ผ้ากันเปื้อน
ผ้ากันเปื้อน เป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้สวมใส่ทับชั้นนอกสุด โดยทั่วไปแล้วมักใช้เพื่อป้องกันความสกปรกที่จะเกิดขึ้นกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จากงานต่าง ๆ เช่น งานบ้าน งานศิลปะ งานครัว งานช่าง ฯลฯ
วัสดุที่ใช้ในการทำผ้ากันเปื้อน
[แก้]โดยทั่วไปแล้วจะใช้วัสดุที่เป็น “ผ้า” เป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อจุดประสงค์ในการใช้งานมีหลากหลายเพิ่มมากขึ้น วัสดุที่ใช้จึงเปลี่ยนไปตามลักษณะของงาน เช่น
- พลาสติก นิยมใช้ในงานที่ผู้ใช้งานต้องเผชิญกับน้ำ หรือผู้ที่ต้องทำงานกับสารอันตราย
- ตะกั่ว ใช้เพื่อป้องกันรังสีสำหรับผู้ที่ต้องทำงานกับรังสี เช่น เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเครื่องเอ็กซ์เรย์
- ผ้ากันไฟ Fire Blanket ใช้สำหรับผู้ที่ทำงานใกล้ไฟ หรือในครัว
การออกแบบ
[แก้]โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งประเภทของผ้ากันเปื้อนออกได้ตามลักษณะการออกแบบได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ผ้ากันเปื้อนแบบครึ่งตัว และผ้ากันเปื้อนแบบเต็มตัว(Bib Apron)
ผ้ากันเปื้อนแบบครึ่งตัว
[แก้]คือผ้ากันเปื้อนที่ใส่คลุมลงไปตั้งแต่บริเวณเอวลงไป ผ้ากันเปื้อนชนิดนี้ส่วนใหญ่นิยมใส่เพื่อเน้นให้ดูเป็นระเบียบ สวยงาม มากกว่าใช้เพื่อป้องกันความสกปรก เช่น ผ้ากันเปื้อนสำหรับบริกรในร้านอาหาร เป็นต้น
ผ้ากันเปื้อนแบบเต็มตัว
[แก้]เป็นผ้ากันเปื้อนที่ถูกใช้กันโดยทั่วไป มีส่วนที่ปกคลุมตั้งแต่ลำตัวเหนืออกลงมาจนเกือบถึงเข่า หรือบางชนิดก็ขนาดเลยเข่า ผ้ากันเปื้อนชนิดนี้ส่วนใหญ่ใส่เพื่อป้องกันความสกปรกและเพื่อป้องกันอันตรายจากการทำอาหารที่ติดไฟ เป็นหลัก นอกจากนี้ในเรื่องของการสวมใส่ ในผ้ากันเปื้อนแบบเต็มตัวนั้นยังมีการออกแบบสายคล้องอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ แบบคล้องคอ และแบบคล้องไหล่ ในแบบคล้องคอนั้นมีข้อดีคือสวมใส่ง่าย แต่มีข้อเสียคือทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก ในขณะที่แบบคล้องไหล่จะมีข้อเสียคือสวมใส่ยาก แต่มีข้อดีคือเคลื่อนไหวสะดวก
ส่วนลวดลายบนผ้ากันเปื้อนนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ หากต้องการความเรียบร้อยก็จะใช้สีที่ดูสุภาพเช่น สีขาว ดำ น้ำเงิน หรือมีลวดลายที่ไม่ฉูดฉาดมากนัก ส่วนผ้ากันเปื้อนที่ใช้เพื่อความสวยงามมักมีลวดลายที่น่ารัก บ้างก็มีขอบผ้าที่เป็นลายลูกไม้ นอกจากในประเทศไทยยังมีผ้ากันเปื้อนที่เป็นลายเป็นตราผลิตภัณฑ์ หรือข้อความเพื่อเป็นการโฆษณา เช่น การแจกผ้ากันเปื้อนให้กับผู้ประกอบการโดย นักการเมือง ร้านค้า หรือผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ
ผ้ากันเปื้อนในแบบอื่น ๆ
[แก้]นอกจากผ้ากันเปื้อนแบบทั่วไป ยังมีผ้ากันเปื้อนในแบบอื่นด้วย เช่น
ผ้ากันเปื้อนแบบพินาฟอร์
[แก้]ในภาษาอังกฤษ "Pinafore" เป็นผ้ากันเปื้อนกันเปื้อนแบบเต็มตัว โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงผ้ากันเปื้อนสำหรับเด็กผู้หญิงในสไตล์ยุโรป ลักษณะเด่นของผ้ากันเปื้อนแบบพินาฟอร์ จะต่างจากผ้ากันเปื้อนทั่วไปคือขอบของผ้ากันเปื้อนส่วนใหญ่จะเป็นลายลูกไม้ และมักจะใส่ทับบนชุดติดกัน(dress)
คำว่า pinafore นั้นมีที่มาจากคำว่า pin (ติด) กับคำว่า afore (ข้างหน้า) ซึ่งหมายถึงชุดที่ติดอยู่ข้างหน้า (โดยไม่มีกระดุม) ชุด pinafore มีปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย เช่น เครื่องแต่งกายของตัวละคร อลิส(Alice) จากนวนิยายเรื่อง อลิสผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland) นอกจากชื่อ pinafore เมื่อนำชุดนี้ไปใส่รวมกับชุดติดกัน(dress) ก็อาจเรียกว่า “pinafore dress” หรือ “apron dress” นอกจากนี้เนื่องจากชุดดังกล่าวเป็นเครื่องแต่งกายมาตรฐานของสาวใช้ในยุควิคตอเรียด้วย ในบางครั้งจึงเกิดความสับสนเรียกเป็น “ชุดสาวใช้” (maid clothes) ด้วย
ผ้ากันเปื้อนแบบคอปเลอร์
[แก้]ในภาษาอังกฤษ "Cobbler Apron" เป็นผ้ากันเปื้อนแบบคลุมรอบตัว บางแบบมีสายรัดเพื่อเพิ่มความกระชับ ผ้ากันเปื้อนชนิดนี้นิยมใส่โดยช่างฝีมือ คำว่า Cobbler นั้นแปลว่า “ช่างทำรองเท้า”
คัปโปงิ
[แก้]คัปโปงิ(ญี่ปุ่น: 割烹着; โรมาจิ: Kappōgi) เป็นชุดกันเปื้อนแบบมีแขนของญี่ปุ่น ใช้ใส่เพื่อป้องกันไม่ให้ชุดกิโมโนสกปรก ความยาวของชุดส่วนใหญ่จะยาวถึงระดับเข่า แขนคัปโปงิจะยาวมาจนถึงข้อมือเพื่อป้องกันความสกปรก โดยปลายแขนจะเป็นยางยืดเพื่อให้เกิดความกระชับในการใส่ ส่วนสายมัดของคัปโปงิโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ตำแหน่งคือบริเวณ ล่างคอ และเอว ปัจจุบันชุดคัปโปงินิยมใส่เพื่อใช้ในการทำงานบ้าน อย่างไรก็ตามอาจเนื่องจากด้วยความที่ชุดนี้เป็นชุดผ้ากันเปื้อนแบบเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยเมจิ มีขั้นตอนในการใส่ที่ยุ่งยาก และดูอึดอัด แม่บ้านยุคใหม่จึงนิยมใช้ผ้ากันเปื้อนทั่วไปมากกว่าคัปโปงิ
อนึ่ง คำว่า คัปโป(割烹) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “การทำอาหาร” เมื่อรวมกับคำว่า 着(คิ)[1] ที่หมายถึง "การแต่งกาย" จึงหมายความถึง "ชุดที่ใช้ใส่เพื่อการทำอาหาร" นั่นเอง
มะเอะกะเกะ
[แก้]มะเอะกะเกะ(ญี่ปุ่น: 前掛け; โรมาจิ: Maekake) เป็นชุดกันเปื้อนที่ใช้ผ้าสะอาดพาดห้อยไว้บริเวณหน้าขา แล้วใช้สายรัดชุดกิโมโนที่เรียกว่า “โอบิ” รัดในอยู่กับตัว แต่เดิมในสมัยมุโรมาจิตอนปลายถือเป็นชุดทำงานของหญิงรับใช้[2] ปัจจุบันมะเอะกะเกะมีการพัฒนาเปลี่ยนไป จนมีลักษณะไม่ต่างไปจากผ้ากันเปื้อนแบบครึ่งตัวคือไม่ได้ใช้ผ้าคาดไว้กับโอบิเหมือนอดีต แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเมื่อพูดถึงมะเอะกะเกะนั้นจะหมายถึงผ้ากันเปื้อนแบบครึ่งตัวที่มักใส่โดยพ่อค้ามากกว่า
คำว่ามะเอะกะเกะ ในภาษาญี่ปุ่นมาจากคำว่า “มะเอะ” ที่หมายถึง “ข้างหน้า” และ “กะเกะ” ที่หมายถึง “การห้อยหรือแขวน”
นอกจากชื่อนี้แล้วผ้ากันเปื้อนแบบนี้ยังอาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งคือ “มะเอะดะเระ”(前垂れ) ซึ่งคำว่า “ทะเระ” ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “การห้อย”