ผู้ใช้:Kkaann/โครงการเพชรยอดมงกุฎ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเป็นมา[แก้]

โครงการเพชรยอดมงกุฎ เป็นความคิดริเริ่มของ ดร.อุบล เล่นวารี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2541 โดย ดร.อุบล ไ้ด้เขียนหนังสือชื่อ เพชรยอดมงกุฎเสนอกลยุทธ์การบริหารและการจัดการศึกษาของสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร และจัดทำโครงการเพชรยอดมงกุฎขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเต็มศักยภาพ เป็นต้นแบบในการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย โดยมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาคุณภาพที่ตัวเด็ก

สำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น ส่งเสริมและพัฒนาครูให้เป็นครูเพชรยอดมงกุฎ จัดกิจกรรมเปิดเวทีส่งเสริมความสามารถทั้งด้านวิชาการ ดนตรี กีฬาและศิลปะ สร้างความตื่นตัวในการพัฒนาการเรียนการสอน การแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนางานวิชาการบุคลากรและกิจกรรมนักเรียน

ขณะนั้น ผลการแข่งขันระหว่างประเทศ ปรากฏว่า ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ของเด็กไทยสู้ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้ ทำให้มีการเร่งพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ โดยกลยุทธ์หนึ่งก็คือ การเปิดเวทีให้นักเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศได้แข่งขันความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ โดยไม่ได้เป็นการมุ่งแพ้-ชนะ แต่เป็นการมุ่งพัฒนา สร้างขวัญกำลังใจให้กับครูและนักเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อปลุกกระแสให้มีการพัฒนาด้านคณิตศาสตร์ จึงเกิดเป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ตามความคิดริเริ่มของ ดร.อุบล เล่นวารี และได้มอบหมายให้นายปรีชา อรุณสวัสดิ์ ศึกษานิเทศก์ด้านคณิตศาสตร์ สป.กทม. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

แต่เนื่องจากไม่มีงบประมาณจัดการแข่งขัน ดร.อุบล เ่ล่นวารี ได้ไปกราบขอความอนุเคราะห์จากพระราชภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม (ปัจจุบัน เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพภาวนาวิกรม) ได้ช่วยอุปถัมภ์รางวัลทุนการศึกษาในการแข่งขัน ซึ่งพระราชภาวนาวิกรมเห็นว่าโครงการที่ดีและพร้อมให้การสนับสนุน โครงการคณิตศาสตร์เพชรยอดมงกุฎจึงเกิดขึ้นโดยการจัดการแข่งขันความสามารถทางคณิตศาสตร์ ใช้ชื่อว่า คณิตศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ชิงทุนการศึกษาพระราชภาวนาวิกรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา

ปีการศึกษา 2547 ได้มีการขยายผลการพัฒนาความสามารถเยาวชนอีก 4 วิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ภาษาจีน และพระพุทธศาสนา โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพระผู้ใหญ่หลายรูป

ปีการศึกษา 2549 มีการขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อมอบให้แก่นักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขัน และมีการเพิ่มกิจกรรมการแข่งขันอีก 2 วิชา คือ ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น

ปีการศึกษา 2551 เพิ่มการแข่งขันประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยนักเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัล เพื่อมอบให้แก่นักเรียนที่ชนะเลิศในการแข่งขันโครงการเพชรยอดมงกุฎใน 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์และภาษาจีน

ปีการศึกษา 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลเพื่อมอบให้แก่นักเรียนที่ชนะเลิศในการแข่งขันโครงการเพชรยอดมงกุฎเพิ่มเติม 3 วิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และพระพุทธศาสนา และเพิ่มการแข่งขันอีก 1 วิชา คือ การแข่งขันเศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ:เงินทอง ของมีค่า และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชิงทุนการศึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย

กิจกรรมการแข่งขัน[แก้]

ในปัจจุบัน มีการจัดการแข่งขันในโครงการเพชรยอดมงกุฎ ทั้งสิ้น 9 วิชา ได้แก่

การแข่งขัน รางวัล
การแข่งขันภาษาไทยเพชรยอดมงกุฎ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาพระราชวิจิตรปฏิภาณ
การแข่งขันภาษาจีนเพชรยอดมงกุฎ (นานาชาติ) ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาพระเทพภาวนาวิกรม
การแข่งขันคณิตศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาพระเทพภาวนาวิกรม
การแข่งขันเศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ:เงินทอง ของมีค่า และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทุนการศึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย
การแข่งขันวิทยาศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาพระเทพภาวนาวิกรม
การแข่งขันภาษาอังกฤษเพชรยอดมงกุฎ ทุนการศึกษาพระราชวิจิตรปฏิภาณ
การแข่งขันภาษาญี่ปุ่นเพชรยอดมงกุฎ ทุนการศึกษาพระเทพภาวนาวิกรม
การแข่งขันประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทุนการศึกษาพระเทพภาวนาวิกรม
การแข่งขันพระพุทธศาสนาเพชรยอดมงกุฎ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาพระพรหมเมธี

การจัดการแข่งขัน[แก้]