พระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ย หรือ ฝานต้าจั้งจิง (蕃大藏經)เป็นหนึ่งในชุดพระไตรปิฎกภาษาจีน สร้างขึ้นในอาณาจักรซีเซี่ย สมัยพระเจ้าเหรินจง หรือเมื่อปีที่ 6 รัชสมัยต้าเต๋อแห่งราชวงศ์หยวน หรือค.ศ. 1302 มีจำนวนทั้งสิ้น 3620 ผูก พิมพ์ขึ้นจากอักษรซีเซี่ย แต่คาดว่าจำลองขึ้นจากพระไตรปิฎกฉบับไคเป่า (开宝藏) สมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ครบชุดฉบับแรกของโลก ปัจจุบันฉบับซีเซี่ยเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น [1] [2]

แม้ว่าอาณาจักรซีเซี่ยจะถูกชาวมองโกลแห่งราชวงศ์หยวยนทำลายจนพินาศย่อยยับ แต่ยังเหลือพระไตรปิฏกชุดนี้ไว้ โดยชาวหยวนได้สืบทอดมาปรับปรุงให้ดีขึ้น และพิมพ์แพร่หลายต่อในศตวรรษที่ 14 ซึ่งอาณาจักรซีเซี่ยได้อันตรธานไปนานแล้ว และภาษาซีเซี่ย หรือภาษาตังกุต ก็ยังแทบไม่มีคนใช้ ปัจจุบันพระไตรปิฎกชุดนี้ ได้รับการศึกษาและเผยแพร่โดยนาย เอริก กรินสเตด (Eric Grinstead) ซึ่งถ่ายมาจากกรุงปักกิ่ง และเลนินกราด ผู้ที่ตีพิมพ์ฉบับนี้ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี 1971 ในชื่อ พระไตรปิฏกฉบับตังกุต (The Tangut Tripitaka) บ้างก็เรียกว่า Mi Tripitaka [3]

ทั้งนี้ ชาวซีเซี่ย หรือชาวตังกุต (Tangut) เป็นชนชาติเชื้อสายทิเบต-พม่า อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ระหว่างปีค.ศ. 1038 - 1227 ชนชาตินี้ได้สถาปนาราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏) หรืออาณาจักรไป๋เกาต้าเซี่ยกั๋ว (白高大夏國) คาบเกี่ยวกับราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์เหลียว และราชวงศ์หยวน ทั้ง 4 อาณาจักรนี้ แม้สถาปนาโดยคนต่างเชื้อชาติกัน แต่กับเนื่องเป็นหนึ่งในราชวงศ์ทางการตามประวัติศาสตร์จีนโบราณ อีกทั้ง ทั้ง 4 ราชวงศ์ยังอุปถัมภ์ศาสนาพุทธอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน

ผิดกันเพียงแต่ว่า ชาวซ่ง ชาวเหลียว และชาวหยวน ใช้ภาษาและอักษรจีนในการจารึกพระไตรปิฎก ขณะที่ชาวซีเซี่ยใช้ภาษาของตนเองในการจารึก เป็นภาษาที่คล้ายกับภาษาทิเบต แต่ใช้อักษรคล้ายจีน หากมีความซับซ้อนในเชิงการผสม ปัจจุบันมีนักวิชาการพยายามรื้อฟื้นภาษาตังกุตขึ้นมาเพื่อใช้งานด้านวิชาการ และมีการเผยแพร่สิ่งพิมพ์สมัยซีเซี่ยดังเช่น พระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ยฉบับนี้


อ้างอิง[แก้]

  1. The Cambridge History of China, Vol. 6: Alien Regimes and Border States. หน้า 204
  2. 蕃大藏经
  3. 国图藏西夏文文献的价值

บรรณานุกรม[แก้]