ผู้ใช้:Nutthawut5940311316/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) เด็กหลอดแก้ว (IVF) คือ เทคโนโลยีที่ช่วยในการปฎิสนธิระหว่างไข่และสเปิร์มที่ภายนอกร่างกาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภาวะการมีบุตรยาก ด้วยการนำไข่ออกมาจากร่างกายผู้หญิงและนำเอาสเปิร์มของผู้ชาย มาทำการปฏิสนธิกันภายในภาชนะบรรจุของเหลว เสร็จแล้วจึงนำไข่ที่มีการปฏิสนธิแล้ว หรือ ตัวอ่อนเอ็มบริโอ(Embryo) ใส่เข้าไปยังมดลูกของฝ่ายผู้หญิง เพื่อทำให้การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์

วิธีการนี้เหมาะกับใครบ้าง

  • คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันหรือท่อนำไข่ถูกทำลาย
  • คู่สมรสที่ฝายชายมีปัญหาเกี่ยวกับเชื้ออสุจิ ได้แก่ มีจำนวนอสุจิน้อย อสุจิเคลื่อนที่ได้ไม่ดี
  • คู่สมรสที่พยายามมีบุตรมามากกว่า 3 ปี แต่ยังไม่มี
  • คู่สมรสที่ได้ใช้วิธีกระตุ้นการตกไข่และการผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง มาแล้วแต่ยังไม่ตั้งครรภ์

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว[แก้]

ขั้นตอนที่1 การกระตุ้นไข่[แก้]

เพื่อทำให้ไข่ในรังไข่มีการเจริญเติบโต และมีจำนวนฟองไข่มากกว่าธรรมชาติ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้ไข่จำนวนมากสำหรับไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ จนได้เป็นตัวอ่อน ( embryo ) การที่ได้ตัวอ่อนจำนวนมากก็จะทำให้เราใส่ตัวอ่อนเข้าในโพรงมดลูกได้มากกว่า 1 ตัวอ่อน ดังนั้นโอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะมีมากขึ้น และบางครั้งยังเหลือตัวอ่อนเก็บแช่แข็งเพื่อใช้ต่อในรอบถัดไปได้ด้วย

ขั้นตอนของการกระตุ้นไข่นี้ มักจะใช้เป็นยาฉีด ซึ่งเป็นฮอร์โมนเลียนแบบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง เมื่อร่างกายได้รับฮอร์โมนนี้ก็จะไปกระตุ้นโดยตรงที่รังไข่ เพื่อให้มีการผลิตฟองไข่มากขึ้น โดยทั่วไปจะฉีดยาประมาณ 8-12 วัน เริ่มตั้งแต่ประจำเดือนมาวันที่ 2-3 ของรอบเดือน ปริมาณยาที่ใช้ และจำนวนวันในการฉีดขึ้นกับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญคืออายุ ถ้าอายุมากการตอบสนองต่อยาไม่ค่อยดีมักต้องใช้ปริมาณยาเยอะ และจำนวนวันฉีดมากกว่าคนที่อายุน้อย

ระหว่างที่ทำการฉีดยา ต้องมีการตรวจวัดขนาดไข่เป็นระยะโดยการตรวจ อัลตราซาวด์เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการปรับยาให้เหมาะสมกับขนาดฟองไข่ ป้องกันการตกไข่ก่อนเวลา และยังเป็นการป้องกันการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน ( ovarian hyperstimulation )หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่ครบ ก็จะมีการฉีดยาอีกตัวหนึ่งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ฟองไข่พัฒนาเป็นไข่ที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะนำมาใช้ได้ ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ( ovarian hyperstimulation ) เป็นภาวะที่รังไข่มีการตอบสนองต่อยาที่ฉีดมากเกิน และอาจเกิดอันตรายกับร่างกายได้ โดยจะทำให้มีอาการดังนี้ 1. มีการคั่งของน้ำในร่างกาย และในช่องท้อง ถ้ามีน้ำจำนวนมากก็อาจจะเข้าไปที่ปอดด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการอึดอัดแน่นท้อง หายใจลำบาก ปัสสาวะน้อยลง ท้องผูก 2. น้ำรั่วออกจากเส้นเลือด ทำให้มีภาวะเลือดข้นเกินไป การไหลเวียนโลหิตไม่ดี เกิดการแข็งตัวของเลือด และมีการอุดตันในเส้นเลือด ก้อนเลือดที่แข็งตัวอาจหลุดไปอุดที่ปอดหรือที่สมองทำให้เสียชีวิตได้ 3. รังไข่มีขนาดโตขึ้นมาก ทำให้มีโอกาสแตก หรือมีการหมุนบิดขั้วของรังไข่ ซึ่งทำให้มีอาการปวดท้องมาก มีน้ำหรือเลือดในช่องท้อง และเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน

ขั้นตอนที่ 2 การเก็บไข่[แก้]

เมื่อฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 36 ชั่วโมงก็จะทำการเก็บไข่ที่เรากระตุ้นออกมานอกร่างกาย เพื่อนำไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ วิธีการ

  1. จะต้องใช้เข็มยาวเจาะผ่านทางช่องคลอด แล้วดูดไข่ออกมา โดยมีอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยบอกตำแหน่งของไข่ การทำขั้นตอนนี้ต้องให้ยาสลบเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่รบกวนในขณะที่เก็บไข่
  2. เมื่อเก็บไข่ได้แล้ว จะนำไปไว้ในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อเตรียมปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 การทำปฏิสนธิ[แก้]

การทำปฏิสนธิ ทำได้ 2 วิธีคือ

  1. การนำเชื้ออสุจิที่แข็งแรงจำนวนหนึ่งใส่ปนไปกับไข่ให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง สำหรับกรณีที่ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อแข็งแรงดี
  2. การนำเชื้ออสุจิเจาะเข้าสู่ไข่โดยตรง เป็นการช่วยปฏิสนธิ ( ICSI ) มักใช้ในกรณีที่น้ำเชื้อมีปัญหาเมื่อทำการปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้น 1 วันก็จะสามารถตรวจดูได้ว่า ไข่กับอสุจิมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนหรือไม่

ขั้นตอนที่ 4 การเลี้ยงตัวอ่อน[แก้]

หลังจากปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะเลี้ยงตัวอ่อนในน้ำยาเพาะเลี้ยง จนตัวอ่อนเจริญเติบโตและแบ่งตัวต่อไปอีก จนเป็นตัวอ่อนระยะ 6-8 เซลล์แล้วจึงใส่กลับไปในโพรงมดลูกของแม่ บางครั้งอาจจะเลี้ยงตัวอ่อนต่อไปอีก 2 วัน เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเป็น บลาสโตซิสต์ (Blastocyst) เป็นตัวอ่อนระยะสุดท้ายที่สามารถเลี้ยงได้นอกร่างกาย แล้วนำกลับไปใส่ในโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะไหน ต้องดูคุณภาพของตัวอ่อนว่าสามารถจะเติบโตไปถึงระยะบลาสโตซิสท์ได้หรือไม่ ถ้าแนวโน้มไปไม่ถึงก็ควรจะใส่ตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูกก่อน

ขั้นตอนที่ 5 การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก[แก้]

เมื่อเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะที่เหมาะสมก็จะต้องทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ในวันที่ 3 - 5 หลังจากเก็บไข่ ตัวอ่อนจะถูกใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกโดยผ่านท่อพลาสติกเล็ก ๆ สอดเข้าทางปากมดลูก การย้ายตัวอ่อนกลับ สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ยาสลบ จำนวนตัวอ่อนที่จะใส่ โดยส่วนใหญ่แต่ละครั้งจะไม่ให้เกิน 2-3 ตัวอ่อน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝดจำนวนมากเกินไป ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์หลังย้ายตัวอ่อนเข้าไป อาจมีการบีบตัวของมดลูก ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้บ้าง เมื่อย้ายตัวอ่อนเข้าในโพรงมดลูกแล้ว แม่จะได้ฮอร์โมนเสริมโปรเจสติน อาจจะเป็นในรูปแบบรับประทาน หรือยาสอดช่องคลอด หรือยาฉีด เพื่อเป็นการเสริมฮอร์โมนพยุงการตั้งครรภ์ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากการเก็บไข่ จะสามารถตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (BHCG) ถ้ามีการตั้งครรภ์ก็จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนเสริมต่อไปอีก จนถึง 10-12 สัปดาห์จึงหยุดให้ เพราะหลังจากนั้นฮอร์โมนจากรกก็สามารถเลี้ยงทารกได้เพียงพอแล้ว หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว ถ้ามีตัวอ่อนเหลือ อาจจะ

  1. แช่แข็งตัวอ่อนไว้ใส่ครั้งต่อไป
  2. บริจาคตัวอ่อนให้คนอื่นที่ต้องการตัวอ่อน
  3. ให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตต่อและสลายไปเอง

ระยะเวลาในการทำเด็กหลอดแก้ว[แก้]

กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4-6 สัปดาห์จึงจะสมบูรณ์ โดยหลังการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกประมาณ 2 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์


[1]

  1. https://www.bumrungrad.com/th/fertility-ivf-center-bangkok-thailand/procedures/in-vitro-fertilization-ivf http://www.becomemom.com/content/162 https://www.bumrungrad.com/th/fertility-ivf-center-bangkok-thailand/procedures/in-vitro-fertilization-ivf