ผู้ใช้:Graceksn/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟุตบอลโลก : วิเคราะห์บอล อาร์เจนตินา vs ปารากวัย[แก้]

เนื้อเรื่อง[แก้]

ทั้งสองทีมลงแข่งไปแล้ว 2 นัด ยังไม่พบกับความพ่ายแพ้ โดยในวันนี้จะพาไปดูสภาพความพร้อมของทั้งสองทีม ผลงานที่ผ่านมา พร้อมการวิเคราะห์ก่อนเกมและปิดท้ายด้วยการฟันธงผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามกันได้ด้านล่างนี้

นานาประเด็นก่อนเกม[แก้]

กลับมาอีกครั้งกับโปรแกรมทีมชาติตามปฏิทินฟีฟ่าเดย์รอบเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีอยู่ 2 ทวีป ที่ยังคงเตะท้าโควิด-19 กันอยู่ นั่นคือ ยุโรปที่มีการแข่งขันยูฟ่าเนชั่นเนลลีก ขณะที่อีกทวีปอย่างอเมริกาใต้ ลงเตะตามโปรแกรมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ส่วนทวีปที่เหลือเลื่อนโปรแกรมออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยการลงเตะโปรแกรมทีมชาติตามปกติท่ามกลางผู้ติดเชื้อนับล้านคนของ 2 ทวีปที่กล่าวไปนั้น ได้รับเสียงวิจารณ์และความกังวลมากมายถึงความปลอดภัยของนักเตะจากการเดินทางไกลและต้องลงเล่นในโปรแกรมที่อัดแน่นแบบไม่ได้หยุดพัก ซึ่งเสี่ยงที่นักฟุตบอลจะได้รับเชื้อโควิด-19 พร้อมกับอาการล้าสะสมจนกลายเป็นอาการบาดเจ็บในที่สุด สำหรับโปรแกรมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ ลงทำการแข่งขันไปแล้ว 2 นัด ในปฏิทินฟีฟ่าเดย์รอบเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทีมชาติบราซิล นำเป็นจ่าฝูง ตามด้วย อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และปารากวัย ตามลำดับ โดยโปรแกรมลงเตะนัดที่ 3 มีทั้งหมด 5 คู่ ประกอบด้วย โบลิเวีย พบกับ เอกวาดอร์, โคลอมเบีย พบกับ อุรุกวัย, ชิลี พบกับ เปรู, บราซิล พบกับ เวเนซุเอลา และที่จะหยิบยกมาวิเคราะห์ในวันนี้ อาร์เจนตินา พบกับ ปารากวัย ซึ่งภายหลังจากนี้ก็จะทำการแข่งขันไปเรื่อย ๆ ตามรอบปฏิทินฟีฟ่าเดย์ ครั้งละ 2 นัด เพื่อเตะแบบพบเหย้า-เยือน 18 นัด อันดับที่ 1-4 ไปฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ทันที ส่วนอันดับที่ 5 ต้องไปเพลย์ออฟกับโซนอื่น ซึ่งต้องรอประกาศจาก FIFA ต่อไป

ภาพรวมทีมชาติอาร์เจนตินา[แก้]

ทีมชาติอาร์เจนตินา นับเป็นทีมในดวงใจของแฟนบอลชาวไทยหลายคน เพราะอุดมไปด้วยนักเตะชื่อก้องโลกพร้อมกับผลงานอันยอดเยี่ยม ขณะที่ปัจจุบัน ทีมชุดนี้ก็ยังคงอุดมไปด้วยนักเตะระดับเกรดเอและค้าแข้งอยู่ในลีกชั้นนำของยุโรป นำทีมมาโดยราชาลูกหนัง ลีโอเนล เมสซี่ แต่ถึงกระนั้นในช่วง 1-2 ทศวรรษหลัง เจ้าของฉายาทัพฟ้าขาวเหมือนเป็นทีมดวงอาภัพ ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดได้เลย อย่างดีที่สุดคือพระรองในทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 2014 กับโคปาอเมริกา 2015 และ 2016 ส่วนครั้งล่าสุดคว้าอันดับที่ 3 สำหรับปัญหาที่ทีมชาติอาร์เจนตินา เผชิญในช่วงหลังจนส่งผลกระทบต่อผลงานของทีมชาติในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ คือ การที่ตำแหน่งนักเตะในทีมไม่สมดุล กล่าวคือกองหน้าเกรดเอมีให้เลือกใช้เกินโควต้า ขณะที่แผงเกมรับศักยภาพด้อยกว่า แถมยังมีจำนวนจำกัด ทำให้เฮดโค้ชที่เข้ามาทำงานลำบาก ดังจะเห็นได้จากการคัดบอลโลกในรอบที่แล้ว ซึ่งเกือบไม่ได้ไปบอลโลกรอบสุดท้าย จนต้องไปดึงฮอร์เก ซามเปาลี ที่เคยทำชิลี คว้าแชมป์โคปามาแล้ว เพื่อหวังปูทางสู่การเตรียมพร้อมศึกฟุตบอลโลก 2018 ไปในตัว แต่สุดท้ายทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว การเล่นเพรสซิ่งสูง แต่บอลเคลื่อนที่ช้าจนโดนโต้กลับและเสียประตูง่ายๆ แถมยังจูนนักเตะไม่ลงตัวกับตำแหน่ง ทำให้อาร์เจนตินาตกรอบไปตั้งแต่ไก่โห่ ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย กระทั่งต้องเปลี่ยนถ่ายยุคมาสู่ ลีโอเนล สกาโลนี่ ซึ่งจนถึงขณะนี้สภาพทีมยังดูทรงตัว ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะเป็นกุนซือผู้พาทีมชาติอาร์เจนตินาหวนคืนสู่ความสำเร็จในเร็ววันนี้[1]

ภาพรวมทีมชาติปารากวัย[แก้]

ทีมชาติปารากวัย อาจเป็นที่รู้จักของแฟนบอลชาวไทยอยู่บ้างจากการติดตามศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งจัดเป็นทัวร์นาเมนต์ขาจรสำหรับทัพดาวเหลืองกากบาท ที่สามารถเข้ารอบสุดท้ายได้ 7 สมัย จากการจัดแข่งขัน 20 ครั้ง ส่วนในช่วง 2 ทศวรรษหลัง พวกเขาผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ 3 สมัย ในปี 2002, 2006 และล่าสุดเมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นฟุตบอลโลกอันน่าจดจำของพวกเขา ที่เข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนตกรอบด้วยน้ำมือของสเปน แชมป์ฟุตบอลโลกในครั้งนั้น ด้วยสกอร์ 1-0 ขณะที่หลังจากนั้นพวกเขาไม่ได้ไปเล่นฟุตโลกรอบสุดท้ายอีกเลยใน 2 ครั้งหลังสุด ส่วนในระดับทวีป ทีมชาติปารากวัยจัดเป็นทีมชาติที่มีศักยภาพกลางๆของทวีป โดยปัจจัยหลักคือทรัพยากรนักเตะระดับทีมชาติ ที่ก้าวข้ามไปเล่นในลีกยุโรปไม่กี่ราย เช่น ฟาเบียน บัลบูเอนา อยู่เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, อัลมิร่อน มิเกล อยู่นิวคาสเซิ่ล, รีเวอรอส บลาส อยู่เอฟซี บาเซิ่ล และอันโตนิโอ ซานาบิร่า อยู่เรอัล เบติช ส่วนนักเตะรายอื่นจะเล่นในลีกแม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา และในปารากวัย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผลงานของทีมชาติปารากวัย ไม่เปรี้ยงเหมือนยุคก่อนหน้านี้ แต่ถึงกระนั้นนี่อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะผลงานที่ผ่านมาพวกเขาก็มีช่วงเวลาแบบเดียวกันนี้ กล่าวคือ ถ้าเป็นยุครุ่งเรืองที่เพียบพร้อมด้วยนักเตะคุณภาพล้นทีม พวกเขาก็คว้าสิทธิ์ไปฟุตบอลโลกแบบติดต่อกันหลายสมัย แต่เมื่อวนเวียนมาถึงยุคที่นักเตะคุณภาพโดยรวมด้อยลง พวกเขาก็จะหายหน้าไปจากทัวร์นาเมนต์สำคัญนี้หลายสมัยเช่นกัน [2]

วิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของทีมชาติอาร์เจนตินา 2 นัดที่ผ่านมา[แก้]

ทีมชาติอาร์เจนตินา ออกสตาร์ท 2 นัดแรก ด้วยการเก็บ 6 แต้มเต็ม เริ่มจากเกมในบ้านกับ เอกวาดอร์ ซึ่งในเกมนัดนี้มาในระบบ 4-4-2 แบบไดม่อน สำหรับภาพรวมเกมนี้ต้องยอมรับก่อนว่าด้วยปัจจัยที่เกมทีมชาติห่างหายไปนาน รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีเกมอุ่นเครื่อง เกมนี้จึงเป็นเกมแรกในรอบปี โดยฟอร์มการเล่นโดยรวมถึงว่าใช้ได้ในระบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหายังมีกองไว้ให้ปรับจูนอีกเพียบ เริ่มตั้งแต่การออกบอล การจ่ายบอลและการขึ้นบอล ที่ผู้เล่นยังยืนผิดตำแหน่ง ทำให้หลายครั้งต้องเลี้ยงวน มิติเกมรุกของอาร์เจนตินา ไม่หลากหลายและไม่น่ากลัว การต่อบอล หรือการทำชิ่งกลางสนามไม่ปรากฏให้เห็น ทำให้เมสซี่ที่รับบทบาทหน้าต่ำหายไปเกม จนกระทั่งเมสซี่ต้องฉีกตัวไปรับบอลริมเส้น เพื่อป้อนบอลให้กับกองหน้า 2 ตัว ซึ่งมีจังหวะแบบนี้ไม่กี่ครั้งแต่สร้างความอันตรายได้ ส่วนสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตลอดเกมคือการต่อบอลด้านข้างจนกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการเล่นที่เสียเวลาและโอกาสไปแบบไร้ค่า เพราะรูปแบบการเล่นมีเพียงการพาบอลไปริมเส้นหลังประตูและตักกลับมา เพื่อหวังป้อนบอลให้กับแนวรุกที่เติมเข้าเขตโทษ หรือหวังให้ทีมคู่แข่งสกัดออกเป็นเตะมุม ซึ่งก็ได้เตะมุมเยอะจริง ๆ แต่กลับไม่มีจุดเด่นจากลูกตั้งเตะ แต่ถึงกระนั้นยังโชคดีที่เกมนี้ได้ประตูชัยจากจุดโทษของลีโอเนล เมสซี่ ตั้งแต่ครึ่งแรก มิเช่นนั้นจะเสียหายหนักกว่านี้หากพลาดคว้า 3 แต้มในบ้าน ส่วนเกมรับยังประกบตัวไม่แน่นพอ มีเข้าพรวดบ่อยครั้ง แต่ศักยภาพที่เหนือกว่ายังนำพาให้แนวรับที่ยืนอยู่ใกล้เคียงเข้ามาซ้อนทันได้เวลาตลอด ส่วนเกมกับ โบลิเวีย ต้องทำใจก่อนว่าที่ตั้งสนามของเจ้าบ้านอยู่บนเทืกอเขาสูงและอากาศน้อย คู่แข่งที่มาเยือนเกือบทุกรายจึงได้รับผลกระทบจากสภาวะเหนื่อยง่าย อาทิ ทีมชาติบราซิล ที่ต้องพกถังออกซิเจนมาตั้งไว้ข้างสนามเพื่อให้นักเตะได้ใช้เมื่อเกิดอาการเหนื่อยหอบ หรือหายใจไม่ทัน ซึ่งเกมนี้ก็เป็นเช่นนั้น นักเตะทีมชาติอาร์เจนตินา ออกอาการด้วยสเต็ปการวิ่งและการจ่ายบอลที่ช้าลงไป 1 จังหวะ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นยังคงมีไม่ต่างจากเกมแรกที่กล่าวไปข้างต้น แถมโดยยิงนำไปก่อน แต่สุดท้ายด้วยศักยภาพของผู้เล่นที่เหนือว่ามากผสมกับจังหวะฟุตบอล ทำให้ทีมเยือนเฉือนชนะได้ที่บ้านของโบลิเวียเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี[3]

วิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของทีมชาติปารากวัย 2 นัดที่ผ่านมา[แก้]

ทีมชาติปารากวัย ออกสตาร์ทด้วยการเสมอกับเปรู 2-2 แบบหืดจับ ส่วนรูปแบบการเล่นมีแผลเยอะให้ได้กล่าวถึงทั้งเกมรับและรุก ซึ่งเริ่มจากเกมรุกไม่มีการประสานงาน มีสถิติการจ่ายบอลน้อยเพราะไม่ค่อยขยับหาพื้นที่ จึงต้องเน้นการเลี้ยงกินตัว หากมั่นใจแล้วถึงจะออกบอล อาวุธเด็ดที่มีคือการเปิดบอลจากริมเส้นไปยังหน้าประตู ซึ่งไม่มีความอันตรายเพราะเปิดบอลไม่เข้าเป้า สองประตูที่ยิงได้ส่วนหนึ่งมาจากแผลในเกมรับของเปรูที่เปิดโอกาสให้ปารากวัยยิงและสามารถทำได้ ส่วนเกมรับการยืนตำแหน่งผิดพลาดเยอะมาก ไล่ตั้งแต่การสื่อสารระหว่างกัน ไปจนถึงการแบ่งหน้าที่ตามประกบตัวคู่แข่งที่ยังมีช่องโห่ว นำมาซึ่งการเสียประตูแบบง่ายๆทั้ง 2 ลูก แก่ทีมชาติเปรู ส่วนเกมที่ 2 ทีมชาติปารากวัย ออกไปเยือน เวเนซุเอลา รูปเกมออกมาไม่ต่างกับนัดแรก แต่สิ่งที่ดูจะต่างออกไปเล็กน้อยคือมิติในเกมรุก ที่ไม่ได้นิยมโยนไปหน้าประตูอย่างเดียวแล้ว ดังจะเห็นได้ในจังหวะการเลี้ยงบอลจากริมเส้นแล้วจ่ายตัดมาให้กับแถวสองที่เติมขึ้นมา ซึ่งมีพื้นที่และเวลาที่จะเลือกมุมยิง ก่อนที่สุดท้ายจะกลายเป็นประตูขึ้นนำ แต่ถึงกระนั้นในส่วนของเกมรับยังคงมีจังหวะผิดพลาดแบบสม่ำเสมอ เช่น การประกบตัวที่ไม่ครบคู่ การที่แนวรับวิ่งไปรุมแนวรุกเวเนซุเอลาหน้ากรอบเขตโทษ ทั้งที่ในเขตโทษมีผู้เล่นเจ้าบ้านยืนว่างอยู่ นอกจากนี้ยังต้องลุ้นต่ออีกหลายจังหวะ เริ่มจาก VAR ริบประตูของเวเนซุเอลาคืน และจุดโทษท้ายเกมที่ยิงไม่เข้า 3 แต้มจากการออกไปเยือนในครั้งนี้จึงมีโชคเข้ามาหนุนอยู่มากโข ซึ่งหากเอาแบบยุติธรรมโดยวัดจากฟอร์มการเล่น ควรจบลงด้วยผลเสมอ หรือชัยชนะของเจ้าบ้าน

วิเคราะห์ก่อนเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ นัดที่ 3 ทีมชาติอาร์เจนตินา พบ ทีมชาติปารากวัย[แก้]

ก่อนอื่นสถิติที่ 2 ทีมนี้พบกันทุกถ้วยทุกรายการ 58 ครั้ง อาร์เจนตินาชนะ 33 ครั้ง เสมอกัน 9 ครั้ง และปารากวัยชนะ 16 ครั้ง ส่วนสถิติการพบกันก่อนหน้านี้ 5 ครั้งหลังสุด อาร์เจนตินาชนะ 1 เสมอกัน 3 ครั้ง และปารากวัยชนะ 1 ครั้ง จากสถิติดังกล่าวนี้อาร์เจนตินาดูเหนือกว่า ส่วน 5 นัดหลังฟอร์มสูสีกัน แต่จากปัจจัยที่ฟุตบอลทีมชาติห่างหายไปนาน หลายชาติต้องมีการปรับจูนทีมใหม่ สถิติที่มีมาก่อนหน้าจึงอาจใช้ชี้วัดอะไรไม่ได้มากนักกับเกมที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ สำหรับฟอร์การเล่นของทั้ง 2 ทีม เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักแล้ว คาดว่าเกมนี้เจ้าบ้านจะครองบอลมากกว่าแล้วค่อยๆ นวดใส่แนวรับทีมเยือนที่มีช่องโห่วมากมายที่พร้อมเสียประตูทุกเมื่อ ซึ่งหากเฮดโค้ชอย่าง ลีโอเนล สกาโลนี่ สามารถจูนแนวรุกให้เมสซี่มีบทบาทและได้บอลมากขึ้น เกมรุกของอาร์เจนตินาจะอันตรายขึ้นและพังประตูปารากวัยได้แน่นอน แต่ถ้ามิติเกมรุกยังทรงเดิมไม่ต่างจาก 2 นัดแรก ก็อาจะต้องลุ้นเหนื่อยหรืออาศัยการฉกฉวยความผิดพลาดจากแนวรับทีมเยือนเพื่อทำประตู ส่วนทีมชาติปารากวัยผู้มาเยือน เกมรุกที่ไม่หลากหลายและมีตัวทีเด็ดในแนวรุกไม่กี่ราย อีกทั้งยังเน้นความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นในการพาบอลไปข้างหน้า เชื่อว่าจะโดนแดนกลางของอาร์เจนตินารุมบีบ รุมแย่งบอลกระทั่งไม่มีโอกาสได้ทำเกมบุก จนสุดท้ายต้องพึ่งการสาดบอลยาวขึ้นหน้าไปยังบริเวณริมเส้นเพื่อลุ้นทำเกมบุก ส่วนแนวรับที่ยังมีความผิดพลาดมากมายกับทีมในระดับใกล้เคียงกัน เกมนี้ต้องเจอกับหัวแถวของทวีปอเมริกาใต้ จึงเป็นงานที่ยากเหลือเกินกับการจะหยุดยั้งความผิดพลาดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การวิเคราะห์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงคาดว่าจะผลการแข่งขันในเกมที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า จะจบลงด้วยอาร์เจนตินา ชนะ ปารากวัย ด้วยสกอร์ที่ไม่ขาดลอย เช่น 1-0, 2-1 ส่วนโอกาสเสมอกัน โอกาสอาร์เจนติน่าชนะขาดลอย และโอกาสที่ปารากวัยจะชนะ มีความน่าเป็นรองลงมาตามลำดับ สำหรับการแข่งขันในคู่นี้จะแข่งขันกันที่เอสตาดิโอ อัลแบร์โต้ อาร์แมนโด (ลา บอมโบเนอร่า) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2020 เวลา 7.00 น. ตามเวลาประเทศไทย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ฟุตบอลโลก : วิเคราะห์บอล อาร์เจนตินา vs ปารากวัย.สืบค้นเมื่อ 10 November 2020
  2. 11v11. (2020). Argentina national football team: record v Paraguay.สืบค้นเมื่อ 10 November 2020
  3. NATIONAL FOOTBLL.สืบค้นเมื่อ 10 November 2020
  4. Transfer Markt.สืบค้นเมื่อ 10 November 2020