พระพุทธรูปโตฬุวิละ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธรูปโตฬุวิละ
ปีศตวรรษที่ 4-5
ประเภทพระพุทธรูป
สถานที่อนุราธปุระ

พระพุทธรูปโตฬุวิละ (สิงหล: තොළුවිල බුද්ධ ප්‍රතිමා වහන්සේ; โตะฬุวิล พุทฺธ ปฺรติมา วหนฺเส, อังกฤษ: Toluvila statue) เป็นพระพุทธรูปปางประทับนั่งขัดสมาธิที่ค้นพบในปี 1900 ที่อนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 4-5 โดยแกะสลักมาจากหินแกรนิต พระพุทธรูปองค์นี้เป็นหนึ่งในประติมากรรมที่ได้รับการอนุรักษ์สภาพดีที่สุดในศรีลังกา และมีลักษณะคล้ายกันกับสมาธิพุทธประติมาจากอนุราธปุระ ลักษณะบางประการที่ปรากฏของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นไปได้ว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบมถุรา ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโคลอมโบ

พระพุทธรูปโตฬุวิละถือว่าเป็นผลงานชิ้นยอดของศิลปกรรมการแกะสลักของศรีลังกาโบราณ ควบคู่กับสมาธิพุทธประติมาแห่งอนุราธปุระ[1][2] รวมถึงเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในศรีลังกา[3] แกะสลักมาจากหินแกรนิตก้อนเดียว และมีลักษณะคล้ายกันกับสมาธิพุทธประติมาแห่งอนุราธปุระ เพียงแต่มีลักษณะเล็กกว่าเล็กน้อย พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดสูง 5 ฟุต 9 นิ้ว (1.75 เมตร) แสดงรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิทำ ญาณมุทรา[4] รูปแบบการนั่งขัดสมาธิเช่นนี้ยังอาจเรียกว่า วีราสนะ (weerasana)[5] ขนาดความยาวระหว่างไหล่อยูที่ 3 ฟุต 5 นิ้ว (1.04 เมตร) และระหว่างเข่าอยู่ที่ 5 ฟุต 9 นิ้ว (1.75 เมตร)[4]

ในขณะที่พระพุทธรูปองค์อื่นจากสมัยเดียวกันมีพุทธศิลป์ลักษณะมีติ่งหูยาวยืด แต่พระพุทธรูปโตฬุวิละไม่มีลักษณะนี้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะน่าสนใจอีกประการคือเส้นสามเส้นที่แกะเข้าไปตรงคอซึ่งเชื่อว่ามีอิทธิพลมาจากศิลปะแบบมถุราของอินเดีย[4] เชื่อกันว่าพระพุทธรูปปางสมาธิองค์อื่น เช่นที่พบที่วัดพระบรมธาตุไชยาในภาคใต้ของประเทศไทย อาจได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากพระพุทธรูปจากสมัยอนุราธปุระเช่นพระพุทธรูปโตฬุวิละองค์นี้[6]

ประวัติศาสตร์[แก้]

นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในช่วงปลายของสมัยอนุราธปุระ หรือศตวรรษที่ 4-5[1][5] พระพุทธรูปองค์นี้ค้นพบระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีในปี 1900 ที่หมู่บ้านโตฬุวิละในอนุราธปุระ โดยนักโบราณคดี แฮรี ชาลส์ เพอร์วีส เบล[5] เบลระบุว่านี่เป็นโบราณวัตถุชิ้นที่เยี่ยมที่สุดที่เขาเคยพบในอนุราธปุระ[4] จากนั้นได้ขนส่งพระพุทธรูปองค์นี้ต่อมายังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโคลอมโบ และคงเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่นี่จนปัจจุบัน รูปปั้นนี้ยังเป็นหนึ่งในประติมากรรม "ที่สำคัญที่สุด" ของศรีลังกาโบราณที่พิพิธภัณฑ์มี[3] โดยตั้งจัดแสดงอยู่ตรงด้านหน้าทางเข้าหลักของอาคารพิพิธภัณฑ์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Siriwera, W. I. (2004). History of Sri Lanka. Dayawansa Jayakody & Company. pp. 282, 287. ISBN 955-551-257-4.
  2. Smith, Vincent Arthur (1911). A history of fine art in India and Ceylon, from the earliest times to the present day. Oxford: Clarendon Press. p. 92.
  3. 3.0 3.1 "Colombo National Museum". Department of National Museums, Ministry of Cultural Affairs and National Heritage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 January 2010. สืบค้นเมื่อ 4 March 2010.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Sarachchandra, B. S. (1977). අපේ සංස්කෘතික උරුමය [Cultural Heritage] (ภาษาสิงหล). Silva, V. P. p. 119.
  5. 5.0 5.1 5.2 Diganwela, T. (1998). කලා ඉතිහාසය [History of Art] (ภาษาสิงหล). Wasana Publishers. p. 23.
  6. Jacq-Hergoualc'h, Michel; Hobson, Victoria (2002). The Malay Peninsula: crossroads of the maritime silk road (100 BC-1300 AD), Part 3. Vol. 13. Brill. p. 146. ISBN 978-90-04-11973-4.

บรรณานุกรม[แก้]

  • von Schroeder, Ulrich. (1990). Buddhist Sculptures of Sri Lanka. (752 p.; 1620 illustrations). Hong Kong: Visual Dharma Publications, Ltd. ISBN 962-7049-05-0
  • von Schroeder, Ulrich. (1992). The Golden Age of Sculpture in Sri Lanka – Masterpieces of Buddhist and Hindu Bronzes from Museums in Sri Lanka, [catalogue of the exhibition held at the Arthur M. Sackler Gallery, Washington, D. C., 1 November 1992 – 26 September 1993]. Hong Kong: Visual Dharma Publications, Ltd. ISBN 962-7049-06-9