ผู้ใช้:Chaiyannawa

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูภาวนาภิสณฑ์

(สุด ชุตินฺธโร)
ส่วนบุคคล
เกิด10 กันยายน พ.ศ. 2474
นิกายมหานิกาย
การศึกษาน.ธ.เอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดโชติรสธรรมากร บึงกาฬ
อุปสมบท14 มีนาคม พ.ศ. 2494
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร,อดีตรองเจ้าคณะอำเภอบึงกาฬ

พระครูภาวนาภิสณฑ์ (หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร)[แก้]

พระครูภาวนาภิสณฑ์ (หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร(วัดป่าบึงกาฬ) อดีตรองเจ้าคณะอำเภอบึงกาฬ อดีตพระวิปัสนาจารย์แห่งวัดป่าบึงกาฬ[1]

นามเดิม สุด นามสกุล สวัสดิ์นะที เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๔ สัญชาติ ไทย เชื้อชาติ ไทย เกิดที่บ้านยาง หมู่ที่ ๒ ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อนายชู นามสกุล สวัสดิ์นะที มารดาชื่อนางพร นามสกุล สวัสดิ์นะที มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คนดังนี้

๑.นางบุ (ไม่ทราบนามสกุล)

๒.นางพุทธ (ไม่ทราบนามสกุล)

๓.พระครูภาวนาภิสณฑ์ (สุด สวัสดิ์นที)

๔.นายบุญเลี้ยง สวัสดิ์นที

๕นายลุน สวัสดิ์นที

๖.นายไพร สวัสดิ์นที

๗.นายอุดม สวัสดิ์นที

บรรพชาอุปสมบท[แก้]

เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๔ ณ วัดจริยาสมโพธิ์ โดยมีพระครูวิเศษเสลคุณ วัดจริยสมโพธิ์ ตำบลนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูวิบูลเสลเขต( แผง วราโภ ) วัดราษฏร์สิษฐ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ มีพระครูเกษมเสลธรรม ( อ่อนจันทร์ เขมโก ) วัดบ้านนาดี เป็นพระอนุสาวนาจาจารย์

การเดินธุดงค์ /ปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน[แก้]

หลังอุปสมบทได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านยาง จังหวัดร้อยเอ็ด อยู่ ๒ พรรษา และได้ย้ายมาอยู่วัดบ้านมะค่า อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้ ๕ พรรษา จากนั้นได้เดินธุดงค์ไปยังเวียงจันทร์ ประเทศลาวและจำพรรษาที่เวียงจันทร์ ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงพระบาทโพนสัน และได้พักปฏิบัติธรรมที่พระบาทโพนสันระยะหนึ่ง แล้วจึงได้เดินทางข้ามกลับมายังประเทศไทยที่ ตำบลโพนแพง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และได้ทราบข่าวว่ามีพระอาจารย์ชื่อดังฝ่ายวิปัสนาธุระ อยู่ที่วัดโพธิ์ศรีสร้อย(ถ้ำเจีย) ท่านจึงเดินทางไปนมัสการและฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อด่อน อินฺทสาโร(พ่อแม่ด่อน) ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อด่อนอยู่ ๑ พรรษา หลังจากนั้นท่านได้นั่งเรือร่อนไปทางใต้ไปขึ้นฝั่งที่ อำเภอบึงกาฬ เมื่อท่านได้ทราบข่าวว่าว่ามีนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ วัดโชติรสธรรมากร (วัดป่าบึงกาฬ) ซึ่งมีพระครูภาวนานุศิษย์(ญาท่านสิงห์) เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์และอยู่จำพรรษาที่วัดโชติรสธรรมากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒-พ.ศ.๒๕๐๘ รวมเวลา ๖ พรรษา เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๘ จึงได้กราบลาพระอาจารย์และได้ออกเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงพ่อเลิศ ชินวํโส(พระครูบวรธรรมรักขิต) ซึ่งหลวงพ่อเลิศ ได้นับถือหลวงปู่สุดเหมือนพี่ชายแท้ๆของท่าน

การปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อพุทธทาส[แก้]

เมื่อหลวงปู่สุดและหลวงพ่อเลิศได้ออกเดินธุดงค์ก็ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะไปกราบนมัสการและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อพุทธทาส ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏ์ธานี ในระหว่างทางนั้น ช่วงหนึ่งได้แวะปฏิบัติศาสนกิจที่เขาสันติ ตำบลสะแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ร่วมกับพระอาจารย์บุญเอก จับจองที่ดินเพื่อทำการสร้างวัดประมาณ ๕๐ ไร่ จากนั้นได้เดินธุดงค์ไปอำเภอสะพานน้อย และได้รับนิมนต์จากโยมให้ปลักกลดอยู่ในไร่ ซึ่งในไร่นั้นมีการฆ่ากันตายระหว่างพี่น้องเพราะแย่งที่ดินกัน และศพทั้งสองนั้นได้ถูกฝังไว้คนละฝั่งเขตแดน ชั่วระยะห่างกันประมาณ ๒ ศอก หลวงพ่อสุดได้ปักกลดอยู่ระหว่างกลางหลุมศพพี่น้องทั้งสองนั้น ส่วนหลวงพ่อเลิศปักกลดอยู่ห่างหลวงปู่สุดประมาณ ๔๐ เมตร คืนนั้นท่านทั้งสองได้ปฏิบัติธรรมโดยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ตามที่เคยปฏิบัติมา ในช่วงดึกของคืนนั้น ขณะที่หลวงพ่อเลิศนั่งสามธิอยู่ในกลดของท่าน ก็ได้ยินเสียงหลวงปู่สุดเทศน์อย่างชัดเจน ในช่วงหนึ่งของการเทศน์นั้นจับใจความได้ว่า กรรมของมนุษย์นั้น มีมากล้นฟ้า ล้นแผ่นดิน ล้นมหาสมุทร พอรุ่งเช้าหลวงพ่อเลิศจึงได้ถามหลวงปู่ว่า มื้อคืนนี้ อ้ายเทศน์ให้ไผฟัง คือเสียงดังแท้อ้าย..... หลวงปู่จึงเล่าให้หลวงพ่อเลิศฟังว่า เมื่อคืนนี้ ผีสองผีน้องนั้นได้มาปรากฏให้เห็นและเรียนถามถึงเรื่องกรรม เพราะทั้งสองนั้นมีความทุกข์ยากลำบากมาก ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากกรรมเหล่านี้ได้ ผมจึงเทศน์โปรดวิญญาณของสองพี่น้องให้ได้รับทราบ ตามที่ท่านได้ยินนั่นแหละ ต่อจากนั้นได้เดินธุดงค์จากไร่สองพี่น้องไปยังสวนโมกขพลาราม ใช้เวลาธุดงค์ไป ๑๕ วัน และได้ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อพุทธทาสอยู่นาน ๒ พรรษา

พ.ศ.๒๕๑๑ หลวงปู่สุดและหลวงพ่อเลิศจึงได้กราบลาหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ธุดงค์ขึ้นไปยังจังหวัดเชียงราย ไปพักอยู่ที่วัดเจ้าคณะอำเภอเชียงแสน โดยมีท่านพระครูอริยะคุณาธาร เป็นเจ้าคณะอำเภอ ต่อมา ท่านทั้งสองได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูต ประจำอำเภอ และได้ออกเผยแพร่ธรรมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยดีเสมอมา ช่วงหนึ่งท่านทั้งสองได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนดอยแม่น้ำลัด ซึ่งเป็นภูเขาที่มีความสูงรองจากดอยตุง สถานที่ที่ท่านทั้งสองได้พักปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเส้นทางผ่านกองคาราวานฝิ่นของขุนส่า ไม่มีหมู่บ้านหรือผู้คนอาศัยอยู่เลยในช่วงที่ปฏิบัติธรรมจึงไม่ได้ฉันภัตตาหารถึง ๓ วันเต็มๆ ฉันแต่น้ำพอประทังชีวิต ในวันที่ ๒ นั้น ขุนส่าผ่านไปพบเข้าจึงได้เข้าไปหา บริวารของขุนส่านั้นมีหลายเผ่า มีทั้งคนพื้นเมือง แม้ว พม่า กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ หลวงพ่อเลิศจึงนิมนต์หลวงปู่สุดเป็นคนแสดงพระธรรมเทศนา ในช่วงของการแสดงธรรมนั้นหลวงปู่ได้ยกเอาพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นมาว่า “พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรโดยทั่วหน้าทุกหมู่เหล่า พระองค์ได้ทรงห่วงใยความสุขความทุกข์ และได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศไหนในโลกกระทำกัน นอกจากพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเท่านั้น” คณะบริวารขุนส่านั่งฟังเทศอย่างสนใจ หลังจากเทศจบ บริวารของขุนส่าได้ถวายกัณฑ์เทศน์เป็นเงินสกุลต่างๆ ประมาณครึ่งบาตรพระ เพื่อให้นำไปซื้อภัตาหารฉัน จากนั้นขุนส่าพร้อมบริวารจึงได้กราบลาไป ท่านทั้งสองอยู่ปฏิบัติธรรมต่ออีกหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงได้ลงจากดอยมาถึงบ้านแม่คำน้ำลัด และได้มอบเงินทั้งหมดให้โรงเรียนบ้านแม่คำน้ำลัด จากนั้นได้พักอยู่วัดพระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสนประมาณครึ่งเดือน

เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๒ หลวงพ่อเลิศได้ลาหลวงปู่สุดกลับไปที่บ้านดอนหญ้านาง อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย( จังหวัดบึงกาฬในปัจจุบัน ) ส่วนหลวงปู่สุดได้อยู่ที่วัดพระธาตุจอมกิตติ จนถึงปีพ.ศ.๒๕๑๕ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมายังวัดโชติรสธรรมากร( วัดป่าบึงกาฬ ) ตามเดิม ในปีพ.ศ.๒๕๓๔ หลวงปู่สุดได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาพระปริยัติธรรม จึงได้ศึกษาดูงานพระพุทธศาสนาจากจังหวัดต่างๆ และได้มีความคิดริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นโดยมีอาจารย์อุดม นิลไสล เป็นผู้ประสานงานต่างๆ โดยเริ่มแรกทางวัดโชติรสธรรมากรนั้นยังไม่มีอาคารเรียน จึงได้ขอใช้อาคารเรียนที่วัดศรีโสภณธรรมทาน และใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนวัดศรีโสภณธรรมทาน ต่อมาอาคารเรียนที่วัดโชติรสธรรมากรได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นจึงได้ย้ายกลับมาสอนที่วัดป่าตามเดิม และได้ชื่อโรงเรียนวัดศรีโสภณธรรมทานมาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

อาการอาพาธและวาระสุดท้ายแห่งชีวิต[แก้]

ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๘ อาการอาพาธของหลวงปู่เกี่ยวกับโรคนิ่วในไต ซึ่งเป็นโรคประจำตัวเรื้อรังมานานหลายปี ได้มีอาการรุนแรงขึ้น ทางคณะศิษย์ทั้งหลายทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ได้นำท่านเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลบึงกาฬ โรงพยาบาลหนองคาย หลายครั้ง แต่อาการอาพาธของท่านก็ไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด ทางคณะศิษย์จึงได้นำตัวท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพมหานคร อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น จึงได้นำท่านกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลบึงกาฬตามเดิม อาการอาพาธของท่านก็ทรุดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ หลวงปู่ใคร่จะกลับมายังวัดเพื่อดูศาลาโชติรโสนุสรณ์(ศาลาหลวงปู่เมฆ) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทางศิษย์จึงได้นำท่านกลับมาที่วัดตามความประสงค์ โดยมิได้มีผู้ใดคาดคิดว่า การกลับมาวัดครั้งนี้จะเป็นการกลับมาดูศาลาครั้งสุดท้ายของท่าน หลังจากดูศาลาเสร็จแล้ว คณะศิษย์จึงนำตัวท่านกลับมายังโรงพยาบาลบึงกาฬ พอมาถึงโรงพยาบาลได้ประมาณ ๑๐ นาที อาการอาพาธของหลวงปู่ก็ทรุดหนักสุดที่ทางคณะแพทย์จะทำการเยียวยารักษาได้ และหลวงปู่สุดก็ได้จากพวกเราไปท่ามกลางคณะสงฆ์และญาติโยม ด้วยอาการสงบ

งานการปกครอง[แก้]

พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร

พ.ศ.๒๕๑๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร

พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบึงกาฬ เขต ๒

พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอบึงกาฬ รูปที่ ๑

สมณศักดิ์[แก้]

พ.ศ.๒๕๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูภาวนาภิสณฑ์ เจ้าคณะตำบลชั้นโท ฝ่ายวิปัสนาธุระ

พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตร ที่พระราชทินนามเดิมที่ พระครูภาวนาภิสณฑ์ เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็น รองเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

  1. https://pantip.com/topic/39788313