ผู้ใช้:Wikiterriode

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดเพลง (นนทบุรี) ชื่อสามัญ โบราณสถานวัดเพลงร้าง ที่ตั้ง ริมคลองวัดสัก ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย นนทบุรี พระประธาน หลวงพ่อโต (ด้านในโบสถ์)

วัดเพลงเป็นวัดร้างตั้งทิ้งอยู่กลางสวนผลไม้ริมคลองวัดสักใหญ่ ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีโบสถ์ขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้นตกแต่งอย่างสวยงาม บ้างก็หลุดร่วงหักพังตามสภาพ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมผนังพระอุโบสถอยู่หนาแน่น

ประวัติความเป็นมา วัดเพลงร้างเดิมมีชื่อว่า วัดทองเพลงหรือวัดเพรง สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2200 ถึงปี 2231 ในสมัยสมเด็จพระณารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบนั้น เล่าต่อกันมาว่า วัดทองเพลงเป็นวัดหลวง ปีหนึ่งจะรับกฐินสองไตรจากทางกรุงศรีอยุธยา (คนเมืองนนทบุรีในสมัยนั้นเรียกว่า “เมืองบน”) ที่ส่งขบวนกฐินมาทางเรือปีละ 2 ชุด ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะปกติตามประเพณีทางพุทธศาสนา ปีหนึ่งแต่ละวัดจะได้รับกฐินเพียงละครั้งเท่านั้น อีกอย่างที่ผู้เฒ่าแถวบางกรวยพูดถึงคือวัดทองเพลงต้มเหล้ากินเอง สาเหตุที่วัดเพลงปัจจุบันเป็นวัดร้างเพราะในช่วงที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มังมหานรธาแม่ทัพพม่านำทัพจากทางใต้ขึ้นมาตามลำน้ำและได้ตั้งค่ายตามริมสองฝั่งแม่นำเจ้าพระยานั้น ชาวบ้านบริเวณวัดเพลงเกิดความกลัวจึงนิมนต์พระสงฆ์ที่จำวัดหนี บ้างก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อรบกับพม่า ครั้นสงครามสงบแล้วก็คงไม่ได้กลับมา วัดจึงถูกทิ้งให้ร้างมาจนถึงปัจจุบัน ในนิราศสุพรรณ นายมีได้พรรณาเมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดแห่งนี้ว่า “มาถึงหน้าวัดเพลงวังเวงจิต นั่งพินิจศาลาที่อาศัย มีตะพานลูกกรงลงบันได จึงจำได้แน่จิตไม่ผิดเพี้ยน แต่ก่อนพระวัดนี้ท่านดีมาก ชื่อขรัวนาคช่างฉลาดข้างวาดเขียน มีคนจำแบบอย่างมาวางเรียน จนช่างเขียนประเดี๋ยวนี้ก็ดีจริง ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง ไม่มีใครยอยกเหมือนตกบึง ต้องนอนขึงคิดอ่านสงสารตัวฯ” สันนิษฐานว่าแต่เดิมมาที่นี่คงเคยเป็นที่พำนักของเจ้าขรัวนาค แห่งวัดทองเพลง ซึ่งมีชื่อเสียงในการเขียนจิตรกรรมภาพฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์

โบราณสถานและวัตถุภายในวัด

ไฟล์:โบสถ์วัดเพลงร้าง

พระอุโบสถวัดทองเพลงมีขนาดค่อนข้างใหญ่ 6 ห้อง ที่มุม(ย่อ)ไม้สิบสองแบบเสา มีซุ้มประตูทางเข้า ด้านหน้ามีลายกนกปูนปั้นงดงามแบ่งเป็น 2 ตอน ด้านบนเป็นคานไม้มีรูปกนกเปลวเพลิงปิดทอง ส่วนด้านในเป็นลายกนกรูปเทพนม แต่ลบเลือนแล้วทั้งสองตอน หน้าบันของโบสถ์มีลายปูนปั้นเช่นกันแต่ถูกรากไม้หุ้มรัดจนเต็ม ด้านล่างของพระอุโบสถมีเศษกระเบื้องดินเผาถมจนสูงเท่าระดับหน้าต่าง ภายในมีภาพเขียนสีเป็นรูปใบไม้ร่วงบนพื้นสีแดง แต่ลบเลือนมากแล้วเช่นกัน สภาพพระอุโบสถโดยรวมชำรุดมาก เหลือเพียงฝาผนังทั้งสี่ด้าน ไม่มีหลังคา บานประตูหน้าต่างมีต้นไทรปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รากไทรได้ยึดฝาผนังไว้ไม่ให้พังลงมา หลวงพ่อโตในพระอุโบสถเป็นพระโบราณสร้างจากหินทราย ดูตามพระพุทธลักษณะของพระพักตร์ พระโอษฐ์ และพระเกศเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง หุ้มปูนลงรักปิดทองทั้งองค์ แต่ถูกไฟสุมลอกจึงทำการลงรักปิดทองขึ้นมาใหม่ ฐานของหลวงพ่อโตกว้าง 3 ใน 4 ของความกว้างพระอุโบสถเป็นลายปูนปั้นรูปสิงห์ขาโหย่งแต่ถูกกระเทาะผุพังไปบ้าง ด้านหน้ามีพระปูนปั้นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ หันหน้าเข้าหาพระประธาน ไม่ใช่พระสาวกหมู่ตามธรรมเนียมนิยมของอยุธยา ทั้งโบสถ์วัดเพลงและหลวงพ่อโตที่วัดเพลงนี้ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในชุมชนบางกรวย ในระหว่างพรรษาของทุกปีทางวัดแก้วฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงกันยังคงจัดพระสงฆ์ สามเณร ไปจุดธูปเทียนพรรษาบูชา นับว่ามีคุณค่าที่ควร้รับการบูรณะอย่างยิ่ง

ใบเสมาขนาดใหญ่ตามมุมทั้ง 4 ของพระอุโบสถวัดเพลงทำด้วยหินทรายแดง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 แท่นฐานของขาสิงห์โหย่งที่ก่ออิฐถือปูน เมื่อฐานผุพังตามกาลเวลาใบเสมาจึงทลายลงมากองกันอยู่ ตามประวัติมีการขนย้านใบเสมาไปที่วัดสักใหญ่ (อยู่ใกล้เคียงกัน) เพื่อจะได้ประดิษฐานรอบพระอุโบสถหลังใหม่ แต่ยกไม่ขึ้นเนื่องจากมีน้ำหนักมากจึงกองทิ้งอยู่ในพื้นที่พระอุโบสถวัดสักใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ บางอันยังมีสภาพสมบูรณ์เห็นลวดลายเครือเถาชัดเจน แต่ส่วนใหญ่แตกสลายแล้ว

ซุ้มหอระฆังเป็นป้อมเล็กๆ ก่ออิฐถือปูนอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นรูปอาร์คโค้งมีลายปูนปั้นตามแบบนิยมสมัยอยุธยาตอนกลาง ด้านบนชั้น 2 มีบันไดขึ้น ผู้เฒ่าในแถบนั้นเล่ามาว่ามีบันไดสูงขึ้นไปถึงยอด แต่หักพังลงมาหมดแล้ว (เรียบเรียงจาก http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=53&t=700280 09/05/63 11:21 น.)