ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Kanjikyz46

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น้ำอบไทย (Scented water) สูตรคุณภักดี หว่างจันทร์

น้ำอบไทย (อังกฤษ: Scented water) คือ นํ้าที่ปรุงด้วยเครื่องหอมแล้วอบด้วยควันกำยานหรือเทียนอบ และนำมาปรุงด้วยเครื่องหอม มีลักษณะเป็น น้ำใสสีเหลืองอ่อน ๆ [1]

ประวัติความเป็นมา[แก้]

น้ำอบไทยเป็นหนึ่งในเครื่องหอมไทยโบราณที่ประวัติความเป็นมา มีความยาวนานนับรวมเวลาตั้งแต่มีหลักฐานการบันทึกไว้ ตั้งแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยาจนเข้ากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลา 250 ปี หลักฐานที่มีปรากฎในโคลงกลอนมีปรากฎคำว่า น้ำอบในนิราศพระปฐมของสุนทรภู่ครูกวีที่ว่าไว้ "มะลิซ้อนสารภีมาลีตลบ เหมือนน้ำอบเจือกุหลาบซาบนาสา รื่นรื่นกลิ่นเสาวคนธ์สุมณฑา เหมือนกลิ่นผ้าแพรหอมย้อมมะเกลือ" (นิราศพระปฐม) ในบทกลอนกล่าวไว้ชัดเจนว่า น้ำอบนั้นเริ่มแพร่หลายมายาวนานแล้ว ในแผ่นดินล้นเกล้ารัชกาลที่2 พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดน้ำอบไทยเป็นอย่างยิ่ง มีการปรุงแต่งน้ำอบหลากหลายตำรับเพื่อขึ้นทูลเกล้าถวายส่วนใหญ่น้ำอบในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 จะเป็นทางสายวังหลังวังเดิมฝั่งธนบุรี ซึ่งล้วนแต่ถ่ายทอดการทำมาจากกรุงเก่าทั้งสิ้น

แต่เดิมสตรีในราชสำนักไทยนั้น นิยมการอบร่ำผ้าผ่อนท่อนสไบกันมานานหนักหนา การนำกลิ่นอบร่ำจากเครื่องหอมที่ได้จากยางไม้หอมกำยาน จากเปลือกไม้เช่นชะลูด หรือจะแก่นไม้ที่ได้จากแก่นไม้จันทร์ นำมาเผาทำให้เกิดควันอบลงบนพื้นผ้า ให้ความหอมจับฝั่งแน่นในเนื้อผ้า แล้วนำดอกไม้ไทยกลิ่นหอมมาเป็นตัวแต่งกลิ่น ให้ความหอมของดอกไม้หอมเป็นตัวผสานกลิ่น เช่นเดียวกับน้ำอบ การคิดค้นนำกลิ่นอบร่ำมาแทรกใส่ในน้ำลอยดอกไม้ซึ่งเป็นที่มาของการทำน้ำอบ ได้แปลงมาจากการอบร่ำหีบหรืออบร่ำผ้าในแบบดั้งเดิมนั้นเอง การอบร่ำคือการอบซ้ำซ้อนอยู่หลายๆรอบ การอบน้ำด้วยควันกำยานแล้วนำน้ำมาอบดอกดอกไม้หอมอีกครั้ง ก่อนนำมาปรุงแต่งกลิ่นด้วยพิมเสนและชะมดเช็ด เพื่อให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัว สำหรับน้ำอบตำรับวังหลวงนี้ ตำรับที่ได้รับความนิยมว่าเป็นน้ำอบชั้นวิเศษคือ ตำรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เนื่องจากพระองค์มีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ถวายล้นเกล้ารัชการที่ 5 ตำหนักของพระองค์พวงสร้อยสอางค์ในพระราชฐานชั้นใน จึงอบอวลไปด้วยกรุ่นกลิ่นน้ำอบไทยเครื่องหอมแบบโบราณฟุ้งกระจายไปทั่วตำหนัก น้ำอบตำหรับพระองค์พวงสร้องสอางค์นี้ จะเน้นกลิ่นไม้จันทร์หอมแทรกอยู่ในน้ำอบด้วยเสมอ กลิ่นดอกกระดังงาไทยที่นำมาล่นไฟแล้วลอยอบน้ำไว้จะแทรกอยู่ในน้ำที่อบร่ำด้วยเครื่องร่ำกำยานกลิ่นพิกุลอบอวลตามมาตามลำดับ เป็นกลิ่นประจำของน้ำอบตำหรับนี้ ส่วนตำหนักพระองค์พวงสร้อยสอางค์นั้นขึ้นชื่อในการปรุงน้ำอบไทยรวมทั้งเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย ตำหนักพระองค์พวงสร้อยวอางค์มีการอบน้ำอบขายจำหน่ายแป้งร่ำแป้งหินดินสอพองน้ำปรุง สีผึ้งกระทิ เครื่องร่ำกำยาน เทียนอบรวมไปถึงธูปหอมอีกด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำเอาหัวน้ำหอมจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับเครื่องหอมโบราณ ของไทย ทำให้เกิดลักษณะของการทำน้ำอบเป็น 2 อย่าง คือ น้ำอบไทย กับน้ำอบฝรั่ง ทำให้ค่านิยมของการใช้น้ำอบไทยลดลง ทำให้พวกน้ำหอมใช้เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มประชาชนจนถึงทุกวันนี้  

จากคำบอกเล่าของคุณยายเยาวัยนาฎ ชินะโชติ ท่านทรงเล่าไว้บรรยากาศในตำหนักของทูลกระหม่อม วไลยลงกรณ์ เรือนไม้สำหรับข้าหลวงทูลกระหม่อมนั้น มีห้องเก็บของอุปกรณ์ทำน้ำอบไทยของคุณประมูล พื้นที่โล่งนี้ใช้เป็นที่ทำน้ำอบไทย มีเครื่องใช้หลายอย่างมากมายเต็มไปหมด น้ำอบไทยคุณประมูลมีชื่อเสียงมาก เจ้านายทุกตำหนักทรงใช้น้ำอบของคุณประมูลทั้งนั้น แม้แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ก็ทรงโปรด รวมทั้งเจ้านายที่ประทับอยู่นอกวังสวนสุนันทา จะให้ข้าหลวงถือขวดแก้วเจียรไนมาซื้อน้ำอบไทยที่เรือนพักของคุณประมูล น้ำอบไทยจะบรรจุอยู่ในขวดโหลแก้วใบใหญ่ (โหลยาดอง) ข้าง ๆโหลวางชามกระเบื้อง ใส่กรวยและกระบวยทองเหลืองสำหรับตักน้ำอบ มีผ้าขาวสะอาดวางบนถาดสำหรับเช็ดขวดน้ำอบเมื่อน้ำอบไหลเปียกด้านนอกขวด เวลาจะตักน้ำอบต้องใช้กระบวยด้ามยาวคนแป้งที่นอนก้นขวดให้ผสมกันเป็นเนื้อเดียว เวลาคนน้ำอบลำบากมากเพราะคนแรงไม่ได้กระบวยจะกระทบข้างขวดโหลแก้วเกิดร้าวและแตกได้ ราคาน้ำอบกระบวยเล็ก ๆ นิดเดียว ราคา 5 สตางค์  [2]

ปัจจุบันน้ำอบไทยเริ่มค่อย ๆ เสื่อมลง มีเพียงแต่ผู้สูงอายุที่ยังคงใช้ หรือจะใช้อีกทีตอนมีพิธีกรรมหรือประเพณีต่าง ๆ ด้วยวัฒนธรรมการใช้น้ำอบไทยที่เปลี่ยนไป จึงทำให้น้ำอบไทยเริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย เหลือเพียงแค่ไม่กี่เจ้าที่ยังทำขายออกสู่ตลาดอย่างเช่น น้ำอบนางลอย นอกนั้นก็จะเป็นสูตรเฉพาะตามชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้มีการเผยแพร่กระบวนการทำแต่อย่างใด

ส่วนผสมและขั้นตอนการทำน้ำอบไทย[แก้]

ส่วนผสม

1. ผงกำยาน

2. เปลือกชะลูด

3. หัวน้ำหอม

4. ดอกมะลิ

5. ดอกไม้ที่เราชอบ

6. ชะมดเช็ด

7. แป้งร่ำ

8. น้ำตาลทรายแดง

9. น้ำตาล

10. ผงไม้จันทน์

11. ผิวมะกรูด

12. น้ำสะอาด

13. ใบพลู

14. ใบเตยแบบหั่น 

อุปกรณ์

1. หม้อ

2. โถกระเบื้องปากกว้างพร้อมฝา

3. กระบวย

4. ผ้าขาวบาง

5. เตาแก๊ส

6. ทัพพี

7. เทียนอบ

8. ช้อน

9. ขวด

10. จานดินเผาขนาดเล็ก

11. ตะคัน

12. ทวน

ขั้นตอนการทำน้ำอบไทย

1. ตวงน้ำสะอาดใส่หม้อ จากนั้นนำดอกมะลิ, ดอกกุหลาบ (หรือดอกไม้อื่น ๆ ที่มีกลิ่นหอม) เด็ดเอาไฟลนที่ขั้วของดอกกุหลาย และบีบขั้วที่ลนไฟใส่ในน้ำ เด็ดกลีบลงลอยน้ำทิ้งไว้ 1 คืน

หมายเหตุ: ขั้นตอนนี้ต้องทำตอนเย็นเพราะดอกไม้จะคลายกลิ่นตอนกลางคืน

2. รุ่งเช้าตักดอกมะลิและดอกกุหลาบออกจากหม้อ

3. เอาน้ำมาตังไฟให้เดือด จากนั้นใส่ชะลูด และใบเตยแบบหั่นยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ใส่ลงไปในน้ำ จากนั้นปิดไฟ แล้วรอให้น้ำเริ่มเย็นจึงนำดอกมะลิและดอกกหุลาบมาลอยน้ำเหมือนเดิม ตั้งทิ้งไว้อีก 1 คืน

4. เมื่อถึงรุ่งเช้าก็ตักดอกไม้ทั้งหมดออก แล้วแบ่งน้ำออกเป็น 2 หม้อ

หมายเหตุ: หากต้องการให้กลิ่นไหนนำสามารถใส่หัวน้ำหอมกลิ่นนั้นลงไปเยอะ ๆ

5. นำทวนไปวางไวกลางหม้อ ตั้งไฟเผาตะคันให้ร้อนมาก จากนั้นนำที่คีบ คีบตะคันมาวางไว้บนทวน

6. ตัก น้ำตาลทรายแดง กำยาน ผงไม้จันทน์ น้ำตาล และผิวมะกรูด ใส่ลงไปในตะคันในขณะที่ยังร้อน ๆ จากนั้นคนให้เข้ากัน

7. ตักส่วนผสมทั้งหมดมาไว้ในชามแล้วใส่หัวน้ำหอม (เลือกใส่ได้ตามกลิ่นที่ชอบ) ผสมลงไปแล้วคนให้เข้ากัน

8. จากนั้นจุดเทียบอบแล้วดับเพื่อให้เกิดควัน ปิดฝาหม้อทิ้งไว้สักครู่ ของในหม้อก็จะมีกลิ่นหอมจากดอกไม้และควันเทียนอบอวลติดอยู่ ปิดฝาหม้อไว้สักพักหนึ่ง

9. จากนั้นลองเปิดฝาหม้อดูว่ามีไขเทียนขึ้นหรือไม่ หากไขเทียนยังไม่ขึ้นให้ปิดฝารอจนกว่าไขเทียบจะขึ้น

10. นำส่วนผสมจากข้อ 7 มาใส่ลงตะคันแล้วปิดฝาหม้อ

11. นำชะมดเช็ดเพียง 1 จุด ป้ายลงไปในใบพลู จากนั้นนำไปเผา

12. นำชะมดเช็ดที่ละลายแล้ว ไปผสมกับแป้งร่ำ

13. จากนั้นผสมแป้งร่ำกับหัวน้ำหอมแล้วใส่ลงไปในหม้อที่อบดอกไม้ไว้

14. ทำการโกรก (การโกรกคือ การเทให้ไหลลงไปเรื่อย ๆ)

15. ทำซ้ำตั้งแต่ ข้อที่ 6 จำนวน 5-7 ครั้ง หรือตามความต้องการ

16. ใช้ผ้าขาวบางกรองเศษดอกไม้

17. ตักใส่ขวดและปิดฝาขวดให้เรียบร้อย

หมายเหตุ: ระหว่างใส่ขวด คนแป้งให้เข้ากันเพื่อให้ได้ส่วนผสมที่กันทุกขวด

สรรพคุณของน้ำอบไทย[แก้]

ประพรมคลายร้อนช่วยให้เย็นขึ้น สามารถดับพิษร้อนได้ เพราะสมุนไพรที่ใช้มีสรรพคุณคลายร้อน ทั้งไม้จันทน์หอม ทั้งชะลูดและใบเตย มีสรรพคุณดับพิษร้อนที่อยู่ในร่างการ เมื่อทาแล้วสามารถดับพิษร้อนที่อยู่ในร่างกายได้ทันที ขณะที่พิมเสน แป้งร่ำและแป้งหินเป็นตัวที่ช่วยให้เกิดความเย็นสบาย [3]

ความสำคัญของน้ำอบในเชิงประเพณีวัฒนธรรมไทย[แก้]

ในสังคมไทยสมัยโบราณ การใช้เครื่องหอมได้สอดแทรกอยู่ในประเพณีต่าง ๆ ควบคู่กับการดำเนินชีวิต เช่น ประเพณีการโกนผมไฟ พิธีสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ ตลอดถึงการรดน้ำศพ แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือใช้เป็นเครื่องประทินผิว ซึ่งหลักฐานการใช้น้ำอบไทยหรือเครื่องหอมแบบไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
  2. คนรักไม้ดอกหอมและเครื่องหอมไทย. “น้ำอบไทยตำหรับวังหลวง.” (6 กุมภาพันธ์ 2560). https://www.facebook.com/permalink.php?id=618245741648114&story_fbid=834776106661742 (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560).
  3. อานนท์ ภาคมาลี. “น้ำอบไทย.” (17 มีนาคม 2556) . [1]https://www.gotoknow.org/posts/526699 (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560).