พระครูเทวราชกวีวรญาณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูเทวราชกวีวรญาณ

(จูม ธฺมมทีโป)
รูป : พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)
ส่วนบุคคล
เกิด7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 (77 ปี 3 เดือน 9 วัน ปี)
มรณภาพ16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506
การศึกษาน.ธ.โท
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดบ้านหนองกก(วัดโพธิ์ศรีหนองกก) ศรีสะเกษ
พรรษา57
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองกก(วัดโพธิ์ศรีหนองกก)
เจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ
เจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย ศรีสะเกษ
พระอุปัชฌาย์ศรีสะเกษ
เจ้าคณะตำบลบัวหุ่ง ราษีไศล ศรีสะเกษ

พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป) พระเกจิแห่งตำบลบัวหุ่ง ราษีไศล ศรีสะเกษ พระอุปัชฌาย์ของพระสงฆ์ชื่อดังแห่งจังหวัดศรีสะเกษหลายรูป อาทิ พระครูวิสุทธิโสภณ หลวงพ่อเกลี้ยง วัดวิสุทธิโสภณ บึงบูรพ์ พระครูโสภณสังวรคุณ (หลวงพ่อวัดบ้านผือ) อุทุมพรพิสัย พระครูนิปุณธรรมาทร(หลวงพ่อบุญตา กนฺตสีโล) วัดโคกเจริญ นครสวรรค์ พระมงคลวุฒ (เครื่อง สุภทฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ อุทุมพรพิสัย ผู้มีสมญานามว่า เทพเจ้าแห่งอีสานใต้ เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

พระครูเทวราชกวีวรญาณ นามเดิม จูม นามสกุล อาจสาลี เป็นบุตรคนที่ ๑ ของ นายหล้า-นางหล้า อาจสาลี เกิดที่บ้านหนองกก ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๒๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น ๘ คน ดังนี้

๑. พระครูเทวราชกวีวรญาณ (จูม ธฺมมทีโป)

๒. นางบาง อาจสาลี

๓. นางทุม อาจสาลี

๔. นายเพ็ง อาจสาลี

๕. นายเรือง อาจสาลี

๖. นายบุญมี อาจสาลี

๗. นายสุด อาจสาลี

๘. นางปี วรธรรม

การบรรพชา อุปสมบท[แก้]

เมื่อครั้งเจริญวัย ก่อนการบรรพชาอุปสมบท ได้ศึกษาภาษาไทย จากสำนักอาจารย์พออ่านออกเขียนได้ ครั้งเมื่ออายุ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๖ มีพระครูเกษตรศีลาจารย์(นาม) เป็นอุปัชฌาย์ ณ วัดบ้านหนองกก และได้อยู่ศึกษาวิชาที่วัดบ้านหนองกก

เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ ณ พัทธสีมาวัดบ้านเสียว ตำบลเสียว อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ(ปัจจุบัน คืออำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ) โดยมีพระครูเกษตรศีลาจารย์(นาม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูจันดา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ครั้นอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านหนองกก ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อได้พ้น ๕ พรรษา ได้ย้ายไปอยู่วัดประยุรวงศาวาส จังหวัดธนบุรี(ปัจจุบัน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี โดยมีเลขทะเบียนวัดที่ 24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร) ศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร แล้วได้ย้ายไปอยู่จังหวัดนครสวรรค์ และกลับมาจำพรรษา ณ วัดสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตามลำดับ

เกียรติคุณและผลงาน[แก้]

พุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

พุทธศักราช ๒๔๖๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย และในวันที่ ๑๕ เดือนมกราคม ในปีนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทสามัญ

พุทธศักราช ๒๔๖๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูเทวราชกวีวรญาณ เมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤศจิกายน ในปีนั้น

พุทธศักราช ๒๔๗๐ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

พุทธศักราช ๒๔๗๑ สอบได้นักธรรมชั้นโท ในสนามหลวง สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอราษีไศล ในอีกตำแหน่งหนึ่ง

พระครูเทวราชกวีวรญาณ ได้เป็นพระครูปริยัติธรรม เจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอ พระอุปัชฌาย์ ปฏิบัติศาสนกิจ จัดการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ศาสนา และการสาธารณูปการด้วยอุตสาหะ วิริยะภาพ มีสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก จำนวนมาก สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษา โดยส่งให้ไปศึกษาต่อที่จังหวัดธนบุรี(ในขณะนั้น) โดยเฉพาะวัดประยุรวงศาวาส จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่ท่านเคยได้ศึกษาเล่าเรียนมา อาทิ มหาทอง มหาสุเทพ(ทองคำ อาจสาลี ผู้เป็นหลานชายของพระครูฯ) มหาจอย มหาวงศ์ มหาระเบียบ พระราชจินดามุนี(หรือพระเทพวรมุนี (เสน ปญฺญาวชิโร) ป.ธ.๗ พ.ม. อดีตเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ) ติดต่อเป็นลำดับมาจนตลอดสมัยที่ท่านปกครองในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

ในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๘๓ - ๒๔๘๕ วงการคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ เกิดความเข้าในผิดกันเกิดขึ้น เกิดความปั่นป่วนในทางคณะสงฆ์ โดยผู้ใหญ่ถืออำนาจไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ พระครูเทวราชกวีวรญาณ ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ ถอดจากสมณศักดิ์เป็นพระจูม ธฺมมทีโป และถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัยด้วย ซึ่งในคราวนั้น มีเจ้าคณะที่ถูกถอดถอนด้วยกัน คือ

๑. พระครูธรรมจินดามหามุนี โคตมวงศ์สังฆวาหะ(เดช มหาปฺญโญ) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ วัดมหาพุทธาราม

๒. พระครูเกษตรศีลาจารย์(ทอง จนฺทสาโร) เจ้าคณะอำเภอเมืองศรีสะเกษ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม

๓. พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป) เจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ เจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย

๔. พระครูพิทักษ์กันทรารมณ์(มหาค้ำ เขมภิรโต) วัดบ้านคำบอน เจ้าคณะอำเภอกันทรารมณ์

๕. พระครูศรีไศลคณารักษ์(ขาว) วัดกลาง เจ้าคณะอำเภอราษีไศล รูปนี้เพียงถอดจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเท่านั้น

นอกจากนี้พระเปรียญที่ถูกสั่งให้ลาสิกขาและให้บัพพาชนียกรรมอีก คือ

๑. พระมหาประเทือง ปภากโร(มหาประเทือง ธรรมสาลี) วัดมหาพุทธาราม

๒. พระมหาชาย (มหาชาย สีตะวัน) วัดมหาพุทธาราม

๓. พระสมุห์สิงห์ วัดมหาพุทธาราม

พระครูเทวราชกวีวรญาณ เมื่อถูกถอดจากตำแหน่งครั้งนั้นแล้ว ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดบ้านหนองกก(วัดโพธิ์ศรีหนองกกในปัจจุบัน) ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นบ้านเกิดภูมิลำเนาเดิม ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองกก เป็นเจ้าคณะตำบลบัวหุ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลบัวหุ่ง(เมื่อวันที่ ๒๓ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๔) รวมทั้งเป็นกรรมการสงฆ์อำเภอ องค์การสาธารณูปการอำเภอราษีไศล

พุทธศักราช ๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืนเป็น พระครูเทวราชกวีวรญาณ ในวันที่ ๕ เดือนธันวาคม ปีนั้น ถือพัด จ.ป.ร.(หมายถึง พัดในรัชกาลที่ ๕) มีนิตยภัต ๖๐ บาท เทียบเจ้าคณะอำเภอชั้นโท

พุทธศักราช ๒๕๐๒ ได้รับพระราชทานในสมณศักดิ์เดิม โดยเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก มีนิตยภัค ๘๐ บาท

บั้นปลายชีวิต[แก้]

พระครูเทวราชกวีวรญาณ ดำรงตำแหน่งพระคณาธิการครั้งก่อนก็ดี ดำรงตำแหน่งพระคณาธิการครั้งหลังก็ดี มีอุตสาหะ วิริยภาพ บริหารงานอย่างเข้มแข็ง เคารพเอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัย ไม่เคยขาดประชุมการคณะสงฆ์ เว้นแต่ป่วยจริงๆแม้เจ้าคณะจังหวัดจะเคยถวายคำแนะนำให้พักผ่อนรักษาตัว ไม่ต้องเดินทางเข้าไปประชุมที่จังหวัด ท่านก็ไม่ยอม แม้ร่างกายจะชราภาพมากแล้วก็ตาม

มรณภาพ[แก้]

พระครูเทวราชกวีวรญาณ ได้อาพาธด้วยโรคชรา เป็นไปตามคติธรรมดา ได้มรณภาพ ณ วัดบ้านหนองกก(วัดโพธิ์ศรีหนองกกในปัจจุบัน) ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร ด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๖ เวลา ๑๒.๑๕ น. สิริรวมอายุ ๗๗ ปี ๓ เดือน ๙ วัน ๕๗ พรรษา[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. ตูมตาม ประมูลวิสิทธิ์ชัยกุล, ประวัติ พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)[ลิงก์เสีย], blogspot, 2 ม.ค. 2556