มิตสึโกะ อาโอยามะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคาน์เตสมิตสึโกะแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี
เคาน์เตสแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี
ประสูติ7 กรกฎาคม พ.ศ. 2417
โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
พิราลัย27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (67 ปี)
เมอดลิง, ประเทศออสเตรีย
พระสวามีเคานต์ไฮน์ริชแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี
พระบุตร7 คน
ราชวงศ์คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี

เคาน์เตสมิตสึโกะแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (เยอรมัน: Mitsuko, Gräfin von Coudenhove-Kalergi; 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 — 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484) หรือนามเดิมว่า มิตสึ อาโอยามะ (ญี่ปุ่น: 青山みつ) เป็นสตรีญี่ปุ่นคนแรกที่อพยพเข้าไปยังยุโรป และเป็นภริยาของเคานต์ไฮน์ริชแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี นักการทูตชาวออสเตรีย และเป็นมารดาของริชชาร์ท นิคโคเลาส์ ฟ็อน คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี นักการเมืองของประเทศออสเตรีย

ประวัติ[แก้]

มิตสึโกะเป็นบุตรคนที่สามของครอบครัวซึ่งตระกูลซามูไรและเปิดกิจการร้านขายของเก่าในกรุงโตเกียว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2434 เคานต์ไฮน์ริชแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี นักการทูตชาวออสเตรียได้มาประจำการที่ญี่ปุ่น และมักเข้ามาในร้านของครอบครัวนี้อยู่เสมอ ๆ[1]

วันหนึ่งม้าของเคานต์ไฮน์ริชได้ลื่นน้ำแข็งจนเสียหลักล้มลงหน้าร้านของครอบครัวมิตสึโกะ เมื่อเธอเห็นเช่นนั้นจึงได้เข้ามาช่วยเหลือเคานต์ไฮน์ริช ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ทูตหนุ่มผู้นี้ยิ่งนัก เคานต์ไฮน์ริชจึงได้เสนอกับเจ้าของร้านให้หญิงสาวผู้นี้เข้าไปทำงานในห้องรับแขกของสถานทูตได้[1] เมื่อทั้งสองได้ใกล้ชิดกันยังให้เกิดเป็นความรักท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบิดาของฝ่ายหญิง[1] แต่ทั้งสองก็ลักลอบสมรสกันในปี พ.ศ. 2435 ซึ่งนำไปสู่การนิราศจากญี่ปุ่นในอีก 18 ปีต่อมา[1]

สู่เวียนนา[แก้]

มิตสึโกะให้กำเนิดบุตรสองคนในปี พ.ศ. 2436 และ 2437 ตามลำดับที่โตเกียว ก่อนที่เธอจะย้ายไปยังเวียนนาอย่างถาวร เธอได้รับประทานพระดำรัสของจักรพรรดินีเอโช ความว่า "ไม่ว่าพรหมลิขิตของเธอจะเป็นอย่างไร เธอก็ไม่ควรที่จะลืมเคารพตนเองให้เหมาะสมกับเป็นสตรีญี่ปุ่น" และมิตสึโกะก็เก็บพระดำรัสไว้ใส่ใจเสมอ[1]

มิตสึโกะ ขณะที่อยู่ในออสเตรีย

เมื่อเคานต์ไปถึงเวียนนาพร้อมกับสาวเอเชียร่างน้อย ก็ได้รับการต้อนรับอย่างตื่นตะลึงจากสาว ๆ ในศาล[1] ทั้งนี้เธอเข้ารับการศึกษาภาษาเยอรมัน, ภาษาฝรั่งเศส, คณิตศาสตร์, ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์[1] และได้ให้กำเนิดบุตรอีก 5 คน รวมเป็น 7 คน ได้แก่

  1. โยฮันน์ อีวันเจลิสต์ เวียร์จีนีโอ เคานต์แห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2436-2508)
  2. ริชชาร์ท นิคโคเลาส์ ฟ็อน คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2437—2515) นักการเมือง
  3. เจอรอล์ฟ โจเซฟ เบเนดิกต์ มารีอา วาเลนติน ฟรันซ์ คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2439—2521) เป็นบิดาของ บาร์บารา คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี นักข่าว และไมเคิล คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี ศิลปิน
  4. เอลิซาเบธ มารีอา อันนา คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2441—1936)
  5. โอลกา มารีเอตตา เอนเรียตเทอ มารีอา คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2443—2479)
  6. เอลิซาเบธ ฟรีเดอริเคอ เคานต์เตสแห่งคูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2444—2514) ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น ไอดา ฟรีเดอริเคอ เกอเรส[2] นักเขียน
  7. คาร์ล ไฮน์ริช ฟรันซ์ มารีอา คูเดินโฮเวอ-คาแลร์กี (พ.ศ. 2446—2530)

ชีวิตในบั้นปลาย[แก้]

หลังการเสียชีวิตของสามีในปี พ.ศ. 2449 มิตสึโกะในวัย 33 ปี ได้เรียนรู้กฎหมายและเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการที่ดินที่เป็นของครอบครัว ทั้งยังได้อบรมบุตรธิดาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หนึ่งในบุตรของเธอ ริชาร์ด นีโคเลาส์ ได้เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการ Pan-Europa[1][3]

มิตสึโกะ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ที่ประเทศออสเตรีย โดยที่เธอมิเคยหวนกลับไปญี่ปุ่นเลย ร่างของเธอถูกฝังในป่าช้าฮีตซิงเงอร์ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 La Carmina. (25 สิงหาคม 2551) MITSUKO COUDENHOVE-KALERGI: JAPANESE AUSTRIAN COUNTESS, MUSE OF GUERLAIN. เรียกดูเมื่อ 25 กันยายน 2555 (อังกฤษ)
  2. Broken Lights Diaries and Letters of Ida Gorres, page vi Introduction by Alan Pryce-Jones
  3. Pan-Europa. Pan-Europa – The parent idea of a united Europe. เรียกดูเมื่อ 25 กันยายน 2555
  4. Kunst und Kultur in Wien. Mitsuko Aoyama Coudenhove-Kalergi. เรียกดูเมื่อ 24 กันยายน 2555 (เยอรมัน)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]