ผู้ใช้:Shimminah/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Cyberwar

ก่อนที่สงครามในโลกแห่งความจริงจะเกิดขึ้น ระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย ซึ่งสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งใน เซาท์ ออสเซเทีย(South Ossetia)ประเทศจอร์เจีย แฮกเกอร์รัสเซีย ก็ได้เปิดสมรภูมิรบไซเบอร์ไว้รอท่า โดยมีรายงานว่า ก่อนที่สงครามจะเริ่มขึ้นไม่กี่วันนั้น เว็บไซท์รัฐบาล รวมทั้งเว็บกระทรวงหลายแห่งของจอร์เจีย อาทิ เว็บไซท์ประธานาธิบดี Mikheil Saakashvili, เว็บทำเนียบรัฐบาล, หน้า Homepages กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงกลาโหม ไม่สามารถเข้าถึงได้ บางแห่งเข้าได้แต่ถูกเปลี่ยนเนื้อหา ในขณะที่เซิร์ฟเวอร์ภายในประเทศจอร์เจีย ถูกโจมตีโดยวิธี "ระดมยิงคำสั่งลวง" (Distributed Denial of Service attacks หรือ DDos) จนระบบปฏิบัติการล้มเหลว หรือมิเช่นนั้นก็ถูกควบคุมเส้นทางจาก Autonomous System ที่อยู่ภายนอกประเทศ Jart Armin เจ้าของบล็อก rnbexploit-Blogs ที่เปิดเผยเรื่องนี้เป็นแห่งแรก วิเคราะห์และแสดงหลักฐานว่า การโจมตีครั้งนี้ แฮกเกอร์รัสเซีย ภายใต้ชื่อเครือข่าย Russia Business Network (RBN) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งต่อมาการวิเคราะห์ของเขาก็ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ อันที่จริงแล้ว Cyberwar หรือบางแห่งเรียก Internet War (iWar) ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะปี 2007 รัสเซียก็เคยใช้กองทหารไซเบอร์ โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศเอสโตเนีย มาแล้ว Cyberwar ครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2001 โดยมียักษ์ใหญ่อย่างจีน กับสหรัฐฯ เป็นคู่สงครามฟาดฟันเว็บไซท์กันและกัน ภายหลังที่วิธีทางการทูตไม่สามารถหาข้อยุติอันเหมาะสมจากกรณีเครื่องบินรบจีนชนกับเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐ ฯ โดยไม่ตั้งใจยังผลให้นักบินจีนเสียชีวิต ได้ แฮกเกอร์ใจร้อนสัญชาติจีน ก็เลยเปิดฉากโจมตีเว็บไซท์สหรัฐฯ ก่อน คำว่า Cyberwar นั้น ไม่ได้หมายเฉพาะว่าต้องเกิดขึ้นคู่ขนาน เป็นเรื่องระหว่างประเทศ หรือระหว่างคู่กรณีที่มีการทำสงครามกันในโลกจริง ๆ เท่านั้น เพราะกรณีที่เว็บไซท์สวีเดนกว่า 5000 เว็บถูกแฮกฯ ทำลายข้อมูล เมื่อเดือนตุลาคม 2007 ซึ่งหนังสือพิมพ์ตุรกี "Zaman" รายงานเองว่า เป็นฝีมือของแฮกเกอร์ชาวมุสลิมตุรกี ด้วยสาเหตุที่ว่าไม่พอใจสื่อสวีเดนที่เผยแพร่การ์ตูนล้อมูฮัมหมัด นั่นก็ถือเป็น Cyberwar เหมือนกัน

หลังจากตกเป็นฝ่ายรับ แฮกเกอร์สวีเดน ก็โต้กลับด้วยการเจาะระบบเว็บบอร์ด "Ayyildiz" ของตุรกี ขโมยข้อมูล และ Password สมาชิกชาวตุรกีกว่าพันคน มาเปิดเผยบนอินเทอร์เน็ต โดยทิ้งข้อความเย้ยหยันอย่างเปิดเผยว่า เป็นการโต้ตอบจากสวีเดน โทษฐานที่ตุรกีบังอาจมาแฮก ฯ เว็บสวีเดนก่อน เท่านั้นยังมิสาแก่ใจ แฮกเกอร์สวีเดนยังจัดการส่งภาพโป๊มูฮัมหมัดไปตามอีเมล หรือเอ็มเอสเอ็นที่แฮก ฯ มา ให้สมาชิกเว็บนั้นดูต่างหน้าอีกด้วย กลางปี 2008 กลุ่มแฮกเกอร์ Ayyildiz-Team ซึ่งเรียกตัวเองว่า "ทหารแห่งโลกไซเบอร์" ก็พยายามแฮกเว็บไซท์ของ EU เพื่อเผยแพร่คำต่อต้านสหภาพยุโรป ที่กล่าวหาว่า มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ในประเทศตุรกี และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เว็บไซท์สมาคมฟุตบอล และนิตยสารของออสเตรียก็เคยโดนโจมตีจนได้รับความเสียหาย จากทีมนี้เช่นกัน นอกจากกรณีดัง ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีการโจมตีกันไปมาด้วยเหตุผล และข้อพิพาทอื่น ๆ อีกมากที่ไม่ได้รับการเปิดเผย ทั้งนี้เพราะฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อกลัวว่าฝ่ายตัวจะเสียภาพพจน์

	ปัจจุบัน มิเพียงแต่คำเรียกเท่านั้น ที่ยังผสมปนเป หรือใช้แทนกันไปมาอยู่ แต่คำจำกัดความสงครามรูปแบบนี้ที่ยอมรับกันเป็นสากล ก็ยังไม่มีเหมือนกัน สื่อส่วนใหญ่มักให้ความหมาย Cyberwar ว่า "สงครามบนอินเทอร์เน็ต" ฝั่งสหรัฐ ฯ ไม่ได้ใช้ Cyberwar เป็นศัพท์ทางการ แต่ใช้วิธีอธิบายสงครามแบบนี้ว่า คือ "การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์" ในขณะที่เยอรมันยังให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำ "สงครามข้อมูลข่าวสาร" (Information War) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึง Cyberwar ก็ควรต้องเข้าใจว่า มันไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียง การโจมตีด้วยวิธีการเจาะระบบ (Hacken) ยิงคำสั่ง (Dos หรือ DDos) ฯลฯ เพื่อทำลาย หรือสร้างความเสียหายแก่ตัวระบบคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ยุทธศาสตร์ในการยึดครอง หรือการพยายามเข้าไปมีิิอิทธิพลครอบงำ "ความคิดเห็นสาธารณะ" ด้วย และนี่เอง ที่เป็นที่มาของคำเรียกชื่อสงครามนี้อีกคำว่า "สงครามแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ" (Propaganda War) 

โปรแกรมที่ไปทำลายระบบอย่าง ไวรัส วอร์ม โทรจัน ระเบิดเวลา ฯลฯย่อมถือเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญของสงครามรูปแบบนี้ และทำนองเดียวกับ การก่อวินาศกรรมคอมพิวเตอร์ (Computersabotage) จุดประสงค์ของการโจมตีในสงครามไซเบอร์ ก็อาทิ การลบข้อมูลที่สำคัญ ทำลายระบบปฏิบัติการไม่ให้ใช้งานได้อีก หรือบิดเบือนการทำงานของระบบให้ผิดไปจากเดิม แต่ที่อาจต่างไปบ้างก็คือ เป้าหมายในการโจมตีกว้างขวางขึ้น อาทิ ทำลายระบบบริการสาธารณะ โจมตีระบบสนามบิน น้ำ ไฟ การจราจร ที่ควบคุมการทำงานโดยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่คู่กรณีเป็นวงกว้าง อีกสิ่งที่เพิ่มขึ้น ก็คือ การกระทำในเชิง "ข้อมูลข่าวสาร" ด้วยการเข้าไปปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต บิดเบือนเนื้อหาในเว็บไซท์ของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำลายเครดิต หรือจารกรรมความลับทางการรบ หรือข่าวที่สำคัญต่อการทำสงครามของศัตรู

บางคนอาจคิดว่าภัยของ iWar หรือ Cyberwar มีไม่มาก ไม่มีคนตาย ไม่มีผู้บาดเจ็บ ไม่มีซากปรักหักพัง แต่จริง ๆ แล้ว อานุภาพของสงครามนี้มีมากกว่าที่คิด ไม่เพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักมีมูลค่ามหาศาล เท่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่สงครามไซเบอร์ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ก็อาจมากมายชนิดที่เรายังจินตนาการไปไม่ถึง ทั้งนี้ แม้จะลงทุนมองข้าม ปัญหา และผลกระทบที่ตามมา จากความเชื่อหรือความเข้าใจอย่างผิด ๆ ของประชาคมหรือสาธารณชนเกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ไปแล้วก็ตามที

แม้อันตรายของสงครามนี้จะยังประเมินได้ไม่แน่ชัดในปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐ ฯ และเยอรมัน ต่างให้ความสำคัญกับการป้องกันระบบของตัวเอง รัฐบาลอเมริกาลงทุนกว่า 30 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการแฮก และโจมตีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่ไม่ค่อยลงลอยด้วยทั้งหลาย อย่าง จีน, อิรัก หรือ คิวบา กองทัพเยอรมันให้ความสนใจสงครามรูปแบบนี้เช่นกันแต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เยอรมันเน้นไปที่การไขปัญหาเรื่อง "สงครามด้านการจัดการข้อมูลข่าวสาร" (Information Operating) ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกองทัพเยอรมัน เริ่มทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของรูปแบบ และวิธีการข่มขู่ คุกคามฝ่ายตรงข้ามโดยอาศัยการจัดการด้านข้อมูล พร้อม ๆ กับพัฒนาความสามารถในการป้องกันตัวเองจากอันตรายรูปแบบพิเศษ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการคุกคามดังกล่าว

ภายหลังจากที่ระบบคอมพิวเตอร์ของเอสโตเนียถูกโจมตีโดยรัสเซียไปเมื่อปี 2007 ซึ่งยังผลให้บริษัท, ธนาคาร หน่วยราชการของเอสโตเนียหยุดชะงัก ทำงานไม่ได้ จนองค์กร Nato ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความช่วยเหลือในฐานะที่เอสโตเนียเป็นประเทศสมาชิก แล้ว Nato เอง ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ Cyberwar มากขึ้น มีโครงการ ตั้งศูนย์ป้องกันการโจมตีคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยทำงานภายใต้ศูนย์คอมพิวเตอร์หลักขององค์กรเอง คือ "Nato Computer Incident Response Capability´s Technical Center" (NITC) เดิมที ในหน่วยงานนี้ มีทหาร 91 นาย และผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นพลเรือนร่วมทำงานอีก 27 คน แต่เมื่อเพิ่มงานด้านการป้องกันการโจมตีระบบขึ้นมา จึงมีการขยายหน่วยงานขึ้นอีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการควานหาบุคลากร และมือแฮกอาชีพเข้ามาเพิ่มด้วย นอกจากหน่วยงานป้องกันการโจมตีคอมพิวเตอร์ของ Nato นี้แล้ว ในส่วนของ NCSA (The NATO Communication and Information Systems Services Agency) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลระบบข้อมูล และการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิก ก็ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการโจมตีระบบ รวมทั้งคอยแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือด้านระบบรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์แก่ประเทศสมาชิกด้วย มากล่าวถึง Cyberwar ประเด็น Propaganda และการใช้ข่าวสารเป็นอาวุธ ในสถานการณ์ระว่างรัสเซียกับจอร์เจีย บ้างครับ เพราะในขณะที่ข้อตกลงหยุดยิงจะได้รับการลงนามไปแล้ว แต่ดูเหมือนสงครามข้อมูลข่าวสารยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมวางอาวุธน้ำลายและไอที เสนาธิการฝ่ายข่าว และการสื่อสารของทั้งสองประเทศยังอาศัยเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ ป่าวประกาศ ประชาสัมพันธ์ ด้วยการประเมินความเสียหายของฝ่ายตัว เผยแพร่ความเลวร้ายของฝ่ายตรงข้ามอย่างถึงพริกถึงขิง บรรยายถึงการปล้นสะดม และตัวเลขสูญเสียต่าง ๆ ด้วยหวังชิงเสียงสนับสนุนการกระทำของตัวจากประชาคมโลก

Christiane Eilders นักวิชาการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม มหาวิทยาลัย Augsburg ประเทศเยอรมัน เคยกล่าวไว้ว่า "สงครามยุคใหม่นั้น จะเอาชนะคะคานกันแต่ในสมรภูมิรบอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องแสวงหา "การสนับสนุน" จากสาธารณะหรือประชาคม มาประกอบด้วย" (Kriege werden nicht mehr auf dem Schlachtfeld gewonnen, sondern mit der Unterstützung der öffentlichen Meinung) จากคำกล่าวนี้ น่าจะขยายความ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งได้ว่า ในสงครามหนึ่ง ๆ ใครจะเป็นผู้ร้าย หรือผู้ดี (เหยื่อ) สมัยนี้มันไม่ได้ดูกันแค่ว่า ใครเปิดฉากโจมตีก่อน นับจำนวนผู้ตาย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่วัดกันว่า "มีใครเข้าข้างใครมากกว่ากัน" !! และสงครามไซเบอร์ ที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับสงครามโลกจริงระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย ก็ถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมของคำกล่าวนี้ ด้วยมีประเด็นการใช้ "ข้อมูลข่าวสาร" เป็นอาวุธ และ "การโฆษณาชวนเชื่อ" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างเข้มข้น

อนึ่ง ควรต้องสังเกตว่า สงครามโบราณ คู่สงครามมักไม่ได้ใส่ใจ หรือคำนึงถึงสายตาประชาคมโลกเลยว่า ฝ่ายตัวจะเป็นตัวร้าย หรือว่า ตัวพระ เป้าหมายก็มีแค่ โรมรันศัตรูในสมรภูมิจนมันยอมจำนน แต่สงครามในยุคหลัง ๆ ซึ่งน่าจะนับตั้งแต่ สงครามเวียดนาม เป็นต้นมา (ถือเป็นสงครามแรก ที่ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารการทำสงครามได้ แม้นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้าน) เสียงสนับสนุนจากประชาคมโลก กลายเป็นสิ่งที่คู่สงครามต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ...เป็นไปได้หรือไม่ว่า สื่อ เทคโนโลยี รวมทั้งความสะดวกของการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ มีส่วนอย่างยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ ? หลังจากสงครามเวียดนาม ฝ่ายต่าง ๆ ในสงครามโคซาโว ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ "สื่อ และข้อมูลข่าวสาร" เป็นเครื่องมือของตัวในการทำสงครามกันแล้ว เป้าหมายก็เพื่อชี้ให้สาธารณะเห็นว่า ใครเป็นฝ่ายเทพ และใครเป็นฝ่ายมาร ...คงไม่ผิดนัก หากที่สุดจะกล่าวว่า "สงครามไซเบอร์" ไม่ได้แตกต่างจาก "สงคราม" ในอดีต แต่เพียง วิธีการ เหยื่อ หรือประเภทความสูญเสีย เท่านั้น แต่ปรัชญาแห่งการทำสงคราม ก็ยังแตกต่างกันด้วย

 แน่นอนที่ว่า "ความจริง" (ของข้อมูลข่าวสาร) ไม่ใช่พระเอก สำหรับสงครามชิงเสียงสนับสนุน หรือ "สงครามแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ" (Propaganda War) ครับ เพราะปรากฏว่า ข้อมูลจำนวนมากที่ออกมาจากคู่สงครามถูกบิดเบือน และจำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องโคมลอย โดยมีนักการเมือง บล็อกเกอร์ และแฮกเกอร์ช่วยกันทำหน้าที่ในฐานะ "กองกำลังไซเบอร์ และ นักรบพีอาร์" สำนักข่าวตะวันตกหลายแห่งเริ่มตั้งคำถามกับความแท้จริงของข้อมูล และท่ามกลางข่าวสารจำนวนมาก ตัวเลขเหยื่อสงครามที่เกินจริง คำแจ้งอย่างลวง ๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังรบ การเซ็นเซอร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน และการโจมตีเว็บไซท์เพื่อควบคุมเนื้อหาของฝ่ายตรงข้าม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะตัดสินได้ว่า ใครคือ อาชญากรสงครามตัวจริง กันแน่ เรียกได้ว่า งานนี้ ทหารหรือพลเรือนฝ่ายไหนตายเท่าไหร่ไม่มีใครรู้แน่ มูลค่าความเสียหายตีได้เท่าไหร่ไม่ชัดเจน แต่ที่ตายเบือไปแล้ว ก็คือ "ความจริง"

ตัวอย่างการทำสงครามพีอาร์ ที่เห็น ๆ ก็อาทิ ครั้งหนึ่งในการ ประชุมทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวตะวันตก Saakaschwili ประธานาธิบดีจอร์เจีย ร้องขอว่า ได้โปรดช่วยเสนอความจริงต่อประชาคมโลกด้วย เขาเตือนนักข่าวตะวันตกเกี่ยวกับความแท้จริงของแหล่งข่าว และข้อมูลที่มาจากฝ่ายรัสเซีย พร้อมกันนั้น ก็เล่าว่า ภรรยาของเขายังมีแก่ใจบินจากเมืองหลวงจอร์เจียไปเยี่ยมเยียนเชลย ซึ่งเป็นทหารบินของรัสเซียที่โรงพยาบาลที่ Zchinwali พลางสบถด่า การกระทำของกองกำลังทหารรัสเซียว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน Saakaschwili ยังยืนยันด้วยว่า ทหารรัสเซียเป็นฝ่ายทิ้งระเบิดที่เมือง Zchinwali แต่ข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง บอกว่ารัฐบาลจอร์เจีย แอบฝังเหยื่อผู้เสียชีวิตฝั่งตัวเองอย่างเร่งรีบ นัยเพื่อทำลายหลักฐานอะไรบางอย่าง ในขณะสถานีโทรทัศน์ฝ่ายรัสเซีย พยายามนำเสนอว่า จอร์เจียต่างหากที่เปิดฉากทิ้งระเบิดในเมือง Zchinwali ก่อน โดยมีภาพเด็กและผู้หญิงชาวรัสเซียที่ต้องอพยพหนีตายจากพื้นที่แถบนั้นประกอบฉาก

อีกเรื่องที่เกิดขึ้น ก็คือ เย็นวันจันทร์ก่อนที่สงครามจะเกิด มีการประกาศเตือนจากรัฐบาลจอร์เจีย ว่ากองกำลังรถถังของรัสเซีย กำลังจะเข้าโจมตีเมืองหลวงของจอร์เจีย แต่ในความเป็นจริง จนถึงเย็นวันอังคาร ก็ยังไม่มีใครเห็นร่องรอยของรถถังรัสเซียสักคัน แม้เพียงรอบ ๆ เมืองหลวง ในทางตรงกันข้ามกลับมีข่าวออกมาว่า ประธานาธิบดีรัสเซียประกาศจะยุติข้อขัดแย้ง แล้วถอนทหารจาก เซาท์ ออสเซเทีย ให้เร็วที่สุด

วันเสาร์หลังสงครามเกิด นักการทูตรัสเซียในประเทศจอร์เจียรายหนึ่ง กล่าวว่า จากการทิ้งระเบิดของจอร์เจียในคืนแรกของการเริ่มต้นสงคราม ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1500 คน และเมือง Zchinwalis ถูกทำลายไปกว่า 98 เปอร์เซ็นด์ แต่หลังจาก Anna Neistat ผู้อำนวยการ Human Rights Watch (HRW) สำนักงานมอสโก เดินทางไปดูสถานที่จริงด้วยความกังขา เธอพบว่า มีการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหาย และตัวเลขผู้เสียชีวิตในพื้นที่ เพราะโรงพยาบาล Alagir ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับตัวผู้บาดเจ็บทั้งหมดเข้ารักษา มีตัวเลขแค่ประมาณคืนละ 12 คนเท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งของการหาพวก และสร้างภาพความก้าวร้าว เกะกะระรานอย่างไม่น่าเชื่อให้กับฝ่ายตรงข้าม ก็คือ มีการปล่อยข่าวจากฝ่ายจอร์เจีย (โดย Ekaterina Scharaschidse รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ) ว่า เครื่องบินรัสเซียทิ้งระเบิดท่อส่งน้ำมัน BTC (BTC-Pipeline) ของบริษัทน้ำมัน BP แต่โชคดีที่ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ประเด็นของเรื่อง ก็คือ BTC-Pipeline คือ ท่อสำหรับขนส่งน้ำมันดิบระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขนน้ำมันจากทะเลแคชเปียน เมืองท่า Baku ผ่านจอร์เจีย ไปจนถึงท่า Ceyhan ในตุรกี ท่อส่งน้ำมันนี้ จึงถือเป็นแหล่งขนส่งน้ำมัน ที่มีความสำคัญต่อการจัดหาพลังงานให้กับกลุ่มประเทศในยุโรป

Scharaschidse ต้องการให้นักข่าวตีความสารของเธอว่า รัสเซียไม่เพียงแต่มีเป้าหมายในการทำลายเศรษฐกิจในประเทศจอร์เจียเท่านั้น แต่ยังมีเป้าทำลายเศรษฐกิจของยุโรปด้วย แน่นอนที่นักข่าวไม่พลาดข่าวนี้ สำนักข่าวในยุโรปต่างเล่นประเด็นนี้ ภายใต้พาดหัวทำนองว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียเปิดฉากโจมตีท่อส่งน้ำมัน แถมบางสำนักยังช่วยโหมกระพือโฆษณาชวนเชื่อให้ด้วยว่า การโจมตีครั้งนี้ เปรียบเสมือนการเตะกล่องดวงใจของยุโรป เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม หลังจากข่าวถูกนำเสนอ ตัวแทนบริษัทน้ำมัน BP ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ของอังกฤษว่า บริษัทยังไม่ได้รับรายงานใด ๆ เลยเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดท่อขนส่งน้ำมัน และยืนยันด้วยว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ภายหลังการเช็คและพิสูจน์ข้อมูล ก็พบว่า ไม่มีร่องรอยการถูกทิ้งระเบิด หรือโจมตีใด ๆ เกิดขึ้นเลย !

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของการการบิดเบือนข่าวสารใน สมรภูมิข้อมูล หรือ สนามรบไซเบอร์ กับเรื่องเล่าบางส่วนเกี่ยวกับ โศรกนาฏกรรมของความจริง จากเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลกเท่านั้น ยังมีการบิดเบือนอื่น ๆ ในเหตุการณ์อื่น ๆ อีกมหาศาล ที่เกิดขึ้นในทศวรรษนี้ ...และดูเหมือน เราคนไทยเอง ก็ยังคงต้องเดินป้วนเปี้ยน วนเวียนอยู่ในสมรภูมิประเภทที่ว่า ...หรือคุณว่าไม่ใช่ ?

ในยุคที่ข้อมูลจำนวนมหาศาลไหลเร็วยังกับจรวด ยากที่จะตรวจสอบอย่างละเอียด สื่อจำนวนหนึ่งนำเสนอข่าวสารแบบ "สุก ๆ ดิบ ๆ" ยุคที่ อำนาจ ภาพพจน์ การบิดเบือน ชวนเชื่อ และการ "มีพวกมาก" สำคัญกว่า มนุษยธรรม ความจริง ประโยชน์ส่วนรวม และความซื่อสัตย์ นับเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราต้องใช้วิจารณญาณที่เข้มแข็งกว่าเก่าในการเสพข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่ออันโอชะ ของบรรดา อาชญากรสงครามฯ เหล่านั้น


ที่มา:cyberwar By combiolaw