ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Lemontamza

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หนองหาร แหล่งอารยธรรม[แก้]

หนองหาร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดสกลนครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นอันดับที่สองของประเทศรองจากบึงบอระเพ็ด สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 158 เมตร มีความกว้างประมาณ 7 กิโลเมตร ยาวประมาณ 18 กิโลเมตรมีเนื้อที่ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร (77,000 ไร่) อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสกลนคร ลักษณะกายภาพ หนองหาร เป็นที่ราบเนินลูกคลื่นลาดคล้ายแอ่งกระทะแบน พื้นดินหนองหารเป็นดินทรายและลูกรัง ในฤดูฝนหนองหารจะรับน้ำจากลำห้วยต่าง ๆ 16 สายไหลจากเทือกเขาภูพานได้แก่ ห้วยม่วง ห้วยลาก ห้วยอิน ห้วยแนบ ห้วยน้ำลอง ห้วยแม่มอง ห้วยซ่งน้ำพุ ห้วยทราย ห้วยสมอ ห้วยโมง ห้วยนาหลุม ห้วยสาคร ห้วยเก ห้วยเฮ ห้วยเดียก และลำน้ำพุงซึ่งไหลสู่หนองหารตลอดทั้งปี ลักษณะเป็นระบบเปิดแบบธรรมชาติที่น้ำไหลเข้าออกตามฤดูกาล สันนิษฐานว่า หนองหารเกิดจากการยุบตัว ของแผ่นเปลือกโลก อันเนื่องมาจากการถูกชะล้าง ของชั้นหินเกลือใต้ดิน จนเกิดโพรงขนาดใหญ่ และเกิดการพังทลาย ยุบตัวลงเป็นหนองน้ำในเวลาต่อมา

หนองหารในอดีต[แก้]
หน้าฝนปริมาณน้ำไม่สูงมากผู้คนสามารถสัญจรไปมาได้   เมื่อฤดูแล้งน้ำในหนองหารจะแห้งสามารถสัญจรไปมาหากันได้  ส่วนบริเวณที่ลุ่มมากจะมีน้ำขังอยู่ซึ่งใช้ประโยชน์ในการจับปลา  เลี้ยงสัตว์     ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ. 2528   กรมประมงได้ดำเนินการพัฒนาหนองหาร    ให้เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่เพื่อเพาะพันธุ์ปลาให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ     จึงได้สร้างประตูระบายน้ำกั้นระหว่างหนองหารและลำน้ำก่ำมีชื่อว่า  “แววพยัคฆ์คัน”  ให้น้ำไหลออกไปสู่แม่น้ำโขง   เมื่อหน้าประตูระบายน้ำเกิดการทับถมของดินทราย ที่ไหลมากับน้ำเป็นจำนวนมากทำให้การระบายน้ำได้น้อยลง   

ปริมาณน้ำในหนองหารจึงเพิ่มสูงขึ้นได้ท่วมพื้นที่โดยรอบของหนองหาร ทำให้ชุมชนที่อาศัยรอบหนองหารได้รับความเดือดร้อนในปี พ.ศ. 2535 จึงได้มีการสร้างประตูน้ำใหม่ให้กว้างขึ้นและมีชื่อว่า “ สุรัสวดี ” ตั้งแต่นั้นมาหนองหารจึงมีน้ำขังตลอดปี บริเวณที่เป็นเนินดินในหนองหารจึงเป็นเกาะหรือดอนจำนวนมากมายประกอบด้วย ดอนสวรรค์ใหญ่ ดอนสวรรค์น้อย ดอนขาม ดอนหวาย ดอนงิ้ว ดอนกระโจ ดอนเส้า ดอนทรายพอ ดอนพลาญ ดอนหัน ดอนจาราม ดอนกระท่ม ดอนแมวทับ ดอนสะคราม ดอนแซว ดอนอ่าง ดอนสวนหมาก ดอนมีหม่อน ตามคติความเชื่อของ ชาวสกลนคร หนองหาร คือ ผลจากการกระทำ ของพญานาค สืบเนื่องมาจากการกระทำ อันผิดทำนองคลองธรรม ของชาย-หญิง ในตำนานผาแดง นางไอ่ ตามความเชื่อที่ว่าแต่เดิมขอมปกครองเมืองนี้มาก่อน ยังปรากฏในตำนานนิทานพื้นบ้าน เล่าขานสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้คือ ตำนานฟานด่อนหรือเก้งเผือก และนิทานเรื่องกะฮอกด่อนหรือกระรอกเผือกตำนานฟานด่อนเป็นตำนานที่ปรากฏอยู่ในหนังสืออุรังคนิทาน เป็นเรื่องอธิบายสาเหตุที่เมืองเก่าซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณท่านางอาบ บ้านท่าศาลา บ้านน้ำพุ ริมหนองหารถล่มล่มลงในหนองหาร และแล้วมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บริเวณธาตุเชิงชุมอีกฝั่งหนึ่งของหนองหารโดยพระยาสุวรรณภิงคารโอรสพญาขอม ตำนานเรื่องนี้ ยังมีความสอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านอีกหลายแห่งริมหนองหาร จึงทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจนถือกันว่า เมื่ออยู่ในหนองหารไม่ควรพูดถึงเรื่องนี้ จะได้รับอันตราย เรือจะล่มถูกเงือกทำร้าย หรือหาปลาไม่ได้ หนองหารเป็นหนองน้ำที่ผู้คนหลายกลุ่มย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่อดีต ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันดังที่ปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดีตำนาน และบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ขนานนามชุมชนนี้ว่า”เมืองหนองหารหลวง ” ความสำคัญของหนองหารจึงไม่เพียงเป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชนเท่านั้น แต่พื้นที่โดยรอบหนองหารในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมของชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานร่องรอยปรากฏให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมทางโบราณวัตถุ โบราณสถาน ของสมัยทวารวดี เชื่อมต่อ สมัยขอมเนืองอำนาจ และยุคสมัยลานช้าง จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

หลักฐาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์[แก้]
พื้นที่โดยรอบหนองหารในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมของชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แก่ที่บ้านโพธิ์ศรีขุดพบไหน้ำย้อย และไหสีขาวอ่อน พบโครงกระดูกที่มีขนาดใหญ่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน พบไหบรรจุกระดูกซึ่งคาดว่าคงเป็นการฝัง 2 ครั้ง คือนำผู้ตายมาฝั่งในหลุมศพจนเน่าเปื่อยแล้วนำกระดูกบรรจุไห ฝังอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นประเพณีฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 

ที่บ้านนาดอกไม้ เป็นเนินดินยาว อยู่ริมหนองหารสกลนคร ทางซีกตะวันตกพบโครงกระดูกภาชนะลายเชือกทาบอย่างหยาบๆ เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้วและเครื่องมือเหล็กในระดับ 1.50 เมตร และพบหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านท่าวัด จากการค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นภาชนะดินเผา และเครื่องใช้ต่างๆ ผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้รู้ว่าชุมชนที่บ้านท่าวัดมีอายุไม่น้อยกว่า 5,500 ปี ตรงกับยุควัฒนธรรมบ้านเชียงตอนต้น

ยุคสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษ ที่ 11-15 )[แก้]
หลักฐานทางโบราณคดี เป็นแท่งเสมาสกัดจากหินทรายในรูปแบบศิลปะยุคทวารวดี ตั้งแสดงอยู่ที่บ้านท่าวัดเหนือ และ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีแกะสลักจากหินทราย ตั้งแสดงอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมบ้านท่าวัดเหนือ  และที่วัดกลางศรีเชียงใหม่บ้านท่าวัดใต้ พบเสมาหินทรายมีรูปสลักสัญลักษณ์ของศิลปะทวารวดีอย่างชัดเจน จำนวน 23 หลัก(ปัจจุบันเหลือเพียง 16 หลัก) ในลานกลางแจ้ง รอบเนินดิน ด้านข้างเป็นสระน้ำ แสดงว่าบริเวณนี้ต้องเป็นศาสนสถานของพุทธนิกายเถรวาท ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ 11 และเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันมาจนถึง พุทธศตวรรษ ที่ 15 พบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ที่บ้านท่าวัด
ยุคขอมเรืองอำนาจ (พุทธศตวรรษที่ 15-19)[แก้]
 จากนั้นอารยธรรมขอมก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ดินแดนหนองหารแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม  มีหลักฐานการสร้างศาสนสถานแบบขอมในสมัยลพบุรี พบทับหลังที่สร้างขึ้นเป็นหลักฐานอารยธรรมในสมัยขอม เช่น  พระธาตุเชิงชุม  พระธาตุนารายณ์เจงเวง  พระธาตุดุม  สะพานขอม  คูเมืองเก่า  บาราย (สระน้ำ)   ที่สร้างด้วยอิฐเป็นศิลปะบาปวน  และพบพระพุทธรูปสมัยขอมที่บ้านท่าวัดอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ยุคอาณาจักรล้านช้าง(พุทธศตวรรษที่ 19-24)[แก้]
 ศิลาจารึกอักษรไทยน้อย ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีเชียงใหม่ บ้านท่าวัดใต้ แสดงถึงอารยธรรมของอาณาจักรล้านช้าง ที่ทำให้บ้านท่าวัดเจริญขึ้นเป็นเมือง ในราวพุทธศตวรรษ    ที่ 22 โดยจารึกนี้ได้ระบุศักราช 998 ตรงกับปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ.2175 พบฐานวิหารก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ และฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ในสมัยล้านช้าง มีการสร้างโบสถ์ฐานก่อด้วยอิฐในบริเวณนี้หลายแห่ง พบพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ตั้งแสดงอยู่ที่วัดศรีเชียงใหม่ บ้านท่าวัดใต้ แสดงให้เห็นการเฟื่องฟูของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ยุคอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น(พุทธศตวรรษที่ 24)[แก้]

ที่เกาะดอนสวรรค์ ดอนใหญ่ที่สุดในหนองหารอยู่ห่างจากฝั่งด้านตัวเมือง ประมาณ 7 กิโลเมตร ทางด้านทิศใต้ของดอนมีฐานรากศาสนสถานเก่าสมัยลานช้าง ขนาดไม่ใหญ่โตนัก 1 แห่ง ก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้างประมาณ 39.40 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร รอบๆ บริเวณซาก ศาสนสถานมีศิลาแลง กระจายเกลื่อนอยู่มากมาย บนซากฐานแลงมีร่องรอยการก่อสร้างเป็นศาสนสถานด้วยอิฐในรุ่นหลังและมีชิ้นส่วนของเสา 8 เหลี่ยมก่อด้วยอิฐฉาบปูนหักตกอยู่ด้วยอีก 2 ชิ้น ถัดจากซากศาสนสถาน ไปทางเหนือเล็กน้อยเป็นศาลาโถงสร้างใหม่ด้วยไม้ เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท ยาวประมาณ 135 เซนติเมตร สลักรอยพระพุทธบาทเป็นมงคล 108 ซึ่งเข้าใจว่าเป็นโบราณวัตถุในสมัยรัตนโกสินทร์

      จากร่องรอย อารยธรรมและภูมิทัศน์รอบ ๆ หนองหาร มีความเปลี่ยนแปลงตามมิติเวลา ถ้าเราย้อนรอยอดีตไป 

ในระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 16 ดินแดนแถบหนองหารได้รับอิทธิพลจากขอมทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และศาสนาอย่างมาก เมื่อขอมขยายการปกครองไปที่ใดมักจะสร้างโบราณสถานที่เป็นปราสาทไว้ เพื่อเป็นที่เคารพศรัทธาต่อศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธนิกายมหายาน จากหลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏ ขอมเป็นกลุ่มแรกที่ได้มาสร้างชุมชนโบราณก่อนที่ชุมชนอื่นโดยได้สร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหารมีชื่อว่า “ หนองหารหลวง ” อยู่บริเวณท่านางอาบ ซึ่งสถานที่นี้มีความสอดคล้องกับชื่อบ้านท่าศาลาที่ตั้งอยู่ริมหนองหารในปัจจุบัน จนยุคขอมเสื่อมอำนาจกลายเป็นเมืองร้าง

 เมื่ออาณาจักรล้านช้างเข้ามามีอำนาจขยายเขตการปกครองในแถบลุ่มแม่น้ำโขง และได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาแทนที่อิทธิพลของขอมที่เคยนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธนิกายมหายาน    ดังนั้นในเขตชุมชนหนองหารจึงมีวัดโบราณและพระพุทธรูปของศิลปะล้านช้างปรากฏให้เห็น ซึ่งแสดงถึงการรวมกลุ่มของชุมชนโดยมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา  วัดจึงเป็นศูนย์รวมของชุมชน และเพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมทางศาสนา  ผู้คนจึงเลือกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้ ๆ บริเวณวัดและสิ่งที่เป็นปัจจัยให้ชุมชนโบราณมีวิถีชีวิตที่สงบร่มเย็นด้วยผู้ปก ครองของล้านนา  มุ่งทำนุบำรุงพระศาสนา   เมื่อสมัยเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ.1893 - พ.ศ.1916)   ขยายอำนาจเข้ามาได้รวบรวมหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงและรวมเอาเมืองหนองหารหลวงไว้  ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า  “ เมืองเชียงใหม่หนองหาร ”

พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ.2180 – พ.ศ.2237) สร้างวัดที่ริมหนองหาร (มีบันทึกในศิลาจารึกวัดกลางศรีเชียงใหม่ บ้านท่าวัด อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2329 ) ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบ้านเว่อ บุตรของเจ้าโสมพะมิตร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมครอบครัวไพร่พลมารักษาพระธาตุเชิงชุมและหมู่บ้านอื่น ๆ ในหลายตำบล เมื่อมีคนมากขึ้นพอจะตั้งเมืองได้ จึงให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น “ เมืองสกลทวาปี” พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นพระยาธานี ดูแลเมืองสกลทวาปีสืบมา จนถึงรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ. 2381) ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองสกลทวาปี เป็น “ เมืองสกลนคร” และแต่งตั้งราชวงศ์คำ ให้เป็นพระยาประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนครคนแรก

          ในปี พ.ศ. 2426  คริสตังชาวเวียดนามที่รักความสงบแต่ถูกเบียดเบียนจากการนับถือศาสนาในประเทศเวียดนาม   ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาพึ่งโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ 5    และได้อาศัยอยู่ที่ตัวเมืองสกลนครก่อน   ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่างทั้งภาษาวัฒนธรรมจึงมีกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มี อคติรังเกียจกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ และถูกทำร้ายอยู่เสมอ ชาวเวียดนาม  ไทยย้อ ผู้ไทย  ข่า ที่นับถือศาสนาคริสต์  จึงอพยพข้ามหนองหารไปตั้งถิ่นและริมหนองหารห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร โดยทางน้ำ หรือทางรถยนต์ประมาณ 21 กิโลเมตร ตั้งเป็นชุมชนท่าแร่

จากหลักฐานการเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กล่าวมาจะเห็นว่า ชุมชนหนองหารสกลนคร เป็นชุมชนที่หลากหลายด้วยชาติพันธุ์ทั้ง ไทยลาว ผู้ไทย ไทยย้อ กระเลิง ข่า และชาวเวียดนาม เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ในชุมชนหนองหาร สกลนคร เป็นชาติพันธุ์ที่มีความขยันทำมาหากิน อดทน แข็งแรง สู้ชีวิตสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ทุกรูปแบบ จะเห็นว่า วิถีชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ นี้อยู่กันอย่างเรียบง่าย ทำมาหากินโดยยึดอาชีพทำนา ปลูกผัก จับปลาในหนองหาร เลี้ยงม้า วัว ควาย ค้าขาย ทอผ้าและมีภาษาวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามสืบมาถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางศาสนา ความเป็นเครือญาติที่บรรพบุรุษได้ร่วมสร้างถิ่นฐาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำให้สายสัมพันธ์ทางตระกูล ขยายต่อกันมาจนเป็นชุมชนหนาแน่น และปัจจุบันวิถีชีวิตชุมชนหนองหารสกลนคร

สารคดี หนองหารลุ่มน้ำแห่งชีวิต โดยครู จรัญ คะศรีทอง Lemontamza 15:27, 8 กรกฎาคม 2554 (ICT)