มูลปริยายวรรค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มูลปริยายวรรค แบ่งออกเป็น 10 ดังนี้คือ มูลปริยายสูตร, สัพพาสวสังวรสูตร, ธรรมทายาทสูตร, ภยเภรวสูตร, อนังคณสูตร, อากังเขยยสูตร, วัตถูปมสูตร, สัลเลขสูตร, สัมมาทิฏฐิสูตร และสติปัฏฐานสูตร ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้มีคำอธิบายตามลำดับ ดังนี้

อรรถกถา มูลปริยายสูตร พระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นมูลธรรมทั้งปวง กล่าวคือพื้นฐานของปุถุชน, ภิกษุผู้เป็นเสขะ, ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ และภูมิของพระศาสดา [1] ซึ่งผู้รจนาอรรถกถาได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความหมายของบุคคลเหล่านี้ และให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณลักษณะต่างๆ เช่น การระบุว่า พระอนาคามี และพระขีณาสพชั้นสุทธาวาส ย่อมมีเฉพาะในเวลาที่พระพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นเท่านั้น ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้น แม้ตลอดอสงไขยกัลป ในกาลนั้น ภูมินั้นย่อมว่างเปล่า [2] พระอรหันต์นั้น ท่านเห็นโทษในความกำหนัด พิจารณาเห็นทุกข์อยู่เป็นผู้ หลุดพ้นแล้ว ด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์. ท่านเห็นโทษในโทสะ พิจารณาเห็นโดยความ เป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอนิมิตตวิโมกข์. ท่านเห็นโทษในโมหะ พิจารณาในความเป็นอนัตตาอยู่ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยสุญญตวิโมกข์ [3] และการระบุว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกับเหล่าพระสาวก ไม่มีความแตกต่างกัน ในการละกิเลส ด้วยมรรคนั้น ก็จริง ถึงกระนั้น ก็ยังมีความแตกต่างกัน ในเรื่องความรอบรู้ [4] เป็นต้น

อรรถกถา สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด [5] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ชื่อว่าอาสวะ เพราะไหลไป เพราะหมักดองอยู่นาน และอาสวะที่พึงละเพราะสังวรนั้น เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ของโสดาปัตติมรรคและ ของมรรคทั้ง 3 เหล่านั้นทั้งหมด ทั้งนี้ พระเถระพรรณนาว่า อาสวะบางเหล่า ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยอำนาจ การอุทเทศ(การท่องจำ) ปริปุจฉา (การสอบถาม) ปริยัติ(การเล่าเรียน) นวกรรม(การก่อสร้าง) โยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย) (อ.สัพพาสวสังวรสูตร) [6]

อรรถกถา ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยผู้รับมรดกธรรม โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้เป็นผู้รับมรดกธรรม ( ธัมมทายาท ) อย่าเป็นผู้รับมรดกอามิส ( อามิสทายาท) [7] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ภิกษุผู้เห็นแก่ ปัจจัยย่อมสิ้นเดชอับแสงระหว่างบริษัท 4 คล้ายกับถ่านไฟ ที่ดับแล้ว ส่วนภิกษุผู้มีจิตหวนกลับจากปัจจัย เป็นผู้หนักในธรรมประพฤติ ครอบงำอามิสอยู่เป็นนิตย์ ย่อมมีเดชคล้ายกับราชสีห์ [8] พร้อมกันนี้ ยังยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดจากบาปธรรม ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาท เช่น ย่อมโกรธคนอื่นที่ได้ลาภ [9]

อรรถกถา ภยเภรวสูตร ว่าด้วยความกลัวและสิ่งที่กลัว [10] สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความที่พระองค์ว่ามีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อาชีวะ บริสุทธิ์ ไม่มีความอยากได้มาก จึงจิตตั้งมั่น มีปัญญา มิหวั่นเกรงสิ่งใด [11] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สติมี 2 อย่าง คือ สติประกอบด้วยปัญญา สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ย่อมหย่อนกำลัง สติที่หย่อนกำลัง จะทำหน้าที่ ของสติไม่ได้ ภิกษุหลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ(ปัญญา) ย่อมไม่สามารถจะ ทำแม้เพียงการกำหนดอารมณ์ได้เลย [12] พร้อมอธิบายว่า การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สามารถกำจัดความกลัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสรณะที่เป็นโลกุตตระ ย่อมมีสามัญญผล 4 เป็นวิบาก ส่วนการถึงสรณะ ที่เป็นโลกิยะ ย่อมมีภพสมบัติ และโภคสมบัติ เป็นผล [13]

อรรถกถา อนังคณสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลส กล่าวคือ บุคคลทั้งหลายแบ่งเป็นพวกที่ไม่รู้ตามความจริง จะเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลส มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา ส่วนพวกที่รู้ตามความจริง ถ้ามีกิเลสก็พยายามเพื่อละกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ราคะก็จะไม่ตามรบกวน ในที่สุดก็จะเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส ไม่มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา [14] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า กิเลส พระพุทธองค์ ตรัสเรียกว่า อังคณะ(เป็นเหมือนเนิน) กิเลสเพียงดังเนินนั้น ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ หรือ หมายถึง มลทินอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือ เปือกตม [15]

อรรถกถา อากังเขยยสูตร ว่าด้วยความหวังของภิกษุ ได้แก่ ความหวังขนาดธรรมดา ให้เป็นที่รักเคารพของเพื่อนพรหมจารีขึ้นไปจนถึงความหวังขั้นสูงสุด คือการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ (เป็นพระอรหันต์) [16] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวข้อปฏิบัติให้ถึงความหวังสูงสุดว่า ศีลที่ ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย จะจัดเป็นศีลที่บริบูรณ์ไม่ได้ เปรียบเหมือนนาที่ ประกอบด้วยโทษ 4 อย่าง และปาฏิโมกขสังวร ศีลนั้นของผู้ใด ไม่ด่างพร้อย ผู้นั้นย่อมสามารถที่จะรักษาศีล ที่เหลือให้ดำรงอยู่ตามปกติได้ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีศีรษะไม่ขาด ก็อาจรักษา ชีวิตไว้ได้ [17]

อรรถกถา วัตถูปมสูตร พระสูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี กล่าวคือ เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคคติ เป็นหวังได้ เปรียบเหมือนผ้าที่เศร้าหมองมีมลทินจับ [18] พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติ ประภัสสร ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลส ที่จรมา จิตนั้นเมื่อได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ บุคคลก็สามารถทำให้ประภัสสร ยิ่งขึ้นอีกได้ ความพยายามในการชำระจิตนั้น ย่อมไม่ไร้ผล [19] นอกจากนี้ ท่านยังแจกจแงถึงการการละกิเลสว่ามีอยู่ 2 อย่าง คือ ละตามลำดับกิเลส ละตามมรรค, โสดาปัตติมรรค ย่อมละ ความลบหลู่คุณท่าน ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา โอ้อวด. อนาคามิมรรค ย่อมละความพยาบาท ความโกรธ ความผูกโกรธ ความเลินเล่อ. อรหันตมรรค ย่อมละความเพ่งเล็ง ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความมัวเมา [20]

อรรถกถา สัลเลขสูตร ว่าด้วยการขัดเกลากิเลส กล่าวคือ ภิกษุพึงทำความขัดเกลากิเลสในพุทธศาสนา นี้ คือ งดเว้นจากกิเลส 44 ประเภท [21] พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ใดเมื่อไม่เห็นการฟุ้งขึ้นแห่งกิเลสที่ข่มไว้ด้วยสมถะ หรือที่ข่มไว้ได้ด้วยวิปัสสนา ย่อมเข้าใจว่า ตนเองเป็น พระโสดาบันบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง ดังเช่นเรื่องของพระมหาเถระในหังกนวิหาร รูปหนึ่ง ในจิตตลดาบรรพต สำคัญว่าตนเป็น พระอรหันต์ จนพรรษา 60 ล่วงแล้ว [22]

อรรถกถา สัมมาทิฏฐิสูตร สูตรว่าด้วยความเห็นชอบ โดยยกอาการรู้จักอกุศลและมูลรากของอกุศล การรู้จักกุศลและมูลรากของกุศลขึ้นแสดง ตามด้วยปริยายข้ออื่นๆ อีก 15 ข้อ และโดยรู้จักสิ่งนั้น เหตุเกิดของสิ่งนั้นความดับของสิ่งนั้น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสิ่งนั้น [23] พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สัมมาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ โลกิยะ และโลกุตตระ, คนที่มีสัมมาทิฏฐิ มี 3 ประเภท คือ ปุถุชน เสกขบุคคล (ผู้ต้องศึกษา) อเสกขบุคคล (ผู้ไม่ต้องศึกษา) และกล่าววว่า การวิรัติ (เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว) แยกออกเป็น 3 อย่าง คือ สัมปัตตวิรัติ (เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า) สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน) สมุจเฉทวิรัติ (เว้นได้โดยเด็ดขาด) [24]

อรรถกถา สติปัฏฐานสูตร พระสูตรว่าด้วยการตั้งสติ 4 ประการ และอานิสงส์ แห่งการเจริญสติปัฏฐาน 4 พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวกุรุรัฐ ผู้ที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ให้สดับนั้น เป็นผู้มีร่างกาย และจิตใจเหมาะสมเป็นนิจ มีกำลังปัญญา สามารถ รับฟัง พระธรรมเทศนาอันลึกซึ้งได้ [25] และชี้แจงว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง สติปัฏฐานสูตร เป็นธรรมเครื่องนำออกในระยะ 7 ปี ด้วยอำนาจเวไนยบุคคล (ผู้พอจะแนะนำสั่งสอนได้) ผู้มีสติปัญญาปานกลาง เท่านั้น [26]


อ้างอิง[แก้]

  1. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 205
  2. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 85
  3. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 104
  4. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 122
  5. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 206
  6. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 151, 160 และ 177
  7. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 206
  8. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 219
  9. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 255
  10. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 207
  11. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 261
  12. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 292 - 293
  13. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 332
  14. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 208 - 209
  15. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 363 - 364
  16. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 210
  17. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 408 - 410
  18. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 210
  19. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 442
  20. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 448
  21. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 211 - 212
  22. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 493 - 494
  23. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 212 - 213
  24. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 542, หน้า 558
  25. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 636
  26. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. หน้า 782

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร.
  • Jayarava Attwood. (2012). Proliferation : An exploration of the concept of papanca in the Pali Suttas with translations of relevant texts.
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี. อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพมหานคร. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
  • พระศรีปริยัติโมลี. (2542). เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า 129 - 144