รอยคดโค้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รอยคดโค้ง (อังกฤษ: fold) ของหินโผล่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนลักษณะที่เกิดจากผลของแรงเค้น จนเกิดความเครียดในหินโดยแสดงออกในรูปของการคดโค้ง โก่งงอ หรือหักพับ รอยคดโค้งมีได้ทั้งขนาดเล็กแบบดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น (microscopic scale) ขนาดเท่ากับฝ่ามือ (mesoscale) หรือใหญ่ (macroscopic หรือ regional scale) จนปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพโทรสัมผัสได้ การเกิดชั้นหินคดโค้งจึงต้องเกิดในสภาวะที่หินมีลักษณะอ่อนนิ่ม สามารถเคลื่อนตัวไหลและยืด ชั้นหินที่แข็งแรงแสดงชั้นชัดเจนเกิดการโค้ง มักแสดงการโค้งแบบการไหลเลื่อนไปตามชั้น (layer-parallel slippage) เหมือนการโค้งพับหนังสือ แต่สำหรับชั้นหินที่อ่อนนิ่ม การโค้งมักแสดงในรูปไหลลื่นยืดออก หรือบางครั้งเกิดการละลายความดันในส่วนที่เป็นรอยแตกเรียบได้ โครงสร้างของรอยคดโค้งแบ่งได้เป็น โครงสร้างประทุนคว่ำ (anticline) และโครงสร้างประทุนหงาย (syncline) โดยชั้นหินแก่อยู่ล่างชั้นหินอ่อน แต่ถ้ายังไม่สามารถลำดับอายุของชั้นหินได้ควรเรียกเพียง antiform หรือ synform

ส่วนประกอบของรอยคดโค้ง[แก้]

  1. จุดพับ (hinge point) คือ จุดที่แสดงค่าการโค้งมากที่สุด (maximum curvature) บางครั้งรอยคดโค้งไม่แสดงจุดพับที่ชัดเจน แต่อาจพบเห็นเป็นแถบหรือเขตได้ ซึ่งเรียกว่า เขตรอยพับ (hinge zone)
  2. ท้องรอยคดโค้ง (fold trough) คือ ส่วนที่อยู่ต่ำสุดของชั้นหินคดโค้งที่ปรากฏให้เห็น (minimum topographic height)
  3. ยอดรอยคดโค้ง (fold crest) คือ ส่วนที่อยู่สูงสุดของชั้นหินคดโค้งที่ปรากฏให้เห็น (maximum topographic height)
  4. แขนรอยคดโค้ง (fold limb) คือ ส่วนของชั้นหินที่อยู่ระหว่างสันและท้องรอยคดโค้ง
  5. เส้นพับ (hinge line) คือเส้นที่ลากต่อจุดพับเข้าด้วยกัน
  6. จุดเปลี่ยนโค้ง (inflection point) คือ บริเวณที่มีการเปลี่ยนแนวโค้งของชั้นหินคดโค้ง
  7. ระนาบแกน (axial plane) หรือระนาบแกนการโค้ง คือ ระนาบสมมติที่แบ่งแขนรอยโค้งออกเท่าๆ กัน ซึ่งถ้าไม่เป็นระนาบเรามักเรียกว่า ผิวแกนการคดโค้ง (axial surface) หรือผิวพับแกนคดโค้ง (hinge surface) โดยทั่วไปในชั้นหินโค้งหลายชั้น ระนาบแกนเกิดจากการเชื่อมต่อเส้นพับ (hinge line) ของแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน
  8. ความยาวของการคดโค้ง (wavelength) คือ ระยะทางจากสันการคดโค้งถึงท้องการคดโค้งถัดไป
  9. ความสูงการคดโค้ง (amplitude) คือ ระยะทางครึ่งหนึ่งที่วัดจากสัน (crest) และท้อง (trough) การคดโค้ง
  10. มุมกด (plunge) คือมุมเทของแนวการคดโค้ง (fold axis)

อ้างอิง[แก้]

  • เพียงตา สาตรักษ์, ธรณีวิทยาโครงสร้าง, ภาควิชาเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2546