พระครูสุทธิธรรมรังษี (เจี๊ยะ จุนฺโท)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูสุทธิธรรมรังษี

(เจี๊ยะ จุนฺโท)
หลวงปู่เจี๊ยะ จนฺโท
ชื่ออื่นหลวงปู่เจี๊ยะ
ส่วนบุคคล
เกิด6 มิถุนายน พ.ศ. 2459
ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง
มรณภาพ23 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เวลา 22.55 น. (อายุ 88 ปี 78 วัน)
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม จังหวัดปทุมธานี
อุปสมบท11 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
พรรษา67

พระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)

ประวัติ[แก้]

หลวงปู่เจี๊ยะ พระผู้เป็นดั่งผ้าขื้ริ้วห่อทอง[แก้]

ในวงศ์พระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่เจี๊ยะจะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับเรื่องธรรมภายใน กิริยาภายนอกที่สบาย ๆ ของท่านนั้นทำให้เป็นเหมือนม่านบังปัญญา บังตาเนื้อของชาวโลกที่นิยมชื่นชมด้านวัตถุชอบมองแต่สิ่งสวยงามภายนอก แต่ไม่เคยหันกลับมาย้อนดูภายในใจตน จึงมองท่านไม่ออก บอกไม่ถูก ผู้ไม่เท่าถึงในสิ่งที่มี ที่เป็น ที่ปรากฏภายในจิต เพราะธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์ไม่มีอาการลวงเหมือนอาการทางกายวาจา

ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นทั้งหลายมี หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงตามหาบัว ญาณสมปนฺโน ครูบาอาจารย์ที่เป็นดั่งอาจารย์ของท่านและคุ้นเคยเป็นอย่างดีนี้ เมื่อทราบว่าหลวงปู่เจี๊ยะอยู่ที่ใด มักจะแวะเยี่ยมและสนทนาธรรมอยู่เสมอ มิได้ขาด เสมือนอย่างว่าสายใยแห่งธรรมชักนำให้ดึงดูดต่อกันมิรู้ลืม

ท่านเป็นประเภทตรงไปตรงมา การพูดการจาจึงเป็นดั่งโบราณท่านว่า “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” คือคำสอนของท่านเผ็ดร้อน เป็นความจริงมันอาจจะไม่ถูกใจเรา ท่านไม่พูดเอาใจเรา แต่คำสอนนั้นเมื่อนำมาประพฤติปฏิบัติ ก็เกิดผลดีกับชีวิตจิตใจเราได้จริง ๆ คำสอนประเภทนี้อาจไม่ถูกใจคนบางคนที่นิยมการยกยอปอปั้น แต่เป็นคำสอนประเภททะลุทะลวงเพื่อเข้าสู่ความจริง

น้ำร้อน คือคำพูดที่เผ็ดร้อนจริง ๆ จัง ๆ ปลาเป็น คือทำให้คนธรรมดากลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ การพูดการสอนแบบนี้เรียกว่า “น้ำร้อนปลาเป็น”

นัยทางตรงกันข้าม คำสอนประเภท น้ำเย็นปลาตาย พูดจาไพเราะเพราะพริ้งคุณโยมอย่างนั้นอย่างนี้ ยกยอเอาเสียจนคนมาปฏิบัติธรรมไม่รู้ความผิดของตนพูดจาเอาอกเอาใจ โดยไม่มุ่งสอนตามความเป็นจริง ทำให้คนที่เข้ามาแสวงหาความดีกลับกลายเป็นคนเสียคนไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นธรรมะ ก็คือธรรมะเอาอกเอาใจ เอาอกเอาใจเขาเพื่อทำให้เขาศรัทธาในตัวเอง เขาพอใจเขาก็ศรัทธา เขาไม่พอใจเขาก็ไม่ศรัทธา การพูดการสอนแบบนี้ มุ่งเน้นให้คนมาชอบศรัทธาในตนมากกว่าสอนเขาให้เข้าใจในพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

น้ำเย็น ก็คือคำพูดที่ฟังแล้วชุ่มฉ่ำเย็นใจสำหรับมนุษย์ที่ชอบความนิ่มนวลอ่อนหวาน แต่แฝงไปด้วยพิษร้าย เพราะไม่ใช่คำจริงเพื่อถึงความจริง คำพูดฟังดูดีแต่ทำตามแล้วกลับมีผลเสียตามมาทีหลัง

ปลาตาย คือเป็นคนตายทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่า ตายทั้งเป็น ผู้สอนก็ตายจากคุณงามความดี ผู้ฟังก็ตายจากการได้รับสัจจะความจริงแห่งพระสัทธรรมการพูดการสอนแบบนี้เรียกว่า “น้ำเย็นปลาตาย”

ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของท่านอาจแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย ท่านไม่กว้างขวางเรื่องปริยัติธรรมภายนอก รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน ท่านปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว คำสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะ มุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ประกอบกับท่านมีบารมีธรรมที่บ่มบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อนเป็นสิ่งช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่างลึกลับ การปฏิบัติของท่านจึงนับว่ารู้ธรรมเร็วในยุคปัจจุบัน

ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลกที่ระงมปนเปื้อนไปด้วยกองทุกข์นานัปการ ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ด้านเดียว การมองอะไร ไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น แต่ต้องใช้แววตาคือ ปัญญา เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรมองข้ามปมคำสอน เพียงเพราะสายตาเท่านั้น ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่สอ่งแสงสว่างแก่โลก ย่อมไม่ละเลยทั้งกอไผ่และภูผา

หลวงปู่เจี๊ยะท่านจึงเป็นผู้มีจิตอิสระมานานไม่เกี่ยวเกาะยึดติดพัวพันในบุคคล กาล สถานที่ การปฏิบัติของท่านมุ่งเน้นที่ผลการปฏิบัติมากกว่ารูปแบบแห่งการปฏิบัติ เพราะนี่เป็นนิสัยสะท้านโลกาและปฏิปทาที่เป็นปัจจัตตัง ยากที่ใคร ๆ จะเลียนแบบได้

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวยกย่องชมเชยในคุณธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ว่า “พระอาจารย์เจี๊ยะ เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเพชรน้ำหนึ่ง (ในความหมายขององค์หลวงตาหมายถึงพระอรหันต์) ที่หาได้โดยยากยิ่ง”

นามเดิม[แก้]

โอวเจี๊ยะ โพธิกิจ

บ้านเกิด[แก้]

บ้านคลองน้ำเค็ม ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

บิดา - มารดา[แก้]

โยมบิดาชื่อ นายซุ่นแฉ โพธิกิจ (แซ่อึ้ง) มาจากประเทศจีน โยมมารดาชื่อ นางแฟ โพธิกิจ เป็นชาวจันทบุรี

พี่ - น้อง[แก้]

๑. นางพิมพ์ โพธิกิจ (เสียชีวิต) พี่บุญธรรม

๒. นางฮุด แซ่ตัน (เสียชีวิต)

๓. นายสง่า โพธิกิจ (เสียชีวิต)

๔. นางสาวละออ โพธิกิจ (เสียชีวิต)

๕. หลวงปู่เจี๊ยะ

๖. นางสาวละมุน โพธิกิจ เป็นข้าราชการครู (เสียชีวิต)

๗. นางลักขณา (บ๊วย) เกิดในมงคล (เสียชีวิต)

๘. นายสมบัติ โพธิกิจ (เสียชีวิต)

การอุปสมบท[แก้]

ท่านอุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เวลา 16.19 น. ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี

พระครูครุนารถสมาจาร (เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูพิพัฒน์พิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์(ท่านพ่อลี ธมมธโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้ฉายาว่า “จุนฺโท” แปลว่า “ผู้หมดกิเลสเครื่องร้อยรัด”

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา[แก้]

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ร่วมปฏิบัติธรรมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ที่เสนาสนะป่าช้าผีดิบบ้านหนองบัว ปัจจุบันคือวัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี

ท่านปฏิบัติกรรมฐานด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืนภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ แบบสละตาย ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิ คือในเวลาค่ำคืนไม่นอนตลอดไตรมาส ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าว่าแม้นข้าพเจ้าไม่ทำตามสัจจะนี้ ขอให้ข้าพเจ้าถูกฟ้าผ่าตาย แผ่นดินสูบตาย ไฟไหม้ตาย น้ำท่วมตาย แต่ถ้าหากว่าข้าพเจ้าปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งไว้ได้ ขอจงเป็นผู้เจริญงอกงามในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเทอญฯ”

พรรษาที่ ๓ จิตของท่านเกิดรวมครั้งใหญ่ใต้ต้นกระบก ด้วยการหยั่งสติปัญญาลงในกายานุปัสสนา หยั่งลงสู่ความจริงประจักษ์ใจ โลกสมมุติทั้งหลายไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ประหนึ่งว่าแผ่นดินแผ่นฟ้าละลายหมด เหลือแต่จิตดวงบริสุทธิ์เท่านั้น

ปลายปี พุทธศักราช ๒๔๘๒ ท่านได้กราบลาท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และท่านพ่อลี ธมฺมธโร เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับสหธรรมิก คือท่านพระอาจารย์เฟื่อง โชติโก เพื่อนำธรรมที่รู้เห็นไปเล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อถึงเสนาสนะวัดร้างป่าแดง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าโดยตลอด จึงปูอาสนะนั่งรอท่าอยู่บนแคร่น้อยๆ เมื่อได้โอกาสอันสมควรจึงได้เล่าเรื่องภาวนาให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟังว่า “ได้พิจารณากาย จนกระทั่งใจนี้มันขาดไปเลย” ท่านพระอาจารย์มั่นนั่งฟังนิ่ง ยอมรับแบบอริยมุนี ไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่น้อย

ต่อมาอีกไม่นานนัก ฟันของท่านพระอาจารย์มั่นหลุดแล้วท่านก็ยื่นให้ การที่ท่านมอบฟันให้นั้น หลวงปู่เจี๊ยะเล่าว่า “ท่านคงรู้ได้ด้วยอนาคตังสญาณ ว่าเราจะมีวาสนาสร้างภูริทัตตเจดีย์บรรจุทันตธาตุถวายท่านเป็นแน่แท้”

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๔๘๕ หลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระคิลานุปัฏฐาก และเป็นปัจฉาสมณะ เป็นประดุจเงาติดตามตัวท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นรับนิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เดินธุดงค์จากทางภาคเหนือมายังภาคอีสาน พักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าเป็นที่ทิ้งศพโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ๒ พรรษา จึงธุดงค์จาริกต่อไปยังจังหวัดสกลนคร พักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกนี้เอง ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวชมเชยในคุณธรรมและนิสัยวาสนาของหลวงปู่เจี๊ยะท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า “ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ท่านผู้นี้ปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว ปฏิบัติเพียง ๓ ปี เท่ากับเราปฏิบัติภาวนามาเป็นเวลา ๒๒ ปีอันนี่อยู่ที่นิสัยวาสนาเพราะนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”

ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ขณะที่ท่านเข้าที่หลีกเร้นภาวนาในดงป่าลึก ณ เชิงเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกิดป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก ในขณะที่ป่วยหนักนั้นท่านเล่าว่า “จิตเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ตลอดเวลา พิจารณาจนกระทั่งจิตมันดับหมด หยุดความคิดค้น จิตปล่อย วางสิ่งทั้งปวง คว่ำวัฏฏจักร วัฏฏจิต แหวกอวิชชา และโมหะอันเป็นประดุจตาข่าย กิเลสขาดสะบั้นออกจากใจ จิตมีอิสระอย่างสูงสุดเกินที่จะประมาณได้”

ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ หลังจากถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้วท่านจึงย้อนกลับไปจังหวัดจันทบุรีอันเป็นบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมมารดาซึ่งป่วยหนัก ด้วยหวังจะทดแทนบุญคุณข้าวป้อนด้วยอรรถด้วยธรรม ท่านจึงดำริปักหลักสร้างวัดเขาแก้ว ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง และได้สร้างวัดบ้านสถานีกสิกรรม อำเภอพลิ้ว ถวายหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสและร่วมสร้างวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ คณะศรัทธาได้ถวายที่ดินบริเวณบ้านคลองสระ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แก่หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงตาได้นิมนต์ท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้สร้าง “วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม” และอยู่จำพรรษามาโดยตลอด

แม้ว่าท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่และได้สร้างวัดวาอารามใหญ่โตแล้ว ท่านก็ยังเที่ยวภาวนาตามป่าตามเขาท้องถ้ำและเงื้อมผา จนกระทั่งร่างกายเดินไม่ไหว

ท่านละสังขารด้วยอาการอันสงบและสง่างาม และอาจหาญในธรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒๓.๕๕ น. สิริอายุรวม ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม[แก้]

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม บ้านคลองสระ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีภายในขอบเขตแห่งขัณฑสีมา อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยคณะศรัทธาได้ถวายที่ดินแก่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงตาได้นิมนต์หลวงปู่เจี๊ยะมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส

จากท้องทุ่งป่าสนใบดกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ รายรอบด้วยทุ่งนาเขียวขจี ได้กลายเป็นอารามป่ากรรมฐานใกล้เมืองกรุงฯ ที่ร่มรื่นอบอวลไปด้วยกลิ่นศีลธรรมของสมณะศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น และกลิ่นแมกไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ที่ปลูกขึ้นรายรอบทั่วบริเวณ 146 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา

สร้างภูริทัตตเจดีย์[แก้]

ภูริทัตตเจดีย์ ภายในวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม หลวงปู่เจี๊ยะ จนฺโท ท่านได้สร้างเพื่อบูชาพระคุณของหลวงปู่มั่น ภูริทตตฺโต

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2539 หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้วางศิลาฤกษ์สร้างภูริทัตตเจดีย์ สำหรับบรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ลักษณะรูปร่างทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของเจดีย์สมัยสุโขทัย แปดเหลี่ยม ความหมายคืออริยมรรคมีองค์แปด มีความกว้าง 22 เมตร (หมายถึง ปัจจยาการ โดยอนุโลมและปฏิโลม รวมเป็น 22 ประการ) ความสูง 37 เมตร (หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ) โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งด้วยหินอ่อน หินแกรนิต ไม้สักทอง ยอดทำด้วยทองคำแท้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราซ ทรงประทานมา

ภูริทัตตเจดีย์ เจดีย์แปดเหลี่ยม บรรจุพระธาตุ อัฏฐิธาตุ ของถูปารหบุคคล คือบุคคลที่ควรสร้างพระเจดีไว้ให้ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายได้สักการบูชา ดังพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ไว้ว่า

“อานนท์! เจดีย์บรรจุพระธาตุ อัฏฐิธาตุของถูปาหรบุคคล เพียงชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า เจดีย์นี้เป็นเจดีย์บรรจุพระธาตุ อัฏฐิธาตุของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระราชาผู้ทรงธรรม เมื่อชนมีจิตเลื่อมใสในพระเจดีย์นั้นแล้ว วันข้างหน้าถ้าเมื่อเขาตายกายแตกดับไป เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นแน่แท้”

นอกจากจะเป็นเจดีย์ที่ควรไปสักการะอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งชี้จารึกถึงความรัก ความเคารพ ความกตัญญูที่หลวงปู่เจี๊ยะมีต่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด

อ้างอิง[แก้]