พระโค พระแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระโค พระแก้ว เป็นนิทานพื้นบ้านของประเทศกัมพูชา สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดในสมัยละแวกในช่วงที่สยามเข้ารุกรานเขมรอย่างหนัก แล้วนำทรัพย์สมบัติกลับไปยังประเทศของตน[1] ในบทความจาก วารสารการเมืองการปกครอง เขียนโดยดาวราย ลิ่มสายหั้ว และสุรชาติ บำรุงสุข ระบุว่าฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจทางการเมืองสร้างวรรณกรรมเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับไทยเพื่อให้ชาวกัมพูชาเกลียดชังไทยเนื่องจากฝรั่งเศสต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองที่เข้ามาปกครองกัมพูชาในขณะนั้น[2]

เนื้อหา[แก้]

ชาวนายากไร้คู่หนึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองละแวก ต่อมาภรรยาได้ตั้งครรภ์ แต่เนื่องจากเปรี้ยวปากอยากกินมะม่วง จึงปีนต้นมะม่วงจนตกลงมาเสียชีวิต ครรภ์นางแตกและเป็นฝาแฝด แฝดพี่เป็นวัว จึงมีชื่อว่า "พระโค" ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ส่วนแฝดผู้น้องเป็นคนมีชื่อว่า "พระแก้ว" พระโคได้เลี้ยงดูพระแก้วด้วยการเคี้ยวหญ้าแล้วเสกออกมาเป็นอาหาร และยังเสกสิ่งของต่าง ๆ ให้กับพระแก้วได้ใช้อีก

เมื่อชาวบ้านรู้เกิดความละโมบอยากได้ทรัพย์สิน ว่าทรัพย์สินออกมาจากท้องของพระโค จึงคิดจะจับพระโคฆ่าเสียเพื่อเอาทรัพย์สินในท้อง พระโคบอกพระแก้วแล้วจับหางตนไว้แล้วพาเหาะหนีกันไป

ต่อมาพระแก้วได้แต่งงานกับนางเภา เป็นธิดาของพระบาทรามาเชิงไพร กษัตริย์ผู้ครองเมืองละแวก เมื่อกิตติศัพท์ของพระโคล่วงรู้ไปถึงสยาม พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ปรารถนาจะได้พระโคพระแก้วมาไว้ในพระนครศรีอยุธยา จึงส่งทูตมาเพื่อท้าประลองชิงบ้านชิงเมือง การประลองเกิดขึ้น 3 ครั้ง สองครั้งแรกพระโคสามารถเอาชนะได้ การประลองครั้งที่สาม เป็นการชนวัว ทางสยามนำวัวพยนต์มาประลอง พระโครู้ว่าไม่สามารถเอาชนะได้ จึงวางอุบายหลบหนี บอกพระแก้วและนางเภาว่าหากตนก้มหัวลงสองหนก็ให้จับหางไว้ จะได้เหาะหนีไปพร้อมกัน จนหลบหนีไปได้ สยามจึงได้ยกทัพตามติดทัน นางเภาเสียหลักตกลงมาถึงแก่ชีวิต ส่วนพระโค และพระแก้วถูกจับได้ในที่สุด เหตุครั้งนี้จึงทำให้เสียเมืองละแวกแก่สยาม

พระโคพระแก้ว ถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้ของวิเศษต่าง ๆ ที่อยู่ในท้องพระโค ถูกนำมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้สยามเจริญรุ่งเรืองเรื่อย ๆ ส่วนเขมรก็เสื่อมอำนาจลงเรื่อย

การเผยแพร่[แก้]

วัดตรอแลงแกงในกรุงละแวก มีวิหารชื่อ พระโค พระแก้ว ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพระโค พระแก้วตั้งแต่ต้นจบจบ ชาวเขมรเชื่อว่าองค์จริงนั้น ถูกนำไปไว้ที่ ณ พระนครศรีอยุธยา จึงมีการสร้างองค์จำลองขึ้นมา[3] มีการตีพิมพ์นิทานเรื่องนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1860[4] ค.ศ. 1952 สํานักพิมพ์คีม คี นํามาพิมพ์เผยแพร่ ในปี ค.ศ. 2001 สํานักพิมพ์ไรยํได้นําตํานานเรื่องนี้มาเขียนภาพประกอบแล้วพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือภาพประกอบตํานานเรื่อง พระโค พระแก้ว เรื่องราวนี้อยู่ในแบบเรียน ประวัติศาสตร์เขมร ภาค 2 ของ ตรึง เงีย (ตฺรึง งา)[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชาญชัย คงเพียรธรรม. "โคคติในกัมพูชา". มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์.
  2. ดาวราย ลิ่มสายหั้วและสุรชาติ บำรุงสุข (กันยายน 2558-กุมภาพันธ์ 2559). "แนวคิดชาตินิยมไทยกับการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2482)" (PDF). วารสารการเมืองการปกครอง. 6 (1): 478. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-04-04. สืบค้นเมื่อ 2023-04-04. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. อภิญญ ตะวันออก. "ลงแวกรำลึก (จบ)". มติชนสุดสัปดาห์.
  4. ศานติ ภักดีคำ. "พระแก้วในตำนาน พระโค พระแก้วเขมร : พระแก้วมรกตจริงหรือ?".
  5. ""ไทย" ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา ตัวร้ายแย่งชิงดินแดน-นำความวิบัติสู่เขมร?". ศิลปวัฒนธรรม.