รถตักตีนตะขาบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถตักตีนตะขาบ

รถตักตีนตะขาบ (tracked loader) เป็นยานยนต์งานก่อสร้างชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยช่วงล่างแบบสายพานหรือตีนตะขาบ และชุดบุ้งกี๋ (loader) สำหรับการขุดหรือตักวัสดุ เครื่องจักรกลชนิดนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องจักรสารพัดประโยชน์ที่มีความคล่องตัวในอุตสาหกรรมการขุดตัก เป็นรถแบบอเนกประสงค์ที่สามารถทำงานได้หลายอย่างในสถานที่ก่อสร้าง เช่นการดัน, การขุด หรือตักวัสดุ

การออกแบบของรถตักตีนตะขาบมีการวิวัฒนาการมาหลายขั้นตอน. เดิมทีรถตักตีนตะขาบได้รับการดัดแปลงมาจากรถแทรกเตอร์แบบตีนตะขาบ และใช้งานเหมือนกับรถปราบดิน (บุลโดเซอร์) ในยุคแรก จึงยังไม่มีสมรรถนะในการขุดลงในพื้นดินแข็ง การใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นการขนย้ายวัสดุที่กองรวมกัน และขนถ่ายวัสดุกับรถบรรทุกหรือรถไฟ

การเปลี่ยนแปลงการออกแบบที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการนำระบบไฮดรอลิกมาใช้ในการขับเคลื่อนระบบก้านต่อของชุดตัก ทำให้กำลังงานของการตักเพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญคือรถตักสามารถส่งแรงดันกดลงด้านล่างไปยังบุ้งกี๋ได้ ซึ่งทำให้เพิ่มความสามารถในการขุดพื้นดินแข็งได้ดีขึ้นอย่างมาก การออกแบบส่วนอื่นยังคงลอกแบบจากรถบุลโดเซอร์ น้ำหนักของเครื่องยนต์ยังคงกระทำลงบนส่วนครึ่งหน้าของสายพานตีนตะขาบเช่นเดียวกับส่วนประกอบชุดตักที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งมักจะก่อให้เกิดปัญหาการสึกหรอที่เร็วเกินควรของล้อนำด้านหน้า และชิ้นส่วนช่วงล่าง

รถตักตีนตะขาบ ของ Liebherr
รถตักตีนตะขาบ ของ Caterpillar

การประยุกต์ใช้ระบบขับเคลื่อนไฮโดรสแตติกในรถตักตีนตะขาบเป็นพัฒนาการที่สำคัญประการต่อมา ทำให้การเคลื่อนที่ของรถมีความคล่องตัวสูงและบังคับได้ง่ายขึ้น รถตักตีนตะขาบในปัจจุบันเป็นเครื่องจักรกลที่มีความซับซ้อนสูง โดยการใช้ระบบส่งกำลังแบบไฮโดรสแตติก และระบบควบคุมไฮดรอลิกไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

อ้างอิง[แก้]