พิพิธภัณฑ์อลังการศิลป์บึราร์ดู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์อลังการศิลป์บึราร์ดู
Berardo – Museu Arte Deco
พิพิธภัณฑ์ใกล้กับสะพาน 25 เมษายน ในลิสบอน
แผนที่
ก่อตั้ง24 เมษายน พ.ศ. 2564; 3 ปีก่อน (2564-04-24)
ที่ตั้งลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
พิกัดภูมิศาสตร์38°42′15″N 09°10′45″W / 38.70417°N 9.17917°W / 38.70417; -9.17917
ประเภทพิพิธภัณฑ์การออกแบบ
ผู้ก่อตั้งฌูแซ บึราร์ดู
เจ้าของอาซูซียาเซาดึกูแลซอยช์
ที่จอดรถมี ห่างประมาณ 100 เมตร
เว็บไซต์bmad.pt

พิพิธภัณฑ์อลังการศิลป์บึราร์ดู (โปรตุเกส: Berardo – Museu Arte Deco; อังกฤษ: Berardo – Museum of Art Deco) หรือ บี-แมด (อังกฤษ: B-MAD) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะการตกแต่งในขบวนการออกแบบอลังการศิลป์ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ซึ่งมีการจัดแสดงผลงานรูปแบบนวศิลป์ที่มีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับอลังการศิลป์นิยมด้วย พิพิธภัณฑ์ริเริ่มโดยอาซูซียาเซาดึกูแลซอยช์ (Associação de Colecções) และก่อตั้งโดยฌูแซ บึราร์ดู (José Manuel Rodrigues Berardo) นักธุรกิจชาวโปรตุเกส ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2564 พิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้เข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป[1][2][3]

ความเป็นมาของอาคาร[แก้]

อาคารหลังนี้เคยเป็นบ้านพักฤดูร้อนของมาร์ควิสแห่งอาบรังตึช (Marquês de Abrantes) ซึ่งเขาได้กำหนดให้สร้างขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 อาคารนี้ถูกซื้อในช่วงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยกิลยือร์มีนา ปึไรรา โฟลรึช (Guilhermina Júlia da Cunha Pereira Flores) มารดาของอังตอนียู ฌูแซ ปึไรรา โฟลรึช (António José Pereira Flores) แพทย์และนักวิจัย ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของอังตอนียู แอกัช มูนิช (António Egas Moniz) ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งพักอาศัยอยู่ในอาคารหลังนี้ระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ตั้งชื่อตามมูนิชอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์[1][4][5]

อังตอนียู โฟลรึช เป็นคนร่วมสมัยกับสถาปนิกราอุล ลีนู (Raul Lino) เขาได้เชิญลีนูให้ออกแบบปรับปรุงอาคารในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 โครงสร้างหลักถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น เนื่องจากความต้องการพื้นที่เพื่อรองรับทั้งครอบครัว มีการเพิ่มชั้นสองและสามรวมทั้งจุดชมทิวทัศน์แม่น้ำแตฌู จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพาน 25 เมษายน ซึ่งเดิมชื่อสะพานซาลาซาร์ ตามชื่อผู้นำระบอบเผด็จการอึชตาดูโนวู คืออังตอนียู ดึ ออลีไวรา ซาลาซาร์ (António de Oliveira Salazar) สะพานเปิดใน พ.ศ. 2509[1][4][5]

นิทรรศการ[แก้]

เก้าอี้นวมยาวออกแบบโดยไอลีน เกรย์

บี-แมดจัดแสดงชุดสะสมสำคัญของงานศิลปะรูปแบบนวศิลป์และอลังการศิลป์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอชุดสะสมผลงานทั้งสองรูปแบบร่วมกัน และยังมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนชุดสะสมอลังการศิลป์ในเมืองอาไซเตา, โปร์ตู, ซิงตรา, พิพิธภัณฑ์ชุดสะสมบึราร์ดู ในเมืองบึไล และที่เขตปกครองตนเองมาเดราของโปรตุเกส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฌูแซ บึราร์ดู เช่นเดียวกับในพิพิธภัณฑ์นานาชาติหลายแห่ง พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่รวบรวมบางส่วนของชุดสะสมบึราร์ดูที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน รวมกับการจัดหาสิ่งสะสมใหม่จำนวนหนึ่ง นิทรรศการในช่วงเปิดพิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงศิลปะการตกแต่งตั้งแต่ทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง[1][4][5]

นิทรรศการมีการแสดงผลงานจากนักออกแบบและศิลปินในแนวนวศิลป์และอลังการศิลป์ที่มีชื่อเสียงเช่น เอมีล-ฌัก รูลมาน (Émile-Jacques Ruhlmann), ฌ็อง-มีแชล ฟร็องก์ (Jean-Michel Frank), ฌัก อาดแน (Jacques Adnet), มอริส ดูว์แฟรน (Maurice Dufrêne), ฌูล เลอเลอ (Jules Leleu), ปอล ฟอโล (Paul Follot), หลุยส์ มาฌอแรล (Louis Majorelle), เรอเน ลาลิก (René Lalique), ฌ็อง ปุยฟอร์กา (Jean Puiforcat), เอากุสท์ แฮร์บอร์ท (August Herborth), แอดการ์ บร็องต์ (Edgar Brandt) และไอลีน เกรย์ (Eileen Grey) การจัดแสดงมีทั้งเครื่องเรือน งานเหล็ก โคมไฟ เครื่องแก้ว เซรามิก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องเงิน ตลอดจนภาพวาด ประติมากรรม ภาพลายเส้น แฟชั่น และเครื่องประดับ นิทรรศการนี้ยังมีภาพวาดของเอมีล-ฌัก รูลมานน์ จากพิพิธภัณฑ์กาซาดึซึรัลวึช (Casa de Serralves) ในโปร์ตู ซึ่งอาคารของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างสำคัญของสถาปัตยกรรมพลเมืองรูปแบบอลังการศิลป์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงภาพวาดเครื่องเงินต้นฉบับมากกว่า 5,000 ชิ้นของช่างอัญมณีจากโอรีวึซารียาไรช์อีฟิลยุช (Ourivesaria Reis & Filhos) สมาคมยังได้อนุรักษ์เครื่องเรือนจากร้านกาซาวีเซ็งต์ (Casa Vicent) และกาซาอิงแปรียู (Casa Império) ซึ่งดำเนินกิจการในโปร์ตู[1][4][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "B-MAD, Berardo - Museum Art Deco". B-MAD, Berardo - Museum Art Deco. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021.
  2. "Associação de arte de Berardo tem imóveis avaliados em mais de um milhão de euros". Expresso. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021.
  3. "Berardo reage a notícia do Correio da Manhã". Correio da Manhã. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "B-MAD: o novo museu de Arte Déco de Lisboa". Diário de Notícias. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "B-MAD. Já abriu o novo museu de arte em Lisboa". SAPO. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021.