่วมตีพิมพ์เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรียกพรรณไม้ในภาษาไทยว่า "ราชรัตน์"[5]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]เป็นพืชหายากถิ่นเดียว มีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก
ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมหอก เนื้อใบหนาแข็ง เส้นใบเด่นชัด
ช่อดอก ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด 5 - 17 ดอก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก
เกสรเพศผู้ มีจำนวนมากทำให้เมื่อดอกบานพร้อมกันจะสวยงามมากมีลักษณะคล้ายพู่ไหมสีขาว ที่ถูกมัดรวมเข้าด้วยกันเป็นรูปครึ่งทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 20 เซนติเมตร
ผล ทรงกลมมีเปลือกหนา เมื่อสุกมีสีม่วงแต่รับประทานไม่ได้เพราะไม่มีเนื้อนุ่มเหมือนชมพู่ทั่วไป[6]
การตีพิมพ์ในวารสารเพื่อยืนยันพันธุ์พืชชนิดใหม่ที่พบ
[แก้]ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa ฉบับที่ 289(2) ในเดือนธันวาคม 2559 [7] การตีพิมพ์ในวารสารเพื่อยืนยัน พืชพันธุ์ใหม่ของโลก เพื่อนำไปใช้ใน การอ้างอิงในด้านอนุกรมวิธานพืช ข้อมูลที่ศึกษาและตัวอย่างอ้างอิงได้นำไปเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช เพื่อการศึกษาด้านอนุกรมวิธานต่อไป ข้อมูลที่ศึกษาสามารถเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นในประเทศและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโดยมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืช วงศ์ชมพู่ (Myrtaceae)[8] ปัจจุบันองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กำลังเร่งดำเนินการศึกษาวิธีการเพาะขยายพันธุ์พืชหายากถิ่นเดียวชนิดนี้ไว้ เพื่อการอนุรักษ์ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศสืบไป
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://novataxa.blogspot.com/2016/12/syzygium-sirindhorniae.html
- ↑ https://en.wikipedia.org/wiki/Myrtaceae
- ↑ http://www.qsbg.org/Database/Article/Art_Files/article03.pdf
- ↑ http://www.tnews.co.th/contents/338959
- ↑ http://www.tnews.co.th/hashtag/48878
- ↑ https://www.kku.ac.th/newspaper/V.php?q=P0006196&l=th[ลิงก์เสีย]
- ↑ https://biotaxa.org/Phytotaxa/article/view/phytotaxa.289.2.10
- ↑ http://www.tnews.co.th/contents/338959