พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาพิษณุโลกาธิบดี
(บัว)
ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
ดำรงตำแหน่ง
11 พฤษภาคม พ.ศ. 2365 – พ.ศ. 2367
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2355
เสียชีวิต21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434
คู่สมรสคุณหญิงกลิ่น พิษณุโลกาธิบดี ​
บุตรเจ้าจอมมารดาพร้อม ในรัชกาลที่ 5
บุพการี
  • พระอินทรเดช (ช้าง) (บิดา)

พระยาพิษณุโลกาธิบดี ศรีสุรสุนทร อุดรนครเกษตรานุรักษ์ อรรคมหาสยามาธิราชภักดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ นามเดิม บัว เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) เกิดเมื่อพ.ศ. 2355 เป็นบุตรของพระอินทรเดช (ช้าง) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับราชการเป็นมหาดเล็กหลวง ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 5 ตำลึง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดเล็กรายงานดูการวัดสุทัศนเทพวราราม พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 10 ตำลึง ภายหลังต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายปรีดาราช มหาดเล็กหุ้มแพรฝ่ายพระราชวังบวร พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 15 ตำลึง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายจิตร มหาดเล็กหุ้มแพรต้นเชือก เวรสิทธิ์ พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจมื่นไชยภูษา ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ขวา พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง 10 ตำลึง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระเทพผลู เจ้ากรมกองตระเวนซ้าย พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 3 ชั่ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาพิษณุโลกาธิบดี ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2432 ได้ลงมายังกรุงเทพ พักอยู่บ้าน ป่วยเป็นโรคริดสีดวง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2434 หลวงทิพรักษา หมอหลวงฝ่ายพระราชวังบวรรักษา อาการทรงอยู่ วันที่ 6 พฤศจิกายน อาการทรุดลง หมอเชลยศักดิ์รักษาอาการไม่ดีขึ้น พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) ถึงแก่กรรมเมื่อ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 อายุ 79 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและโกศโถ[1]

พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) สมรสกับคุณหญิงกลิ่น มีธิดาเช่น เจ้าจอมมารดาพร้อม ในรัชกาลที่ 5

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • มหาดเล็กรายงาน
  • นายปรีดาราช (บัว) มหาดเล็กหุ้มแพรฝ่ายพระราชวังบวรฯ
  • นายจิตร (บัว) มหาดเล็กหุ้มแพรต้นเชือก
  • จมื่นไชยภูษา (บัว) ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ขวา
  • พระเทพผลู (บัว) เจ้ากรมกองตระเวรซ้าย[2]: 29 [3]: 129 
  • พระยาพิษณุโลกาธิบดีศรีสุรสุนทรอุดรนครกระเษตรานุรักษ์ อรรคมหาสยามาธิราชภักดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ (บัว) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิศณุโลกย์ ศักดินา 10000[3]: 129 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สายสกุลของพระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว)[แก้]

พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) นั้นมีแต่บุตรีไม่มีบุตรชายสืบตระกูล[4] จึงไม่มีทายาทผู้ใดขอพระราชทานนามสกุล สายสกุลที่สืบโดยตรงลงมาจากพระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) จึงไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด มีเพียงลูกพี่ลูกน้องเป็นเครือญาติเรียก พระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) ว่า "ฮู้แบ้กง" (หมายถึง ก๋งพระยา) เป็นต้นสกุลต่างๆ ดังนี้[5][6]

  • ขุนนครกิจจีนนิทเทศ (โค้วเป็งจือ) เป็นอาของโค้วฮักหงี่ซึ่งเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของพระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) เป็นต้นสกุล โรจนกิจ
  • โค้วเชี่ยงงี้ (บุตรคนโตของพี่ชายโค้วฮักหงี่) เป็นต้นสกุล สิริธรรมวัฒน์
  • โค้วเซี่ยงห่าว (น้องชายรองของโค้วเชี่ยงงี้) เป็นต้นสกุล สุชาโต
  • โค้วเซี่ยงหยู (น้องชายรองจากโค้วเซี่ยงฮ่าว) เป็นต้นสกุล โฆษิตสกุล

อ้างอิง[แก้]

  1. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 8 (ตอน 38): หน้า 318. 13 ธันวาคม 1891. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2021.
  2. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2516). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ – ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖. กรุงเทพฯ: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. 272 หน้า.
  3. 3.0 3.1 กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2521). การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 410 หน้า.
  4. จุลลดา ภักดีภูมิทร์. (2535). เลาะวัง. กรุงเทพฯ : โชคชัยเทเวศร์. หน้า 57. ISBN 978-974-4200-45-7
  5. ชวลิต อังวิทยาธร. (2544). การแลกเปลี่ยนและการค้าข้าวบริเวณชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 227 หน้า. หน้า 55. ISBN 978-974-7772-72-2
  6. พัฒนาการของโรงสีข้าว. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2565.