พระราชกฤษฎีกาผู้ใช้แรงงาน ค.ศ. 1349
พระราชกฤษฎีกาผู้ใช้แรงงาน ค.ศ. 1349 (อังกฤษ: Ordinance of Labourers 1349) เป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายแรงงานอังกฤษ[1] มีเนื้อหาเป็นการกำหนดสินจ้าง ควบคุมราคาสินค้า บังคับให้บุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่าหกสิบปีต้องทำงาน ห้ามชักพาไปซึ่งบ่าวไพร่ของผู้อื่น และวางเงื่อนไขอื่น ๆ
มูลเหตุ
[แก้]พระราชกฤษฎีกาผู้ใช้แรงงานตราขึ้นมาเนื่องจากการระบาดของกาฬโรคในประเทศอังกฤษช่วงปี 1348–1350[2] ในระหว่างการระบาดดังกล่าว มีประชากรราวร้อยละ 30–40 เสียชีวิต[3] เมื่อประชากรลดลง แรงงานที่รอดชีวิตอยู่จึงเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของภาคเศรษฐกิจการเกษตรในประเทศอังกฤษ[2]
เจ้าของที่ดินมีตัวเลือกเพียงสองประการ คือ แข่งขันกันเพิ่มสินจ้างเพื่อให้คนงานอยากเข้าทำงานด้วย หรือไม่ก็ปล่อยให้ที่ดินของตนรกร้างว่างเปล่า เมื่อสินจ้างเพิ่มขึ้นจึงก่อให้เงินเฟ้อทั้งระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การผลิตสินค้าก็มีต้นทุนสูงขึ้น บรรดาผู้ดีมีฐานะประสบความเดือดร้อนตามเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และจ้างแรงงานได้ยากขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดข้อง จอห์น โกเวอร์ (John Gower) ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานสมัยก่อนเกิดโรคระบาดว่า "พวกเขาเกียจคร้าน พวกเขามีน้อย และพวกเขาละโมบ ทำงานเพียงน้อยนิดก็เรียกค่าตอบสูงยิ่ง"[3] อย่างไรก็ดี แม้คนงานบางกลุ่มเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่ทวีขึ้น ก็มีคนงานอีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากสินจ้างที่พวกตนสามารถเรียกได้สูงขึ้นในช่วงขาดแคลนแรงงานนี้
พระราชกฤษฎีกานี้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษทรงตราขึ้นเมื่อ 18 มิถุนายน 1349
กฎหมาย
[แก้]พระราชกฤษฎีกาผู้ใช้แรงงานบัญญัติหลายสิ่ง เช่น
- บุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่าหกสิบปีต้องทำงาน
- ห้ามจ้างแรงงานเกินจำเป็น
- ห้ามนายจ้างให้สินจ้างและห้ามคนงานรับสินจ้างสูงกว่าอัตราที่เป็นอยู่ก่อนเกิดโรคระบาด
- ราคาอาหารต้องกำหนดให้เหมาะสมโดยไม่คิดกำไรส่วนเกิน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Employment Law: Cases and Materials. Rothstein, Liebman. Sixth Edition, Foundation Press. Page 20.
- ↑ 2.0 2.1 Cartwright, Frederick F. 1991. Disease and History. New York: Barnes & Noble. pp. 32-46.
- ↑ 3.0 3.1 What was the Economy Like After the Black Death? The Plague and England, Cardiff University. Retrieved on April 11, 2009.