พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านบานัต

พิกัด: 45°46′37.95″N 21°15′57.42″E / 45.7772083°N 21.2659500°E / 45.7772083; 21.2659500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านบานัต
Muzeul Satului Bănățean
โบสถ์ไม้จากหมู่บ้านตอปลา
แผนที่
ก่อตั้ง20 สิงหาคม ค.ศ. 1971 (1971-08-20)
ที่ตั้งตีมีชออารา เทศมณฑลตีมิช ประเทศโรมาเนีย
พิกัดภูมิศาสตร์45°46′37.95″N 21°15′57.42″E / 45.7772083°N 21.2659500°E / 45.7772083; 21.2659500
ประเภทพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนากลางแจ้ง
ได้รับการรับรองกระทรวงวัฒนธรรม[1]
จำนวนผู้เยี่ยมชม85,000 คน (2017)[2]
ผู้อำนวยการเดอนุตส์ ราดอซัฟ (Dănuț Radosav)
เว็บไซต์muzeulsatuluibanatean.ro

พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านบานัต (โรมาเนีย: Muzeul Satului Bănățean) เป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนาแบบเปิดโล่ง ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครตีมีชออารา ริมป่าเขียว พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนี้มีขนาด 17 เฮกตาร์ และออกแบบมาเพื่อนำเสนอรูปแบบหมู่บ้านแบบดั้งเดิมของบานัต ภายในประกอบด้วยบ้านเรือนของชาวไร่มากมายที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในบานัต เช่น ชาวโรมาเนีย ชาวสโลวัก ชาวสเวเบีย ชาวยูเครน ชาวฮังการี เป็นต้น รวมถึงยังมีอาคารเพื่อการใช้งานทางสังคมของหมู่บ้านแบบพื้นถิ่น เช่น ศาลาว่าการของเมือง โรงเรียน โบสถ์ และมีจัดแสดงงานศิลปะพื้นถิ่น รวมถึงมีจัดโรงฝึกงานศิลปะหัตถกรรมแบบบานัตเช่นกัน[3]

ประวัติศาสตร์[แก้]

แนวคิดในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนากลางแจ้งมีย้อนกลับไปตั้งแต่ยออากิม มีลอยา (Ioachim Miloia) อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บานัตระหว่างปี 1928 ถึง 1940 เมื่อปี 1928 หลังมีลอยาเดินทางกลับจากพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนาทรานซิลเวเนียในกลุฌ-นาปอกา เขาได้ขออนุญาตสภาเทศบาลเพื่อเปิดพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านขนาดเล็กในลานกลางของปราสาทฮูนียาเด[4] หลังได้รับอนุญาต เขาได้นำโบสถ์ไม้ กางเขน และบ้านไร่ชุดแรกมาตั้งแสดงที่นั่น

ในปี 1967 พิพิธภัณฑ์ได้รับมอบที่ดินขนาดใหญ่เพื่อใช้พัฒนาสร้างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนากลางแจ้งขึ้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 1971[4][5] ในปี 1986 พิพิธภัณฑ์ได้ปิดให้บริการเพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลา 9 ปีตามคำสั่งจากประธานาธิบดีโรมาเนีย ก่อนจะเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 1995[6] ในปี 2000 พิพิธภัณฑ์ได้แยกตัวออกมาจากพิพิธภัณฑ์บานัต มาเป็นหน่วยงานเป็นเอกเทศภายใต้การดูแลของสภาเทศมณฑลตีมิช[6]

ของสะสม[แก้]

ที่ใจกลางของหมู่บ้านคือศูนย์กลางชุมชน (Centrul Civic) ซึ่งประกอบด้วยศาลาว่าการเมือง, โรงเรียน, "บ้านแห่งชนชาติ" และโรงเตี๊ยมอย่างละหลัง ใจกลางของส่วนนี้คือโบสถ์ไม้ตอปลา โบสถ์ไม้นี้สร้างขึ้นในปี 1746 ที่หมู่บ้านเรเมเตอา-ลุงเกอ (Remetea-Luncă) ก่อนที่จะบริจาคให้แก่ศาสนิกชนในหมู่บ้านตอปลา (Topla) ซึ่งอยู่ใกล้กันในปี 1807 โดยดีดโบสถ์ขึ้นมาวางบนยานล้อ แล้วใช้วัวรวม 24 คู่ลากไปยังตอปลา จากนั้นในปี 1987 โบสถ์ได้รับการเคลื่อนย้ายจากตอปลามาตั้งที่พิพิธภัณฑ์จนถึงปัจจุบัน[7]

ส่วนต่อมาของพิพิธภัณฑ์คือตรอกซอยชาติพันธุ์ (Aleea Etniilor) ซึ่งประกอบด้วยบ้านเรือนแบบพื้นถิ่นจำนวนมากจากบรรดากลุ่มทางชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์ของบานัต[8] เริ่มต้นในปี 2000 ได้มีการปลูกบ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านชาวฮังการี (จากหมู่บ้านบับชาในเทศมณฑลตีมิช), บ้านชาวเยอรมัน (จากหมู่บ้านบีเลดในเทศมณฑลตีมิช), บ้านชาวสโลวัก (จากเมืองเนิดลักในเทศมณฑลอารัด) และบ้านชาวยูเครน (จากหมูบ้านเรเปเดอาในเทศมณฑลมารามูเรช)[9] นอกจากนี้ยังมีบ้านชาวเซิร์บที่สร้างขึ้นในเวลาต่อมา รวมถึงมีแผนจะปลูกบ้านชาวบัลแกเรียและบ้านชาวเช็ก[9]

ส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์คือส่วนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Muzeul Viu) ซึ่งเป็นโครงการนำเสนอเรื่องราวจากทั้งโรมาเนียและฮังการี เริ่มต้นในปี 2012 ประกอบไปด้วยบ้านชาวโรมาเนีย ชาวฮังการี ชาวสเวเบีย และชาวเซิร์บ เพื่อเป็นการสร้างหมู่บ้านพื้นถิ่นจากสมัยศตวรรษที่ 18–19 ขึ้นมาใหม่[10]

เทศกาล[แก้]

นับตั้งแต่ปี 2000 ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคม จะมีการจัดเทศกาลชาติพันธุ์ขึ้น โดยมีสมาชิกจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาจัดแสดงการแต่งกาย อาหาร และแสดงดนตรี นอกจากนี้ยังมีเทศกาลช่างฝีมือพื้นบ้าน (Târgul Meșterilor Populari) ซึ่งจัดแสดงและวางขายสินค้างานช่างจากทั่วโรมาเนีย และเทศกาลปลายี (PLAI Festival)[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Ordinul nr. 2958/2018 pentru acreditarea Muzeului Satului Bănățean din Timișoara, județul Timiș". Lege5.
  2. "Raport de activitate" (PDF). Consiliul Județean Timiș. 2018. p. 33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  3. "Muzeul Satului Bănățean". Centrul de Informare Turistică Timișoara. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  4. 4.0 4.1 Turcuș, Aurel (2011). Muzeografie timișoreană (1872-1972). Timișoara: Eurostampa. ISBN 978-606-569-227-5.
  5. 5.0 5.1 Halunga, Otilia (27 August 2021). "Timiș: Jubileul Muzeului Satului Bănățean - 50 de ani de activitate". AGERPRES.[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 "Muzeul Satului Bănățean". Asociația Muzeelor în Aer Liber din România.
  7. "Biserica din Topla (Jud. Timiș)". Muzeul Satului Bănățean.
  8. Lupulescu, Diana (29 April 2008). "Aleea minorităților, la Muzeul Satului". TION.
  9. 9.0 9.1 "Scurt istoric". Muzeul Satului Bănățean. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-07. สืบค้นเมื่อ 2023-10-22.
  10. "Muzeul Satului Bănățean prinde viață. CJ Timiș a aprobat astăzi proiectul de investiție "Muzeul Viu"". Știrile Pro TV. 28 February 2012.