พระยาทองผาภูมิ (ธอ เสลานนท์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาทองผาภูมิ
(ธอ เสลานนท์)
เจ้าเมืองทองผาภูมิ
ดำรงตำแหน่ง
ไม่ปรากฏ - พ.ศ. 2428
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ธอ

ไม่ปรากฏ
เสียชีวิตพ.ศ. 2428
เมืองราชบุรี
สาเหตุการเสียชีวิตไข้อหิวาตกโรค
บุตรหลวงวิชิตภักดี

พระยาทองผาภูมิ (ไม่ปรากฏ - พ.ศ. 2428) มีนามเดิมว่า "ธอ" เป็นเจ้าเมืองทองผาภูมิ เชื้อสายมอญ ขึ้นตรงกับหัวเมืองกาญจนบุรี เมืองหน้าด่านตะวันตก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นผู้นำชาวมอญ หนึ่งในเจ้าเมืองรามัญทั้งเจ็ด[1] หรือ รามัญ 7 เมือง (มอญ 7 เมือง หรือ พระยามอญทั้งเจ็ด) มีราชทินนามว่า พระเสละภูมาธิการ หรือ พระเสละภูมิบดี[2] ถือศักดินา 1,000 (ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยา) พระยาทองผาภูมิ (ธอ) เป็นต้นสกุล เสลานนท์ (อักษรโรมัน: Selananda) และ เสลาคุณ[3][4] โดย พันพรหมศักดิ์ (กลึง) มีศักดิ์เป็นหลาน เป็นผู้ขอพระราชทานนามสกุล เสลานนท์ เป็นลำดับที่ 603 ใน ทะเบียนนามสกุลพระราชทาน รัชกาลที่ 6[5]

ประวัติ[แก้]

พระยาทองผาภูมิ (ธอ) เดิมรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองทองผาภูมิ บุตรรับราชการเป็นที่ "หลวงวิชิตภักดี" และเป็นหลานปู่ของพระบันนสติฐบดี (ชัง) เจ้าเมืองท่าขนุน คนสุดท้าย[6] และเป็นเครือญาติกับเจ้าเมืองรามัญทั้งเจ็ด ต่อมาจึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น "พระเสละภูมาธิการ" หรือ "พระเสละภูมิบดี" ผู้สำเร็จราชการเมืองทองผาภูมิ รับราชการจนถึงแก่กรรมด้วยไข้อหิวาตกโรค เมื่อ พ.ศ. 2428 ที่ นครชุมน์ จ.ราชบุรี เวลาดึก 2 ยามเศษ[7] ต่อมา หลวงปลัดเมืองทองผาภูมิ น้องชายของพระทองผาภูมิ (ธอ) จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อแทน[8][9]

บรรดาศักดิ์[แก้]

  • หลวงปลัด
  • พระทองผาภูมิ
  • พระเสละภูมาธิการ ศักดินา 1,000 (สมัยรัชกาลที่ 5)[10]
  • พระยาเสละภูมาธิการ หรือ พระยาเสลาภูมิมาธิการ[11]

ผลงาน[แก้]

  • บูรณะวัดใหญ่นครชุมน์

วัดใหญ่นครชุมน์ ตั้งอยู่ที่ตําบลนครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ. ราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่ เป็นศูนย์กลางชาวบ้านนครชุมน์ และยังเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์แบบรามัญนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัย รัชกาลที่ 2 พระทองผาภูมิ (ธอ) ได้แยกออกจากกลุ่มพระยามอญทั้งเจ็ดมาตั้งรกรากที่นครชุมน์ ภาษามอญ มีชื่อว่า “กวานเจียะโนก” หรือ “กวานโหน่ก” ที่ จ. ราชบุรี มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมวัด[12] ปรากฏความว่า "พระยาทองผาภูมิ ได้ขอแยกตัวออกจากกลุ่มมอญทั้งเจ็ด มาอยู่ ณ วัดใหญ่นครชุมน์ ได้พาญาติพี่น้องสมัครพรรคพวก บริวาร เพื่อปกครองดูแลเอง และได้บูรณะวัดใหญ่นครชุมน์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อยู่แล้วให้เจริญรุ่งเรือง โดยให้วัดใหญ่นครชุมน์เป็นศูนย์กลางในการทําสังฆกรรมของวัดมอญในเขตอําเภอบ้านโป่ง...[13]

มรดก[แก้]

  • เจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ พระอุโบสถวัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  • โถเบญจรงค์ พระอุโบสถวัดใหญ่นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ. ราชบุรี

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. เอกรินทร์ พึ่งประชา. การตายที่ไม่ตายจากในโลกทัศน์ของคนมอญ : ชีวิต ความตาย และชีวิตหลังความตาย, ม.ป.ท. หน้า 15.
  2. คณะกรรมการโครงการชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือชุดประชุมพงศาวดาร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก. เล่มที่ 10. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, 2542. 230 หน้า. หน้า 192. ISBN 978-974-000-983-2
  3. สุดารา สุจฉายา, บรรณาธิการ. ราชบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : สารคดี, 2541. 468 หน้า. หน้า 119. ISBN 978-974-821-166-4
  4. วรวุธ สุวรรณฤทธิ์. ประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543. 154 หน้า. หน้า 90. ISBN 978-974-277-729-6
  5. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๘. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 30 หน้า 2,122 วันที่ 21 ธันวาคม 2456.
  6. วัดคงคารามและพระยามอญทั้งเจ็ด
  7. ใบบอกหัวเมือง. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 แผ่นที่ 39 วันอาทิตย์เดือนสิบ ขึ้นสิบสองค่ำ ปีระกาสัปตศก 1247 หน้า 351
  8. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีศักร วัลลิโภดม, สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. ลุ่มน้ำแม่กลอง : ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ "เครือญาติ" มอญ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. 270 หน้า. หน้า 174. ISBN 978-974-323-284-8
  9. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2396-2453. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ 22. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2513. หน้า 97.
  10. ข่าวราชการ. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 3 แผ่นที่ 38 วันอาทิตย์เดือนอ้าย แรมเก้าค่ำ ปีจออัฐศก 1248 หน้า 316.
  11. แปลกตา! ลูกหลานจัดให้อย่างสวยงาม อัฐิบรรพบุรุษชาวมอญในโถเบญจรงค์. วันจันทร์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564
  12. มโน กลีบทอง. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2544. 306 หน้า. หน้า 94. ISBN 978-974-418-094-0
  13. พชระ โชติภิญโญกุล, โลกทัศน์ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ปรากฏในพิธีกรรมงานบวช : กรณีศึกษาบ้านนครชุมน์ อําเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี, วิทยานิพนธ์สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2554.
บรรณานุกรม