พีเอเยซู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

"พีเอเยซู" (ละติน: Pie Jesu) เป็นโมเท็ต (motet) ซึ่งมาจากบทสุดท้ายของเพลงสวดสรรเสริญเพลงหนึ่งชื่อ "วันพระพิโรธ" (Dies Irae) โมเท็ตดังกล่าวมักใช้เป็นตอนหนึ่งของการสวดศพ เช่น บทสวดศพของลุยกี เชรูบีนี (Luigi Cherubini), กาเบรียล โฟเร (Gabriel Fauré), โมรีซ ดูรูเฟล (Maurice Duruflé), จอห์น รัตเทอร์ (John Rutter), คาร์ล เจนกินส์ (Karl Jenkins), และเฟรดริก ซิกเตน (Fredrik Sixten) มี "พีเอเยซู" เป็นท่อนต่างหาก ในบรรดาบทสวดศพดังกล่าว ฉบับของโฟเรนั้นเป็นที่รู้จักมากที่สุด กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ (Camille Saint-Saëns) คีตกวีชาวฝรั่งเศส กล่าวถึง "พีเอเยซู" ฉบับของโฟเรว่า "นี้คือ 'พีเอเยซู' ฉบับเอก เหมือนกับที่ 'อาเวเวรัมคอร์ปัส' (Ave verum corpus) ฉบับเอกก็มีแต่ของโมซาร์ทเท่านั้น"[1]

"พีเอเยซู" ที่แอนดรูว ลอยด์ เว็บเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) ประพันธ์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงสวดศพฉบับของเขาเมื่อ ค.ศ. 1985 ก็เป็นที่ขึ้นชื่อเช่นกัน "พีเอเยซู" ฉบับนี้มีนักร้องหลายคนขับร้องเอาไว้ เช่น แจกกี อีวันโค (Jackie Evancho), ชาร์ลอต เชิร์ช (Charlotte Church), ซาราห์ ไบรต์แมน (Sarah Brightman), มารี ออสมอนด์ (Marie Osmond), และแอนนา เนตเรบโก (Anna Netrebko) โดยเฉพาะฉบับซาราห์ ไบรต์แมนนั้น ได้แผ่นเสียงเงินในสหราชอาณาจักรเมื่อ ค.ศ. 1985 ด้วย[2]

ถ้อยคำเดิมจาก "วันพระพิโรธ" มีดังนี้

บท แปล
  • Pie Jesu Domine,
  • Dona eis requiem. (×2)
  • Pie Jesu Domine,
  • Dona eis requiem sempiternam.
  • Pious Lord Jesu,
  • Give them rest.
  • Pious Lord Jesu,
  • Give them everlasting rest.

ในบทภาษาละตินนั้น คำว่า "pie" เป็นอาลปน์ (vocative) ของคำว่า "pius" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า pious (ทรงธรรม)[3] ส่วน "Jesu" หรือภาษาละตินดั้งเดิมเขียน "Iesu" เป็นอาลปน์ของ "Jesus" คือ พระเยซู[4] อนึ่ง คำว่า "requiem" เป็นทุติยา (accusative) ของคำว่า "requies" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า rest (คลาย) แต่บางทีก็มีผู้แปลผิดเป็น "peace" (สงบ) ซึ่งที่จริงแล้วตรงกับ "pacem" ดังในถ้อยคำว่า "dona nobis pacem" แปลว่า "give us peace" (จงประทานความสงบแก่เรา)

ส่วนถ้อยคำจากเพลงสวดศพฉบับแอนดรูว ลอยด์ เว็บเบอร์นั้นมีดังนี้

บท แปล
  •   Pie Jesu, (×4)
  • Qui tollis peccata mundi,
  • Dona eis requiem. (×2)
  •   Agnus Dei, (×4)
  • Qui tollis peccata mundi,
  • Dona eis requiem, (×2)
  • Sempiternam (×2)
  • Requiem.
  •   Pious Jesu,
  • Who takes away the sins of the world,
  • Give them rest.
  •   Lamb of God,
  • Who takes away the sins of the world,
  • Give them rest,
  • Everlasting
  • Rest.

อ้างอิง[แก้]

  1. Steinberg, Michael. "Gabriel Fauré: Requiem, Op. 48." Choral Masterworks: A Listener's Guide. Oxford: Oxford University Press, 2005, 131–137.
  2. "British certifications – Sarah Brightman & Paul Miles-Kingston – Pie Jesu". British Phonographic Industry. Type Pie Jesu in the "Search BPI Awards" field and then press Enter.
  3. Champlin, John Denison. The New Champlin Cyclopedia for Young Folks. Holt, 1924, p. 403
  4. White, William. Notes and Queries. Oxford University Press, 1904, p. 490. "In Greek, which did not possess the sound sh, but substituted s, and rejected the Semitic evanescent gutturals, Yēshū(ā) became Yēsū' (Ἰησοῦ), in the nominative case Yēsū'∙s (Ἰησοῦς). In Latin these were written in Roman letters Iesu, nominative Iesu∙s. In Old French this became in the nominative case Jésus; in the regimen or oblique case Jésu. Middle English adopted the stem-form Jesu, the regular form of the name down to the time of the Renascence. It then became the fashion to restore the Latin ∙s of the nominative case, Jesu∙s, and to use the nominative form also for the objective and oblique cases, just as we do in Charle∙s, Jame∙s, Juliu∙s, and Thoma∙s. Very generally, however, the vocative remained Jesu, as in Latin and in Middle English, and this is still usual in hymns."

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]