ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Waminwittaya

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนวมินทร์วิทยา (ฮัวเหมิง)[แก้]

ความเป็นมาของโรงเรียนจีนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ความเจริญทางวัฒนธรรม คือ สิ่งชี้ให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของประเทศชาตินั้น ความสงบร่มเย็นและความมีระเบียบวินัยภายในประเทศ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน แต่การผลิตปัญญาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสถาบันการศึกษาเป็นที่ถ่ายทอดให้กับบุคคล ปัจจุบันภาษาจีนเป็นภาษาสากลที่สำคัญอีกภาษาหนึ่ง ชาวจีนที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ถึงแม้เปลี่ยนแปลงสัญชาติเป็นคนไทย ก็ยังรักษาจารีตประเพณีเดิม ลูกหลานจะเข้าเรียนภาษาไทยก็ตาม แต่พ่อแม่จะสอนให้ลูกหลานเรียนภาษาจีนด้วย  พ่อค้า คหบดีเชื้อสายจีนในประเทศไทยหลายจังหวัดร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนให้เยาวชนศึกษาเล่าเรียนหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาจีน

          ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  โรงเรียนที่สอนภาษาจีนถูกสั่งปิดไปหลายแห่งเพราะผลกระทบทางการเมือง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีกลุ่มนักธุรกิจทางการค้าชาวจีนร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนจีนให้บุตรหลานได้เล่าเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาจีน  โรงเรียนแห่งแรกในบ้านดอน   “พระยาปฏินันท์ (เลี่ยวหย่งเฮง)”  ได้ก่อตั้งเมื่อ  พ.ศ. 2442  ชื่อโรงเรียน “คี่หมง”  มีครูใหญ่เป็นคนแซ่ฉั่ว  ตั้งอยู่ถนนบ้านดอน  เปิด - ปิดจนต้องเลิกกิจการไป

          ต่อมาปี พ.ศ. 2473  ขุนเศรษฐ์ภักดี  ทายาทพระยาปฏินันท์  ผู้นำทางเศรษฐกิจในจังหวัดสุราษฎร์ธานี   ได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นมาใหม่ชื่อ  “โรงเรียนเถ้าเอง”  ตั้งอยู่ถนนชนเกษม  ปัจจุบันเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี  อีกด้านหนึ่งติดกับถนนหน้าเมือง  ปัจจุบันเป็นโรงแรมสุราษฎร์   เปิดสอนทั้งภาษาไทยและภาษาจีน  มีแผนกอนุบาลด้วย  ภาษาไทยสอนถึงชั้นประถมปีที่ 4  ภาษาจีนสอนถึงชั้นมัธยมต้นเป็นโรงเรียนมาตรฐาน  แต่ต้องถูกสั่งปิดเมื่อ พ.ศ. 2482 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองทางราชการได้ย้ายศาลากลางจังหวัดเข้ามาใช้สถานที่เป็นที่ทำการชั่วคราว  เนื่องจากศาลากลางจังหวัดถูกเผาทำลายเมื่อวันที่  8  ธันวาคม  2484  วันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบุกบ้านดอน

          ปี พ.ศ. 2490  หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงผ่านไป  2  ปี  นายกำธร  เสรฐภักดี  ทายาทขุนแศรษฐ์ภักดี  ได้รวมกลุ่มฟื้นฟูก่อตั้งโรงเรียนเถ้าเองขึ้นมาใหม่ที่ถนนหน้าเมือง  ปัจจุบันเป็นโรงภาพยนตร์โอเดี่ยน ใช้ชื่อเรียกใหม่ว่า  “โรงเรียนเอี๋ยวอิง” แต่ตัวอักษรจีนยังเขียนเหมือนเดิม  มีคุณเจิน จิ้น หยวน  เป็นครูใหญ่จีน  คุณประยูร  โรจนวิภาค  เป็นครูใหญ่ไทย  เปิดทำการสอนจนกระทั่ง  พ.ศ. 2509  เพราะเหตุผลทางการเมืองจึงถูกสั่งปิดอีก

          ในปี พ.ศ.2492  ได้เกิดมีโรงเรียนสอนภาษาไทยและจีนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  โดยการนำของนายเจนกิจ  ปัจจักขะภัติ์  ทายาทของพระประจักษ์(โซวคุนเฮง) คหบดีผู้นำทางเศรษฐกิจอีกท่านหนึ่งใช้ชื่อว่า  “โรงเรียนตงเจี่ย” ตั้งอยูถนนหน้าเมือง

          ถนนสายเดียวกับโรงเรียนเอี๋ยวอิง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งห้างพาต้า ธนาคารทหารไทย ปากทางเข้าวัดไทร  ต่อมาปี  พ.ศ. 2499 ต้องย้ายไปตั้งที่บ้าน  ถนนตลาดใหม่และต้องเลิกกิจการเนื่องจากถูกทางราชการสั่งปิด

โรงเรียนทั้งสอง  เอี๋ยวอิง  และตงเจี่ย  ต่างให้การศึกษาแก่กุลบุตรธิดาเชื้อสายจีนทั้งภาษาไทยและภาษาจีนมาเป็นจำนวนไม่น้อย  ศิษย์เก่าของทั้งสองโรงเรียนต่างประสบความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงาน  มีทั้งนักธุรกิจ  พ่อค้า ที่มีชื่อเสียงในสังคม  ที่รับราชการเป็นใหญ่เป็นโตหลายท่าน นอกจากมีโรงเรียนสอนภาษาจีนสองโรงแล้วยังมีการสอนพิเศษภาษาจีนภาคค่ำที่สมาคม  “ลิจิ้น”  ต่อมาสถานที่ดังกล่าวได้ก่อสร้างโรงแรมเปรมสุข  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งธนาคารกสิกรไทย  สาขาสุราษฎร์ธานี ระยะเวลาผ่านมาเกือบ  50  ปี วัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนยังฝั่งแน่นไม่เปลี่ยนแปลง  แต่การใช้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปมาก  ปัจจุบันลูกหลานจีนพูดจีนไม่ค่อยได้  หรือพูดจีนไม่เป็น เนื่องจากไม่ได้พูดและไม่ได้ใช้ความเป็นมาของโรงเรียนวมินทร์วิทยา (ฮัวเหมิง)

          ในปี พ.ศ.2545  ผู้นำจากองค์กรสมาพันธ์จีนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ร่วมประชุม เพื่อดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยและจีน โดยขอจดทะเบียนจัดตั้งในนามมูลฮัวเหมิงการศึกษา  เลขที่ 148/19  บนถนนกาญจนวิถี  ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้ง โดยมีชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวมินทร์วิทยา” ภาษาจีนเรียกว่า “ฮัวเหมิง”

วันที่ 22 มีนาคม 2546 พิธีวางศิลาฤกษ์ โรงเรียนฮัวเหมิงการศึกษาสุราษฎร์ธานี โดยมี  ฯพณฯ เยี่ยน ถิง อ้าย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมด้วย มล. ประทีป จรูญโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนายวิเชียร กิจวาณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฮัวเหมิงการศึกษาสุราษฎร์ธานี ร่วมกันวางศิลาฤกษ์  โดยงบประมาณการก่อสร้างโรงเรียนนี้ตั้งไว้จำนวน 40 ล้านบาท แต่มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคได้รับการสนับสนุนจากชาวสุราษฎร์ธานีและต่างจังหวัดเป็นจำนวนเงินกว่า 20 ล้านบาท ในเวลาอันรวดเร็วทำให้สามารถสร้างอาคารเรียนคอนกรีต 3 ชั้น 24 ห้องเรียน พร้อมอาคารสำหรับชั้นอนุบาล 1 หลัง บนเนื้อที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 148/19 หมู่ที่ 5 ถนนกาญจนวิถี ตำบลบางกุ้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมูลนิธิธรรมมา-นุรักษ์ อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของเยาวชน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนวมินทร์วิทยา ตามใบอนุญาต  เลขที่ 002/2548 (สพท.สฎ.1) โดยนายวิเชียร  กิจวาณิชย์  เป็นผู้ลงนามแทนมูลนิธิฮัวเหมิงการศึกษา นายพงษ์ศักดิ์  โพธิครูประเสริฐ เป็นผู้จัดการ  นางอมรรัตน์  อ่อนหาดพอ  เป็นครูใหญ่ โรงเรียนวมินทร์วิทยา ได้รับใบอนุญาตให้เปิดรับนักเรียน เพื่อเข้าเรียนในปีการศึกษา 2548 โดยรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล ถึง ชั้นอนุบาล 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  6

วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 พิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โดยทางโรงเรียนได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ จาง จิ่ว หวน  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน  และนายวิจิตร  วิขัยสาร  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงานในครั้งนี้  พร้อมทั้งแขกผู้มีเกียรติ  คณะครูและบุคลากรของทางโรงเรียน  ผู้ปกครอง และนักเรียนมาร่วมในพิธีเปิดโรงเรียนกันอย่างพร้อมเพรียง  มีปฐมนิเทศนักเรียนและผู้ปกครองขึ้นเป็นครั้งแรก  และเปิดการเรียนการสอนวันแรก  ในวันที่  16  พฤษภาคม  2548

          วันที่ 1 เมษายน 2549 ได้รับอนุญาตให้ใช่ชื่อและที่อยู่เป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้  WAMIN WITTAYA SCHOOL  ADDRESS 148/19  KARNJANAVITEE  7  ROAD, BANGKUNG TUMBOL, MUANG DISTRIC, SURATTHANI  PROVINCE   84000  TEL  : 077-214341 - 3  FAX  : 077 - 212287  และในปีการศึกษา  2549  มีจำนนนักเรียน  367  คน

          วันที่  25  พฤศจิกายน  2550  โรเรียนได้รับความอนุเคราะห์  จากผู้มีจิตศรัทธา   คือ  คุณสมชัย  จอมเกตุ  ประธานบริษัท  มิตรแม้  กรุ๊ป  และครอบครัว  สร้างอาคารเรียน  2  ชั้น  14  ห้องเรียน  1  หลัง  เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนระดับอนุบาล  และคุณสมบัติ  ลิมสถายุรัตน์  ประธานบริษัท  โตโยต้า  สุราษฎร์ธานี จำกัด  ผู้จำหน่ายรถโตโยต้าและครอบครัว  สร้างอาคารหอประชุม  1  หลัง  และได้มอบให้โรงเรียนใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาสืบไป

          วันที่   13 ธันวาคม  2550 ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิม  โรงเรียนวมินทร์วิทยา  เป็นโรงเรียนวมินทร์วิทยา (ฮัวเหมิง) และเปลี่ยนแปลงตราโรงเรียนด้วย

วันที่  16  มีนาคม  2553  มูลนิธิธรรมมานุรักษ์  ได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินเพิ่มเติมเป็นที่ดินทั้งหมดที่ให้เช่า คือ 18  ไร่ 50 ตารางวา  และมูลนิธิฮัวเหมิงการศึกษายินดีบริจาคเงินเพื่อการศึกษาปีละ 90,000 บาท โดยระยะการเช่าสิ้นสุดพร้อมกันทั้งหมดในวันที่  15  พฤษภาคม  พ.ศ.2576

ปัจจุบัน  โรงเรียนจะมีอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็ก  4  ชั้น  จำนวน  1 หลัง  อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  3  ชั้น  จำนวน  1  หลัง  อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  2  ชั้น  จำนวน  1  หลัง อาคารประกอบ ชั้นเดียว  2  หลัง  มีห้องเรียน 54 ห้องเรียน ห้องประกอบ 11 ห้อง  ความจุนักเรียน  2,190  คน  และปีนี้มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น  810  คน

          หากใครผ่านไปมาบนเส้นทางถนนกาญจนวิถี  เหลียวมองไปทางบริเวณสำนักงานขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี  จะเห็นป้ายชื่อโรงเรียนวมินทร์วิทยา  ตั้งสง่าบนหลังคาเก๋งจีนของอาคารเรียน แหล่งที่ปลูกฝังสรรพวิทยา ทั้งความรู้ความสามรถด้านภาษา  วิชาการ  เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม  จริยธรรม  ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการและผู้มีจิตศรัทธาที่ให้การสนับสนุน  เพื่อให้เยาวชนวันนี้ ได้เป็นกำลังที่มีคุณภาพของบ้านเมืองต่อไป

สภาพปัจจุบัน

          โรงเรียนวมินทร์วิทยา (ฮัวเหมิง)  อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.)  เขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานีเขต 1  ตั้งอยู่บนเลขที่ 148/19 หมู่ 5 ถนนกาญจนวิถี 7  ตำบลบางกุ้ง  อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   เป็นโรงเรียนเอกชน ในเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี  ได้จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดที่ต้องการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระของกระทรวงศึกษาธิการและให้โอกาสแก่เด็กได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน  โดยเน้นพัฒนาการทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคม และสติปัญญา ตามคำกล่าวที่ว่า  “เรียนให้สนุก  เล่นให้มีความรู้”

          โดยจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   บริหารงานโดย มูลนิธิฮัวเหมิงการศึกษา   ปัจจุบันมีนายพรรษพล  จอมเกตุ เป็นผู้รับใบอนุญาต นายสุนทร  หวังพัฒนธน เป็นผู้จัดการ  นายบัญญัติ  สุขขัง  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน  และมี นายสุชาติ  เหล่ากอ   เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน   ทางโรงเรียนได้จัดให้มีการเรียนการสอนปีละ  2  ภาคเรียน  คือ ภาคการศึกษาต้น เริ่มจากเดือน  พฤษภาคม - กันยายน  ภาคการศึกษาปลาย  เริ่มจากเดือน พฤศจิกายน - มีนาคม   มีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน  46 คน  มีนักเรียน จำนวน  748 คน   มีอาคารเรียนถาวร 3 หลัง  หอประชุมอเนกประสงค์ 1 หลัง  โรงอาหาร 1 หลัง  ห้องสหกรณ์ 1 ห้อง  ห้องสมุด 2 ห้อง  ห้องคอมพิวเตอร์ 2  ห้อง  ห้องวิทยาศาสตร์ 1 ห้อง   ห้องนาฏศิลป์ 1 ห้อง  ห้องจริยธรรม 1 ห้อง   ห้องปฏิบัติการทางภาษา 1  ห้อง  ห้องการงาน  1  ห้อง   ห้องพละ 1  ห้อง  ห้องพยาบาล 1 ห้อง ห้องสื่ออนุบาล 1 ห้อง  ห้องเกียรติยศคุณสมชัย  จอมเกตุ  1 ห้อง อาคารบ้านพักครูจีน  1  หลัง  อาคารบ้านพักครูไทย  1  หลัง