พระราชปฏิญญาพระคุณการุญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระราชปฏิญญาพระคุณการุญ (อังกฤษ: Royal Declaration of Indulgence) เป็นคำประกาศของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งทรงพยายามที่จะขยายเสรีภาพทางศาสนาไปยังกลุ่มโปรเตสแตนต์นอกรีตและกลุ่มโรมันคาทอลิกในแว่นแคว้น ด้วยการงดเว้นการบังคับตามกฎหมายอาญาที่ลงโทษผู้ตีตนออกจากคริสตจักรอังกฤษ พระเจ้าชาลส์ทรงออกประกาศนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1672

ประกาศฉบับนี้เป็นที่โต้แย้งอย่างยิ่ง และเซอร์ออร์แลนโด บริดจ์แมน (Sir Orlando Bridgeman) บุตรชายของบิชอปรูปหนึ่ง ต้องพ้นจากตำแหน่งขุนนางผู้รักษามหาลัญจกร (Lord Keeper of the Great Seal) เพราะทำใจไม่ได้ที่จะประทับมหาลัญจกรของแผ่นดินลงในประกาศที่เขาเห็นว่า เป็นคุณต่อชาวคาทอลิกมากเกินไป

ใน ค.ศ. 1673 รัฐสภาแควาเลียร์ (Cavalier Parliament) บีบให้พระเจ้าชาลส์ทรงถอนประกาศและดำเนินการตามพระราชบัญญัติการทดสอบ (Test Acts) ฉบับแรกแทนประกาศฉบับนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ทุกคนที่เข้ารับราชการในอังกฤษต้องไม่นับถือคำสอนคาทอลิกเรื่องการแปรสาร (transubstantiation) และต้องเข้ารีตเป็นแองกลิคัน[1]

เมื่อผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าชาลส์ คือ พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งเปิดเผยพระองค์อย่างโจ่งแจ้งว่า ทรงเป็นคาทอลิก พยายามจะออกประกาศทำนองเดียวกัน คือ ประกาศพระคุณการุญ (Declaration of Indulgence) ก็กลายเป็นอีกหนึ่งมูลเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ซึ่งเป็นผลให้พระองค์ทรงหลุดจากบัลลังก์

อ้างอิง[แก้]

  1. Ergang, Robert (1939). Europe: From the Renaissance to Waterloo. D. C. Heath and Company. p. 416.