ผู้ใช้:Ghotheepithak

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระหน่อนาถ


เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี (เจ้าจอมสุวัทนาในขณะนั้น) ใกล้จะมีพระประสูติการพระหน่อ พระบาทพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการอย่างอเนกปริยายด้วยความโสมนัสในพระราชหฤทัย กับทั้งทรงปรับปรุงบทละครรำเรื่อง พระเกียรติรถ ให้เป็นละครดึกดำบรรพ์ เพื่อทรงจัดแสดงในพระราชพิธีสมโภชเดือน โดยทรงพระราชนิพนธ์ “บทกล่อม” พระกุมารตามท้องเรื่อง และกำหนดทำนองเพลง "ปลาทอง" ไว้สำหรับขับลำนำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงควบคุมการแสดงละครสมโภชด้วยพระองค์เอง ณ จิตรลดาสภาคาร พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และมีการซ้อมวงมโหรี แต่กลับหาได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ไม่

         วันพุธที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ๑ วันหลังจากพระเจ้าลูกเธอประสูติ บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองยินดีกลับแทนที่ด้วยวาระอันโศกเศร้าของพระราชพิธีพระบรมศพ การสมโภชที่เคยเตรียมการมานับแรมเดือนก็พลันต้องระงับไปอย่างไม่มีใครคาดคิด “บทกล่อม” ที่ทรงพระราชนิพนธ์นี้จึงไม่ได้นำมาขับกล่อมอย่างทรงต้องพระราชประสงค์ไว้ กระทั่ง ๘๔ ปีผ่านไปจึงถูกนำมารังสรรค์ทำนองใหม่เพื่อใช้ขับกล่อม “พระหน่อแห่งพระมงกุฎเกล้า” อีกครั้งในวาระอันเป็นมงคล
         พุทธศักราช ๒๕๕๒ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุ ๗ รอบ นายทฤษฎี ณ พัทลุง วาทยกร และนักประพันธ์เพลง รู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย และพระจริยวัตรอันงดงาม จึงมีความคิดจะประพันธ์เพลงถวายเพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระขวัญ เนื่องในโอกาสอันเป็นน่ายินดีนี้ จึงได้เชิญ“บทกล่อม” จากเรื่องพระเกียรติรถ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปรียบดั่งสายใยความโสมนัสยินดีแห่งพระราชหฤทัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มาบรรจุทำนองที่ประพันธ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๗ รอบ ฉลูนักษัตร เพื่อนำไปออกอากาศในรายการเฉลิมพระเกียรติฯ    
         ดนตรีในเพลง"พระหน่อนาถ"นี้ นายทฤษฎี ณ พัทลุง ได้ประพันธ์ทำนองขึ้นใหม่ในรูปแบบสากล แต่ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างลักษณะของเพลงรับร้องและการว่าดอกอันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีไทยเดิม นอกจากนั้น ในช่วงที่เครื่องดนตรีทั้งไทยและสากลร่วมกันบรรเลงรับต่อจากการว่าดอก ยังได้นำทำนองไทยเดิมเพลง"ปลาทอง"มาบรรเลงโดยใช้เทคนิคการประสานเสียงในรูปแบบ Heterophony อันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีไทยแต่หาฟังได้ยากยิ่งในดนตรีสากล จึงทำให้ผู้ฟังได้รับอรรถรสของดนตรีที่มีความกลมกลืนเฉพาะตัว
         เมื่อการประพันธ์เพลงนี้เสร็จสมบูรณ์ ได้มีการหารือเรื่องของชื่อบทเพลง คณะทำงานจึงตัดสินใจเชิญวรรคแรกของบทพระราชนิพนธ์มาเป็นชื่อเพลงว่า “พระหน่อนาถ” เพื่อถวายพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงพระราชนิพนธ์คำร้องของเพลงดังกล่าว